General

รำลึก 29 ปี ‘สืบ นาคะเสถียร’ ภาพรวมป่าไม้ไทยดีขึ้น

วันนี้ (1 ก.ย.) เป็นวันครบรอบ 29 ปี การจากไปของ “สืบ นาคะเสถียร” อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้ยอมใช้ชีวิตตัวเองเป็นเดิมพัน ปลุกกระแสตื่นตัวให้คนหันมาร่วมกันอนุรักษ์ และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า

69503448 2321451514836410 8123412864896598016 o
ภาพ : เฟซบุ๊ก เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เสียงกระสุนปืนเพียงนัดเดียวที่ดังก้องผืนป่าห้วยขาแข้งเมื่อวันที่  1 กันยายน 2533 ไม่เพียงแต่จะทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบเร่งมาประชุมที่ห้วยขาแข้ง เพื่อหารือถึงมาตรการในการดูแลรักษาป่า แต่ยังทำให้คนทั่วประเทศได้รับรู้ว่ากำลังกำลังเกิดอะไรขึ้นกับสัตว์ป่าและผืนป่าอนุรักษ์ และทำให้ห้วยขาแข้งกลายเป็นผืนป่าที่คนทั้งประเทศรักและหวงแหน และส่งผลให้การอนุรักษ์สัตว์ป่าและผืนป่าเป็นประเด็นที่สาธารณชนให้ค่าและความสำคัญ

นับแต่วันที่ “สืบ นาคะเสถียร” ลาโลกไปนั้น สนถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทยเรียกได้ว่า ค่อนข้างจะดีขึ้น ภาพรวมพื้นที่ป่าของประเทศไทยนับจากปี 2557 สถานการณ์การบุกรุกค่อนข้างนิ่ง พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น หรือลดลงไม่มากนัก

การแปรภาพทางอากาศ ซึ่งกรมป่าไม้มอบหมายให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการไปเมื่อปี 2561 พบว่ามีพื้นที่ป่า 102.488 ล้านไร่  โดยในภาพรวมนับจากปี 2560 นั้น พื้นที่ป่าของประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 300,000 ไร่  จากการใช้มาตรการบุกรุกหยุดยั้งการทำลายป่าอย่างชัดเจน และมีประสิทธิภาพ

69369967 10157796324510827 7629990052516331520 o
ภาพ : เฟซบุ๊ก เพจมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

สำหรับสถิติคดีป่าไม้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2562  นั้น ถือว่าลดลง โดยในส่วนของกรมป่าไม้ ปี 2557 มีคดีบุกรุกป่า 3,187 คดี ผู้ต้องหา 859 คน เนื้อที่ 81,937 ไร่ คดีไม้ 7,309 คดี ผู้ต้องหา 3,271 คน จำนวนไม้ 503,137 ท่อน/แผ่น/เหลี่ยม ปริมารตร 22,336 ลบ.ม.

ส่วนปี 2562 มีคดีบุกรุกป่า 1,372 คดี ผู้ต้องหา 277 คน เนื้อที่ 56,662 ไร่ คดีไม้ 1,420 คดี ผู้ต้องหา 565 คน จำนวนไม้ 94,882 ท่อน/แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 3,519 ลบ.ม.  และในส่วนของกรมอุทยานฯ ปี 2557 มีการดำเนินคดีการบุกรุกป่า จำนวน 2,684 คดี จำนวนผู้ต้องหา 625 คน เนื้อที่ 24,049 ไร่ คดีไม้ 4,210 คดี จำนวนผู้ต้องหา 2,611 คน จำนวนไม้ 88,064 ท่อน/แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตรา 6,640 ไร่ ปี ปี 2562 มีคดีบุกรุกป่า 834 คดี ผู้ต้องหา 146 คน เนื้อที่ 12,968 ไร่ คดีไม้ 387 คดี จำนวนไม้ 10,139 ท่อน/แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 807 ลบ.ม.

‘สืบ นาคะเสถียร’ ตำนานนักอนุรักษ์ไทย

สืบ นาคะเสถียร  เป็นนักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย มีชื่อเสียงจากการพยายามปกป้องแก่งเชี่ยวหลานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เขาตัดสินใจที่จะปลิดชีพตัวเองเพื่อเรียกร้องให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

66298024 10157657926275827 593090775479222272 o
ภาพ : เฟซบุ๊ก เพจมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สืบได้เข้าทำงานที่ส่วนสาธารณะของการเคหะแห่งชาติ ก่อนจะเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒน์วิทยา ที่คณะวนศาสตร์ มหาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษา และในปี 2518 ได้เริ่มชีวิตข้าราชการ โดยบรรจุเข้ารับราชการ ตำแหน่งพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ และเริ่มชีวิตข้าราชการกรมป่าไม้

จากนั้นปี 2522 ได้รับทุนจากบริติช เคาน์ซิล ไปเรียนระดับปริญญาโท สาขาอนุรักษ์วิทยาที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนจะกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขต ห้ามล่าสัตว์ป่า บางพระ มีส่วนร่วมในการจัดการและประสานงาน รวมทั้งเป็นวิทยากร ฝึกอบรมพนักงาน พิทักษ์ป่าอีกหลายรุ่น จนกระทั่งปี 2526 ได้ขอย้ายตัวเอง เข้ามาเป็นนักวิชาการ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว

“ผมหันมาสนใจงานวิจัยมากกว่าที่จะวิ่งไปจับคน เพราะรู้ว่าจับได้แต่คนตัวเล็ก ๆ ตัวใหญ่ ๆ จับไม่ได้ก็เลย อึดอัดว่ากฎหมายบ้านเมืองนั้นมันใช้ไม่ได้กับทุกคน มันเหมือนกับว่าเราไม่ยุติธรรมเรารังแกชาวบ้าน” 

ต่อมาในปี 2529  ได้รับมอบหมาย ปฏิบัติงานในหน้าที่ หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้าง ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา (เชี่ยวหลาน) จังหวัด สุราษฏร์ธานี ให้เข้าไปช่วยเหลืออพยพสัตว์ป่าที่ตกค้าง ในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเกิดจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน สืบได้ทุ่มเทเวลาให้กับการกู้ชีวิตสัตว์ป่าที่หนีภัยน้ำท่วม โดยไม่ได้นึกถึง ความปลอดภัยของตนเองเลย

การทำงานชิ้นดังกล่าวทำให้เขาเริ่มเข้าใจปัญหาทั้งหมดอย่างถ่องแท้ เขาตระหนักว่าลำพังงาน วิชาการเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่อาจหยุดยั้งกระแส การทำลาย ป่าและสัตว์ป่าอันเป็นปัญหาระดับชาติได้ ดังนั้น เมื่อมีกรณี รัฐบาลจะสร้างเขื่อนน้ำโจนในบริเวณทุ่งใหญ่ฯ สืบจึงโถมตัวเข้าคัดค้านเต็มที่

ปี 2531 สืบได้กลับเข้ามารับราชการที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ และในปีต่อมา ได้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

บทเรียนข้าราชการไทย 1 1
ภาพ : มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

สืบได้พยายามเสนอให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และห้วยขาแข้ง มีฐานะเป็นมรดกของโลก ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการจากสหประชาชาติ  เพราะเล็งเห็นว่า ฐานะดังกล่าวจะเป็นหลักประกันสำคัญที่คอยคุ้มครองป่าผืนนี้เอาไว้อย่างถาวร และปลายปี 2532 เขาเลือกที่จะเดินทางเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แทนการไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกตามที่ได้รับทุนมา

ในวันที่ 31 สิงหาคม 2533  เขาตัดสินใจผ่าทางตันด้วยการสั่งเสียลูกน้อง คนสนิท และเขียนจดหมายสั่งลา 6 ฉบับ ชำระสะสางภาระ รับผิดชอบและทรัพย์สินส่วนตัวที่คั่งค้าง มอบหมาย เครื่องใช้ และอุปกรณ์ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่า ให้สถานีวิจัย สัตว์ป่าเขานางรำ เพื่อนำไปใช้ตาม วัตถุประสงค์ดังกล่าว ตั้งศาลเพื่อแสดงความคารวะต่อ ดวงวิญญาณของเจ้าหน้าที่ ซึ่งพลีชีพรักษาป่าห้วยขาแข้ง แล้วสวดมนต์ไหว้พระ จนจิตใจสงบ

เช้ามืดวันที่ 1 กันยายน 2533  เสียงปีนที่ดังขึ้นนัดหนึ่งในราวป่าลึกที่ห้วยขาแข้ง ได้จบชีวิตสืบ นาคะเสถียร ลง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการเริ่มต้นตำนานนักอนุรักษ์ไทย ผู้ที่ทุ่มเทตัวเองให้กับผืนป่า สัตว์ป่า และธรรมชาติ

Avatar photo