Marketing Trends

ถอดบทเรียนบริษัทชั้นเลิศในญี่ปุ่นสร้างกำไรยั่งยืน

ปัจจุบันการบริหารจัดการองค์กรส่วนใหญ่ ยังคงมีหลักคิดตั้งเป้าความสำเร็จบนผลกำไร ที่ต้องพึ่งพาสภาวะเศรษฐกิจ

แต่ในช่วง 10 ปีหลัง มีกรณีศึกษาถึงบริษัทที่ใช้หลักคิดสร้างความสุขให้กับผู้เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตยั่งยืน โดยหลักคิดนี้กำลังเป็นที่สนใจและขยายไปในวงกว้าง

หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดงานสัมมนา เติมหัวใจให้ธุรกิจ Heartful Business”

จุฬา
ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ

ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ รองประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าในยุคก่อนการแข่งขันทางธุรกิจ บริษัทจะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่ในที่สุดธุรกิจก็ตามกันทัน

ต่อมาแข่งขันในด้านการให้บริการที่ดีแก่ลูกค้า เพื่อดึงใจลูกค้าให้ภักดีต่อแบรนด์ และในช่วงระยะหลังนี้ เป็นการแข่งขันด้วยบุคลากรเพื่อสร้างความแตกต่าง ซึ่งวันนี้ทวีความเข้มข้นขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารองค์กรจะต้องเติมพลังให้ธุรกิจ ใส่ใจลงในรายละเอียด เป็นการให้ใจสร้างความสุขให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พนักงาน เป็นการพลิกแนวคิดจากเป้าหมายที่เน้นผลกำไร แต่เน้นการให้ความสุข

จุฬา

ถอดหลักคิดบริษัทชั้นเลิศในญี่ปุ่น

ศาสตราจารย์ โคจิ  ซากาโมโต้ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยโฮเซ โตเกียว ผู้แต่งหนังสือ “บริษัทนี้ที่ควรรัก” ที่มียอดขายกว่า 7 แสนเล่มในญี่ปุ่น ผู้สนับสนุนแนวคิด “ธุรกิจสร้างความสุข”  กล่าวถึงกรณีศึกษาของบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งที่นำแนวคิดนี้มาบริหารองค์กร หลายแห่งเป็นบริษัทที่มีประวัติยาวนาน และบางบริษัทเป็นธุรกิจ SME ซึ่งแนวคิดนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จ และทำได้จริงในหลากหลายแวดวงธุรกิจ สร้างบริษัทชั้นเลิศในญี่ปุ่น ที่มีผลประกอบการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 20 ปีติดต่อกันท่ามกลางเศรษฐกิจผันผวน

จุฬา
ศาสตราจารย์ โคจิ ซากาโมโต้

ด้วยแนวคิดหลักของผู้บริหารบริษัทชั้นเลิศในญี่ปุ่นที่คิดต่างจากนักธุรกิจทั่วไปว่า นักธุรกิจคือการรับใช้สังคมจึงมีหน้าที่และเป้าหมายที่สำคัญ คือการแสวงหาความสุขให้แก่ผู้คนที่เกี่ยวข้อง และมุ่งมั่นทำให้คนเหล่านั้นมีความสุข

ซากาโมโต้ บอกว่าแนวคิดของบริษัทชั้นเลิศในญี่ปุ่น “ไม่ได้”มองว่า “บริษัท” เป็นของผู้ถือหุ้น,พนักงาน,ลูกค้า หรือสถาบันการเงิน แต่ “บริษัท” เป็นของคนในสังคมทุกคน เป็นองค์กรเพื่อสังคม

หลักการดำเนินธุรกิจจึงต้องปรับตัวตามสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลง มุ่งสร้างตลาดที่ตอบโจทย์ลูกค้า เลี้ยงดูและปกป้องบุคลากรของบริษัท เพราะในชีวิตการทำงานของพนักงาน “บริษัท”ถือเป็นโรงเรียนแห่งสุดท้ายที่พวกเขาต้องใช้ขีวิตอยู่ยาวนานที่สุด หลังจากจบการศึกษา ดังนั้นบริษัทจึงต้องเป็นสถาบันการศึกษาที่พัฒนาทักษะการทำงานให้เกิดการเรียนรู้ใหม่

จุฬา
ศาสตราจารย์ โคจิ ซากาโมโต้

บริหารความสุข 5 กลุ่ม

บริษัทเหล่านี้จะให้ความสำคัญผู้ที่เกี่ยวข้อง 5 ฝ่าย ได้แก่ 1.พนักงาน  2.คู่ค้า 3.ลูกค้า 4.สังคม 5.ผู้ถือหุ้น ด้วยเคล็ดลับการบริหารจัดการที่เน้นความสุข และการบริหารที่ดีกับคน 5 กลุ่มนี้ โดยเฉพาะพนักงานที่ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะหากบริษัทสร้างความสุขให้แก่พนักงาน ความสุขนี้จะนำพาไปสู่การสร้างความสุข ความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า

ในขณะที่การดูแลคู่ค้า จะไม่บังคับซื้อขายในราคาที่ไม่สมเหตุสมผล ส่วนลูกค้า จะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ให้บริการที่สร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า สำหรับการดูแลสังคม จะไม่เอารัดเอาเปรียบ และให้ความช่วยเหลือคนในชุมชน

จุฬา

ตัวอย่าง บริษัท Ina Food Industry บริษัททำผงวุ้นที่ทำกำไรเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 48 ปี ใส่ใจดูแลพนักงานให้มีความสุขเหมือนทำงานอยู่ที่บ้าน และจะอบรมพนักงานไม่เอาเปรียบคู่ค้า ลูกค้า และคนในชุมชน

ส่วนบริษัทผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถแทรกเตอร์ Koken Kogyo ที่รับพนักงานผู้สูงอายุ โดยพนักงานที่มีอายุมากที่สุดในบริษัท อายุ  83 ปี หรือธนาคาร Tanyo Shinkin Bank ที่จะมีรถบริการรับส่งลูกค้าผู้สูงอายุให้มาใช้บริการที่ธนาคาร เป็นต้น

นอกจากนี้ภาครัฐของประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญและสนับสนุนให้บริษัทธุรกิจพัฒนาองค์กรของตัวเองให้เป็นบริษัทชั้นเลิศที่ควรรัก เช่นปีที่ผ่านมากับแบรนด์สุขภัณฑ์อันดับ 1 ของญี่ปุ่น โตโต้ (Toto) ได้รับรางวัล บริษัทนี้ที่ควรรัก จากกระทรวงเศรษฐกิจและสังคม ที่สร้างโรงงานเพิ่มสำหรับรองรับพนักงานที่เป็นผู้ทุพพลภาพ และจ่ายเงินเดือนเท่ากับพนักงานคนปกติ เพื่อให้พวกเขามีอาชีพและมีรายได้ให้แก่ครอบครัว

จะเห็นว่าบริษัทไม่ว่าจะอยู่ในวงการใด ก็สามารถนำแนวคิดนี้มาพัฒนาองค์กรให้เป็นบริษัทที่ควรรัก และเติบโตอย่างยั่งยืน

 เคล็ดลับ 20 ประการ ของบริษัทชั้นเลิศในญี่ปุ่นเพื่อสร้างธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

1.การบริหารจัดการที่เน้นความสุข

2.การบริหารที่ดีกับทั้ง 5 ฝ่าย คือ 1. พนักงาน 2. คู่ค้า 3. ลูกค้า 4. สังคม/ชุมชน 5.ผู้ถือหุ้น

3.การบริหารจัดการที่คิดถึงผลประโยชน์ของผู้อื่น

4.การบริหารแบบวงปีต้นไม้แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เน้นการเติบโตและขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว

5.การบริหารที่ช่วยให้เศรษฐกิจดี มิใช่พึ่งสภาวะเศรษฐกิจ

6.การบริหารที่สมดุล

7.การไม่ใช้ราคาเป็นตัวแข่งขัน

8.การบริหารจัดการร่วมกัน ไม่ผูกขาดคนเดียว

9.การบริหารแบบ Bottom – Up

10.การบริหารจัดการแบบเปิดกว้าง

11.การทำงานเป็นทีม

12.การจ้างงานตลอดชีพ ไม่ใช่ตัดสินที่ผลงานเป็นหลัก

13.การบริหารที่แบ่งเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกัน

14.การบริหารแบบพีระมิดทรงคว่ำ

15.การบริหารที่เน้นความเป็นบริษัท

16.การบริหารที่มองระยะยาว

17.การบริหารที่ลดระยะเวลาทำงานของพนักงาน

18.การบริหารแบบครอบครัวใหญ่ และร่วมมือร่วมใจกัน

19.การบริหารที่เน้นคนและด้านนามธรรม

20.การบริหารจัดการที่พึ่งพิงตนเอง อยู่ได้ด้วยตนเอง

จุฬา

ธุรกิจไทยมุ่งแนวคิดสร้างความสุข

สำหรับบริษัทธุรกิจในไทย มีหลายบริษัทเริ่มให้ความสนใจการดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิดการบริหารจัดการธุรกิจยั่งยืน โดยเน้นความสุขของผู้ที่เกี่ยวข้อง

ชาตยา สุพรรณพงศ์ Chief Engagement Officer บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวว่าการที่ธุรกิจมีผลกำไรโต 128% ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มาจากแนวคิดการบริหารจัดการองค์กรที่มุ่งสร้างความสุข โดยใช้มื้ออาหารเป็นสื่อกลาง จึงต้องดูแลพนักงานให้มีความสุขก่อน และพนักงานจะช่วยดูแลลูกค้าได้อย่างเต็มที่

ดังนั้นองค์กรต้องใส่ใจในรายละเอียดการดูแลพนักงาน ผ่านธีม Happy4+4  คือ กินดี พักสบาย กายแข็งแรง แบ่งปันความรู้ เมื่อพนักงานมีความสุข มีพลัง มีความคิดสร้างสรรค์ จะมีจิตวิญญาณในการสร้างความสุขให้แก่ลูกค้ามากกว่าที่เราคิด

“การจะสร้างให้ธุรกิจยั่งยืน แข็งแรง ในช่วงต้นไม่ควรมุ่งเน้นผลกำไร เพราะธุรกิจจะยั่งยืนได้ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของพนักงาน เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา”

ทางด้าน วนัส แต้ไพสิฐพงษ์ Executive Chairman  เบทาโกร กรุ๊ป กล่าวว่าการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ คือ การใส่ใจลูกค้า โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย บริษัทจะเข้าไปช่วยร้านอาหารดูแลเรื่องของการปรุง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และการเข้าช่วยเหลือชุมชน โดยเข้าไปทำความเข้าใจชุมชนเพื่อจะได้ช่วยเหลือได้อย่างถูกจุด และพยายามทำให้ชุมชนนั้นสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว

การช่วยเหลือชุมชนนี้เอง ทำให้เข้าใจถึงสิ่งแวดล้อมความเป็นอยู่ของพนักงาน ซึ่งเป็นคนในชุมชน เพื่อนำมาปรับปรุงแนวปฏิบัติในการดูแลพนักงาน การลงพื้นที่ไปช่วยเหลือลูกค้า หรือชุมชน ทำให้ได้เปิดพื้นที่ประสบการณ์ ได้เห็นมุมมองในการบริหารที่กว้างมากขึ้น เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า และช่วยให้ต่อยอดธุรกิจไปได้ระยะยาว

ดร.กฤตินี กล่าวเสริมว่า การเพิ่มบริษัทชั้นเลิศให้มีจำนวนมากขึ้น หลายหน่วยงานต้องช่วยกันสนับสนุน สำหรับมหาวิทยาลัย จะต้องเปลี่ยนการสอนจากการบริหารจัดการที่เน้นผลกำไร เป็นการบริหารจัดการที่เน้นความสุข โดยสร้างหลักสูตร หรือสาขาที่เกี่ยวกับวิธีการบริหารที่ให้ความสำคัญกับคน และเปิดหลักสูตรด้านการบริหารจัดการสำหรับเอสเอ็มอี

ขณะที่ภาครัฐ ควรใส่ใจและเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการบุคลากรให้มีความสุข พร้อมมอบสิทธิพิเศษสำหรับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับคน และสถาบันการเงิน ควรเปลี่ยนมาตรฐานการให้กู้ และเปลี่ยนมาตรฐานการลงทุน เพื่อร่วมสร้างสรรค์บริษัทที่ดี มั่นคง และยั่งยืน

Avatar photo