Telecommunications

ทางออกบีทีเอส ทีโอทียอมปิดสัญญาณ 2300MHz ตามแนวรถไฟ ไร้แผนเยียวยาผู้บริโภค

Image 415d85f
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา

บทสรุปมหากาพย์บีทีเอสอาณัติสัญญาณขัดข้อง ผู้บริหารทีโอทีรับบทพระเอกยอมปิดสัญญาณในช่วงสถานีที่มีปัญหา ด้านบีทีเอสเองก็จะเลื่อนไปอยู่ในคลื่นความถี่ตอนปลายของคลื่น 2400MHz เพื่อลดการรบกวนกัน พร้อมขอเวลาเปลี่ยนอุปกรณ์รีซีฟเวอร์จากโมโตโรล่า เป็นม็อกซ่า (Moxa) คาดแล้วเสร็จภายในเที่ยงคืนของวันศุกร์และระบบคาดว่าจะกลับมาให้บริการได้ตามปกติวันเสาร์ ส่วนแผนเยียวยาผู้บริโภคยังไร้การพูดคุย 

ทางออกระบบอาณัติสัญญาณบีทีเอสขัดข้องมาถึงบทสรุป เมื่อทีโอทีประกาศปิดสัญญาณคลื่น 2300MHz ตามแนวรถไฟฟ้าให้ทางบีทีเอสเป็นเวลา 2 วันเพื่อลดผลกระทบ ส่วนบีทีเอส ทางผู้บริหารอย่างนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญาได้ออกมาชี้แจงว่า จะปฏิบัติตามแนวทางของกสทช. ที่แนะนำให้ย้ายคลื่นไปอยู่ใกล้กับ 2500MHz มากที่สุด เช่น หันไปใช้ช่วงคลื่น 2480MHz – 2495MHz เพื่อให้มีระยะห่างจากคลื่นของทีโอทีมากขึ้น และทำระบบกรองสัญญาณ (ฟิลเตอร์) เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนคลื่นของทีโอทีที่ให้บริการอยู่ในนามดีแทคขณะนี้ เป็นช่วงคลื่น 2310MHz – 2370MHz ซึ่งตามทฤษฎีไม่ควรกวนสัญญาณกัน  โดยทางบีทีเอสรับปากว่าภายในเที่ยงคืนของวันศุกร์นี้ จะติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ได้แล้วเสร็จและควรจะให้บริการได้ตามปกติในวันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน

ส่วนวันพฤหัสบดี – วันศุกร์ซึ่งเป็นวันทำงานและวันสิ้นเดือนได้ขอความร่วมมือกับทางทีโอทีให้ปิดสัญญาณในช่วงสถานีที่มีปัญหาไปก่อน จนกว่าทางบีทีเอสจะมีการติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ได้เรียบร้อย ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ระบุด้วยว่า น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ดี เมื่อถามว่าทางบีทีเอสมีแผนเยียวยาผู้บริโภคผู้ใช้รถไฟฟ้าอย่างไร รวมถึงแผนในการชดเชยให้กับทีโอทีอย่างไรนั้น นายสุรพงษ์ตอบว่าอยากให้โฟกัสที่การแก้ไขปัญหาระบบอาณัติสัญญาณก่อน และคาดว่าจะมีการประชุมกันเพื่อหาทางเยียวยาผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บริโภคต่อไป

Image aebbe75

ทั้งนี้จากภาพด้านบน คือสิ่งที่ กสทช. ระบุว่าเป็นการใช้งานคลื่นที่มีปัญหากวนสัญญาณกัน ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วเป็นไปไม่ได้ โดยเส้นสีแดงคือช่วงคลื่นอันไลเซนต์ที่บีทีเอสสามารถใช้งานได้ ส่วนสีฟ้าคือคลื่นของดีแทค

ไทม์ไลน์การแก้ปัญหาของภาครัฐ – เอกชน

ทั้งนี้ ปัญหามหากาพย์ปัญหาบีทีเอสขัดข้อง ทางผู้บริหารบีทีเอสยอมรับว่าพบสัญญาณไม่ดีมาตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ขณะที่ทางสำนักงาน กสทช. ได้มีการส่งรถตรวจสอบการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุและการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกวิ่งตรวจสอบสัญญาณตั้งแต่เวลา 7.00 น. ของเมื่อวาน เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงของระบบอาณัติสัญญาณ รวมถึงดีแทคที่มีการทดลองปิดการปล่อยสัญญาณบนคลื่น 2300 MHz จำนวนกว่า 20 สถานีฐานตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส ตั้งแต่ช่วงเวลา 06.00 น. เพื่อร่วมทดสอบกับทางบีทีเอสเช่นกัน

ขณะที่โลกโซเชียลอาจกล่าวได้ว่าแทบลุกเป็นไฟอีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์ของรถไฟฟ้าบีทีเอสในช่วงเช้าของวันนี้ยังคงมีปัญหาอยู่เช่นเดิม บางขบวนรถต้องปล่อยให้ผู้โดยสารลงโดยไม่คิดค่าบริการ ซึ่งแน่นอนว่าโลกโซเชียลคือพื้นที่แสดงความไม่พอใจของผู้บริโภค หลายเพจมีผู้บริโภคการเข้าไปแสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือด รวมถึงแอคเคาน์โซเชียลมีเดียของทางบีทีเอสเองด้วย

1530072339007

ทั้งนี้ การออกมาชี้แจงของนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสในช่วงบ่ายของเมื่อวาน คือเชื้อเพลิงชั้นดีที่ทำให้ความไม่พอใจโหมแรงขึ้น โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เห็นว่า บริษัทไม่ใส่ใจต่อความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้บริการ เห็นได้จากการเปิดให้ผู้โดยสารเข้าไปในสถานีอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ระบบมีปัญหา ส่งผลให้ผู้โดยสารที่อดทนไม่ไหว เนื่องจากรถไฟฟ้าเดินทางไม่ได้จริง ๆ ต้องเสียเวลากับขั้นตอนการขอคืนเงินที่ยุ่งยากอีกคำรบ

Screenshot 20180627 105816

นอกจากนี้ การโพสต์ข้อมูลของนายสุรพงษ์โดยระบุว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีสัญญาณคลื่นวิทยุสื่อสารจากภายนอก ที่มีความเข้มสัญญาณสูงเข้ามารบกวนสัญญาณการเดินรถ โดยเฉพาะบริเวณสถานีพร้อมพงษ์ สถานีอโศก และสถานีสยาม ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อระหว่างสายสีลมและสายสุขุมวิท ทำให้บริเวณดังกล่าวไม่สามารถเดินรถได้ด้วยความเร็วตามปกติ ก็ถูกผู้ใช้บริการตำหนิว่าเป็นคำตอบที่ไม่สมเหตุสมผลสำหรับผู้ให้บริการระดับบีทีเอสด้วย

อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีนี้ ผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแลการใช้งานคลื่นความถี่อย่าง กสทช. ก็หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่พ้นเช่นกัน โดยเมื่อถามถึงบทเรียนที่ได้รับจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ นายฐากร เผยว่า  กสทช. เองเมื่อได้รับทราบปัญหา เราก็รีบเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว แต่ว่าที่เราไม่ได้แจ้งให้ประชาชนทราบตั้งแต่วันนั้น เพราะเราต้องการเข้าไปตรวจสอบให้เห็นข้อเท็จจริงก่อน วันนี้เอกสารออกมาแล้วก็มาคุยกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา

“บทเรียนที่ได้จากครั้งนี้ก็คือการจัดสรรคลื่นความถี่ต้องเดินหน้าต่อ และต้องทำระบบ filter เพื่อป้องกันการกวนสัญญาณ และในการประมูลคลื่นความถี่สำหรับรถไฟความเร็วสูงก็ได้มีการเตรียมการเอาไว้แล้วเรียบร้อยแล้ว” นายฐากรกล่าวปิดท้าย

 

Avatar photo