World News

‘ฮ่องกง’ประท้วงสะเทือนถึงธุรกิจ ‘ซีพี’

เหตุการประท้วงในฮ่องกง ที่เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2562  มีเป้าหมายเพื่อคัดค้านการนำเสนอ ร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนฉบับปรับปรุงใหม่ ที่เปิดทางให้ส่งตัวผู้ต้องสงสัยไปไต่สวนในจีนได้ ก่อนที่จะบานปลายมาเป็นการเรียกร้องให้ นางแคร์รี หลำ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารเกาะฮ่องกง  ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง และเรียกร้องให้มีประชาธิปไตยในฮ่องกง รวมทั้งการทำให้ฮ่องกงเป็นอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่

000 1JA6RW

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ฮ่องกง ดินแดนที่ได้ชื่อว่า เป็นศูนย์กลางการเงินของเอเชีย ตกอยู่ในภาวะระส่ำระสายอย่างหนัก นักท่องเที่ยวพากันหนีหาย และธุรกิจตกอยู่ในภาวะยากลำบาก จนทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่ๆ ในฮ่องกง พากันซื้อพื้นที่หนังสือพิมพ์ เพื่อลงโฆษณาขอให้ผู้ประท้วงในฮ่องกงเลิกก่อความไม่สงบ อาทิ ซีเค กรุ๊ป ของนายลี กา ชิง มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของฮ่องกง นิว เวิลด์ ดิเวลอปเมนต์ และเฮนเดอร์สัน แลนด์ ดิเวลอปเมนต์ 2 ยักษ์ใหญ่ แห่งอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ฮ่องกง

ล่าสุด “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)  ก็ซื้อโฆษณาหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ชื่อดังของฮ่องกง เรียกร้องให้ฮ่องกง กลับคืนสู่ความสงบ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่การประท้วงที่เกิดขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของซีพีในจีน และฮ่องกง

1200x677

ท่าทีของธนินท์  ยังตอกย้ำให้เห็นว่า ธุรกิจต่างๆ ในฮ่องกง กำลังพบว่า ตัวเองตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างผู้ประท้วง และรัฐบาล ต่ออนาคตของดินแดนกึ่งปกครองตัวเองแห่งนี้

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า ถ้าบริษัทใดที่ล้ำเส้นในเรื่องนี้จะต้องเผชิญกับบทสรุปที่ไม่สวยนัก  ที่ผ่านมา ราชานักธุรกิจท้องถิ่นบางราย ก็ได้ออกมาให้การสนับสนุนคณะบริหารเกาะฮ่องกง ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อย รวมถึง “ลี กา ชิง” มหาเศรษฐีที่มีฐานะมั่งคั่งสุดของฮ่องกง ออกมาเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายอดกลั้น

wwww

เหตุชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ที่ยืดเยื้อมาร่วม 3 เดือน และมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าเป็นเดิมพันที่ค่อนข้างสูงสำหรับธุรกิจของ “ธนินท์ เจียรวนนท์”

ตระกูลเจียรวนนท์ไม่ได้เป็นนักธุรกิจหน้าใหม่ของฮ่องกงแต่อย่างใด โดยบริษัท “ซีพี โภคภัณฑ์ จำกัด มหาชน” หรือ CPP เป็นบริษัทโฮลดิ้งด้านการลงทุน ที่จดทะเบียนตั้งบริษัทในเบอร์มิวดา และตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา ก็ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ภายใต้รหัสหุ้น 43 และหน่วยงานในเครือล้วนแต่เป็นกลุ่มบริษัทด้านเกษตร และอาหารชั้นนำในจีน และเวียดนาม

CP China

ธุรกิจเกษตรอาหารของ CPP ครอบคลุมการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์ การเลี้ยง และการขายสัตว์ เพื่อการผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปมูลค่าเพิ่ม โดย CPP ดำเนินธุรกิจในจีนมาตั้งแต่ปี 2522 และในเวียดนามมาตั้งแต่ปี 2536

ความเกี่ยวข้องของเครือซีพี ต่อฮ่องกง ยังรวมถึงการถือหุ้นราว 23.3% ใน “ผิงอัน อินชัวแรนซ์ กรุ๊ป “ หนึ่งในบริษัทประกันรายใหญ่สุดของจีน ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ทั้งยังมี เจียไต๋ ไบร์ท บริษัทลูก ที่เกิดจากการร่วมทุนกับอิโตชู คอเปอร์เรชั่น ยักษ์ใหญ่จากญีปุ่่น  ที่เข้าไปลงทุนใน “ซิติค” กลุ่มบริษัทธุรกิจรายใหญ่ ของจีน ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเช่นเดียวกัน

105204969 GettyImages 940061588

นับถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ราคาหุ้นของ CPP ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 0.670 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น  บริษัทมีมูลค่าทางตลาดอยู่ราว 16,120 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือเกือบ 63,000 ล้านบาท ลดลงมาเล็กน้อยจากราคาปิดตลาดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันแรกของการประท้วงในฮ่องกง ที่ราคาหุ้นของ CPP เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 0.680 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น

ขณะที่ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง แสดงให้เห็นว่า ระหว่างวันที่ 9-26 สิงหาคม 2562 ตลาดมีผลประกอบการรายวันโดยเฉลี่ยลดลง 31.3% ต่อปี มาอยู่ที่ 79,370 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

new hero
ภาพ : South China Morning Post

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่การประท้วงครั้งใหญ่ เริ่มต้นขึ้น ดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกง ลดลงมาแล้ว 3% หลังจากที่ทะยานขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงต้นปี ที่เคยพุ่งขึ้นไปเกือบ 17% ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์จากดีบีเอส คาดการณ์ว่า ดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง อาจปิดการซื้อขายในปีนี้ที่ระดับ 26,050 จุด แม้ว่าการประท้วงจะยุติลงก่อนเดือนตุลาคมก็ตาม

หากเหตุประท้วงยังลากยาวออกไปอีก อาจทำให้ฮั่งเส็งปิดปี 2562 ร่วงลงไปเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 24,400 จุด และอาจดิ่งถึง 16,800 จุด หากความรุนแรง และการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มผู้ประท้วง กับตำรวจปราบจลาจล รุนแรงมากขึ้น

Avatar photo