Technology

เปิดช่องโหว่ “เฟซบุ๊ก” พบถูกดูดข้อมูลโดยผู้ใช้งานไม่ยินยอมกว่า 50 ล้านแอคเคาน์

twitter 292994 1280

กลายเป็นกรณีอื้อฉาวเมื่อเจ้าพ่อโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่างเฟซบุ๊กออกมายอมรับว่าข้อมูลโปรไฟล์ของผู้ใช้งานถูกยักย้ายถ่ายเทออกไปใช้ประโยชน์ในแง่ของการโฆษณาเพื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมามากถึง 50 ล้านแอคเคาน์ ซึ่งเป็นการกระทำโดยใช้เทคนิคที่ไม่เหมาะสม 

โดยล่าสุดเฟซบุ๊กได้เริ่มต้นกระบวนการสอบสวนผู้ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดนโยบายด้านข้อมูลของบริษัทในกรณีเคมบริดจ์ อะนาไลติกา (Cambridge Analytica) แล้ว โดยปรากฏชื่อของ “โจเซฟ ชานเซลเลอร์” (Joseph Chancellor) อดีตผู้อำนวยการของโกลบอลไซน์รีเสิร์ช (Global Science Research หรือ GSR) เข้ามาเกี่ยวข้องในการร่วมให้ข้อมูลครั้งนี้ด้วย

สำหรับจุดที่ทำให้เกิดการละเมิดนโยบายครั้งใหญ่นี้เริ่มต้นจากการมีสื่อยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริการายงานว่า บริษัทด้านข้อมูลอย่าง เคมบริดจ์ อะนาไลติกา ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 50 ล้านคนไปใช้ในแคมเปญการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2559 ซึ่งทางทีมหาเสียงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ว่าจ้างทางเคมบริดจ์ อะนาไลติกา ทำแคมเปญให้ และทางบริษัทเคมบริดจ์ อะนาไลติกา เผยว่า บริษัทได้ทำสัญญากับทาง GSR ในการจัดหาข้อมูลจำนวนมากเพื่อใช้ในการทำแคมเปญ

อย่างไรก็ดี ในการให้ข้อมูลเบื้องต้นนั้นทางเคมบริดจ์ อะนาไลติกาเผยว่า ไม่มีการใช้ข้อมูลจาก GSR ในการทำแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีแต่อย่างใด และบริษัทได้ลบข้อมูลทั้ง 50 ล้านแอคเคาน์นั้นหมดแล้วตั้งแต่ปี 2558

ด้านเฟซบุ๊กได้ออกประกาศชัดเจนว่า บริษัทได้ตัดสัมพันธ์กับเคมบริดจ์ อะนาไลติกา และศาสตราจารย์อเล็กซานเดอร์ โคแกน จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของ GSR แล้วเช่นกัน

สำหรับเทคนิคที่มีการเปิดเผยออกมาเกี่ยวกับวิธีการดึงข้อมูลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่ศาสตราจารย์โคแกนใช้นั้นคือการพัฒนาแอปพลิเคชันแบบสอบถาม (Quiz) เพื่อเล่นกับผู้ใช้งานบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งในแบบสอบถามจะระบุไว้ว่า การเล่น Quiz นี้ สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กได้ หากผู้ใช้งานคลิกยินยอมก็เท่ากับอนุญาตให้มีการเข้าถึงโปรไฟล์ส่วนบุคคลได้นั่นเอง แต่ปัญหาคือ API ในขณะนั้นของเฟซบุ๊กยังเป็นตัวเก่า ซึ่งไม่ได้จำกัดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลไว้ที่ข้อมูลของยูสเซอร์รายนั้นรายเดียว หากแต่สามารถดูดข้อมูลโปรไฟล์ของเพื่อน ๆ ในลิสต์มาได้ด้วย แม้ว่าเพื่อน ๆ เหล่านั้นจะไม่ยินยอมก็ตาม

ผลก็คือ ถึงจะมีการเล่นแอปพลิเคชันแบบสอบถามแค่หลักแสนคน แต่ข้อมูลที่แอปพลิเคชันดูดมาได้จึงมากมายกลายเป็น 50 ล้านกว่าคนตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั่นเอง

ทั้งนี้ นักกฎหมายทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้เรียกร้องให้ซีอีโอเฟซบุ๊กอย่างมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ออกมาอธิบายถึงการนโยบายด้านข้อมูลครั้งนี้แล้ว รวมถึงแนวทางของบริษัทในการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานในอนาคตด้วย

Avatar photo