Startup

InsurTech ‘ซันเดย์’ เติบโตสูง 1 ปีมีลูกค้า 2 แสนราย ตั้งเป้าเจาะ SME

ซันเดย์ InsurTech

เปิดตัวเลขธุรกิจ “ซันเดย์” สตาร์ทอัพด้าน InsurTech น้องใหม่ พบใช้เวลา 1 ปีสร้างฐานลูกค้าสู่หลักสองแสนราย และมีการเติบโตต่อเนื่องเดือนละ 30% ล่าสุดจับมืออะเมซอนเว็บเซอร์วิส นำคลาวด์ และแมชชีนเลิร์นนิ่งรุกธุรกิจประกันภัยเต็มรูปแบบ

โดยการออกมาเปิดเผยครั้งนี้ นางสาวซินดี้ กัว ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันเดย์ อินส์ จำกัด ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตด้านผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงมาก และประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้นของโลกในการใช้งานอินเทอร์เน็ต สองปัจจัยนี้ทำให้ซันเดย์เลือกเปิดธุรกิจขึ้นในไทยเป็นประเทศแรก
สำหรับจุดเด่นของแพลตฟอร์ม InsurTech อย่างซันเดย์ก็คือ การลดความยุ่งยากต่าง ๆ ที่ลูกค้าของธุรกิจประกันภัยเดิมเคยประสบ เช่น ไม่สามารถเปลี่ยนข้อสัญญาในกรมธรรม์ได้ อีกทั้งเบี้ยประกันก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อลูกค้ารายนั้นจริง ๆ ด้วยเหตุนี้ ซันเดย์จึงนำเทคโนโลยี “แมชชีนเลิร์นนิ่ง” เข้ามาปรับใช้ เพื่อให้ระบบสามารถออกแบบเบี้ยประกันที่เหมาะสมตามความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย และมีการพัฒนาแอพพลิเคชันเพื่อรองรับการเคลมประกัน การแจ้งซ่อม และติดตามผลการซ่อมต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าอีกทางหนึ่ง
ส่วนในแง่การเปิดใจของลูกค้าต่อธุรกิจประกันภัยออนไลน์นั้น ซินดี้ กัว เผยว่า ธุรกิจต้องหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้เจอ โดยที่ผ่านมา ซันเดย์มีการจับมือเป็นพันธมิตรกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ เช่น แกร็บ ในการขายประกันภัยรถยนต์ และประกันสุขภาพให้กับพาร์ทเนอร์ร่วมขับของแกร็บที่มีประวัติดี นอกจากนั้นยังมีดีแทคเป็นอีกหนึ่งพาร์ทเนอร์สำหรับโปรดักซ์ด้านประกันภัยการเดินทางท่องเที่ยว แต่หลังจากนี้ ซินดี้ กัว เผยว่า แผนธุรกิจของซันเดย์จะมุ่งไปยังกลุ่มเอสเอ็มอีมากขึ้น เนื่องจากพบว่ากลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีประมาณ 2 ล้านรายนั้น เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ และมีส่วนผลักดันจีดีพีประเทศถึง 40% แต่ธุรกิจกลุ่มนี้ น้อยรายจะได้ทำประกันให้บุคลากรในบริษัท เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง ทว่า หากใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งเข้ามาทำการศึกษาพฤติกรรมได้ก่อน ระบบอาจสามารถเสนอเบี้ยประกันภัยที่ต่ำกว่าประกันภัยแบบเดิม และอาจทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพ ฯลฯ ได้ง่ายมากขึ้น
เมื่อถามว่าการใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งสามารถทำให้ธุรกิจมีโอกาสในการแข่งขันในตลาดประกันภัยมากเท่าไรนั้น ซินดี้ กัว ระบุว่า ซันเดย์สามารถให้ราคาดีกว่าประกันภัยแบบเดิมเฉลี่ยแล้ว 20%
ซันเดย์ InsurTech
(ซ้ายไปขวา) ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ และซินดี้ กัว

ส่วนการจับมือกับอะเมซอนเว็บเซอร์วิสนั้น ซินดี้ กัว เผยว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจสตาร์ทอัปอาจมีการสเกลได้อย่างรวดเร็ว พร้อมยกตัวอย่างการเติบโตด้านตัวเลขผู้ใช้งานจากศูนย์ถึง 2 แสนรายภายในหนึ่งปีของซันเดย์ ซึ่งความสามารถของ AWS Cloud ทำให้บริษัทสามารถรับมือกับลูกค้าที่เพิ่มขึ้นได้อย่างยืดหยุ่น และไม่ต้องลงทุนด้านการวางโครงสร้างทางเทคโนโลยีด้วยตัวเอง

ขณะที่ ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า เมื่อครั้งเปิดตัว AWS Cloud ในช่วงแรก ๆ นั้น กลุ่มสตาร์ทอัพคือกลุ่มที่ใช้งาน AWS Cloud มากที่สุด เนื่องจากระบบมีความยืดหยุ่นตามลักษณะการใช้งานของสตาร์ทอัพ

“ที่ผ่านมา อะเมซอนเริ่มใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งมาตั้งแต่ปี 2539 หากใครยังจำได้ เวลาเราซื้อหนังสือบนเว็บอะเมซอน ระบบจะเริ่มแนะนำหนังสือเล่มต่อไปที่คิดว่าเราน่าจะชอบมาให้ ซึ่งเมื่อย้อนไป 20 ปี เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากในยุคนั้น และธุรกิจของอะเมซอนเป็นการทำธุรกิจแนวนี้ตลอด ทั้งอะเมซอนโก, การใช้โดรนส่งของแบบทันใจ, การพัฒนาอะเล็กซ่า ผู้ช่วยรับคำสั่งเสียง รวมถึง AWS Cloud เหล่านี้เป็นธุรกิจของอะเมซอนที่เติบโตอย่างรวดเร็วมาก”

โดยพาร์ทเนอร์สำคัญของซันเดย์คือเคเอสเค ประกันภัย (ประเทศไทย) ที่จะเข้ามารับทำประกันให้กับลูกค้า แต่ในแง่ของการพัฒนาโปรดักซ์ ซินดี้ กัว ยืนยันว่าซันเดย์เป็นผู้พัฒนาโปรดักซ์ทั้งหมดเอง โดยใช้แมชชีนเลิร์นนิ่ง และบิ๊กดาต้าในการประมวลผล

“ธุรกิจประกันของบ้านเราทุกวันนี้ ยังอยู่ในรูปแบบของออฟไลน์เป็นส่วนใหญ่ และขาดความยืดหยุ่นด้านข้อสัญญา อีกทั้งยังต้องเซ็นต์เอกสารจำนวนมาก แต่เรามองว่า ลูกค้าแต่ละคนแตกต่างกันไป และความต้องการก็ต่างกัน การนำบิ๊กดาต้ากับแมชชีนเลิร์นนิ่งมาใช้ในการคำนวณค่าเบี้ยประกันภัยทำให้มั่นใจได้ว่า สิ่งที่เสนอให้ลูกค้านั้นเป็นสิ่งที่ลูกค้าสามารถจ่ายได้ และทำให้เราได้รู้จักลูกค้ามากขึ้น” ซินดี้ กัว กล่าวปิดท้าย

Avatar photo