Technology

ไม่หวั่น paperless ‘ฟูจิตสึ’ ยึดฐานที่มั่น ‘สแกนเนอร์-โน้ตบุ๊ก’ เจาะองค์กร

ในโอกาสครบรอบ 29 ปี และย่างเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงยึดแกนธุรกิจที่มีเรือธงหลักเป็น สแกนเนอร์ ซึ่งเป็นสินค้าหลักทั่วโลกของฟูจิตสึ รวมถึงสินค้าโน้ตบุ๊ก ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้จะยังคงยึดการทำตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดสแกนเนอร์ที่มีส่วนแบ่งตลาด 24-25% ในตลาดสแกนเนอร์ พร้อมทั้งวางเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็น 30% ในสิ้นปีนี้

ฟูจิตสึ

นายพรชัย พงศ์เอนกกุล ผู้อำนวยการฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและพันธมิตรธุรกิจโซลูชัน บริษัทฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แม้มีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะก้าวสู่ยุคของการลดใช้กระดาษ หรือ เปเปอร์เลส (paperless) ซึ่งมองว่าอาจกระทบกับธุรกิจสแกนเนอร์ แต่สำหรับฟูจิตสึแล้ว กลับมองว่า แม้จะลดการใช้กระดาษลง แต่ยังมีหลายธุรกิจที่ยังจำเป็นต้องใช้สแกนเนอร์ เช่น โรงพยาบาล ภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งรูปแบบการใช้งานอาจเปลี่ยนไป เช่น สแกนแล้วขึ้นไปเก็บไว้บนคลาวด์แทนการใช้กระดาษ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มองว่าสำหรับประเทศไทย ยังต้องใช้เวลาอีนานกว่าจะทรานส์ฟอร์มเสร็จและเข้าสู่ยุคเปเปอร์เลสได้ ซึ่งมากกว่า 5-10 ปี แน่นอน ดังนั้น สิ่งที่ฟูจิตซึต้องทำคือ การพัฒนาเทคโนโลยีของสแกนเนอร์ให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้งานที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้ ในปีนี้บริษัทยังได้ปรับการทำตลาดสแกนเนอร์ใหม่ โดยตั้งทีมขายตรงขึ้นมาอีกทีมหนึ่ง เพื่อขายสินค้าเป็นโซลูชั่นเข้าช่องทางลูกค้าที่ยังไม่ได้ทำการตลาดมากนักในช่วงที่ผ่านมา แต่เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจการเงิน ธนาคารเป็นต้น เพื่อให้ครอบคลุมลูกค้ามากขึ้น จากเดิมที่เน้นกลุ่มลูกค้าองค์กรที่เป็นบริษัทญี่ปุ่นเป็นหลัก

ฟูจิตสึ1

ทั้งนี้เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดในธุรกิจสแกนเนอร์มูลค่าตลาดรวม 11,000 เครื่องจากปัจจุบันฟูจิตซึเป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่ง 25% โดยวางเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งเป็น 30% ในสิ้นปีนี้ เพื่อหนีคู่แข่งอันดับ 2 ที่เริ่มขยับมาใกล้มากขึ้น

สำหรับผลประกอบการในปีนี้ ตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 3,400-3,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายได้ปี 2561 อยู่ที่ 3,200 ล้านบาท จาก 4 กลุ่มธุรกิจได้แก่ เซิร์ฟเวอร์ สตอเรจ, โน้ตบุ๊ก และสแกนเนอร์ โดยผลิตภัณฑ์โน้ตบุ๊กและสแกนเนอร์ของฟูจิตสึเติบโตปีละประมาณ 5% ขณะที่เซิร์ฟเวอร์สตอเรจเติบโตปีละ 20%

Avatar photo