Business

‘กรมทางหลวง’ ยืนยันโครงการขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ถึงบางปะอิน จะไม่มี ‘ค่าโง่’

“กรมทางหลวง” เล็งเปิดประมูล PPP “ดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน” วงเงิน 3.9 หมื่นล้านบาทปลายปีหน้า สั่งที่ปรึกษาพิจาณาอายุสัญญาแค่ปี 77 เพื่อนำเส้นทางทั้ง 46 กิโลเมตรเปิดประมูลพร้อมกันในอนาคต นอกจากนี้ยืนยันโครงการใหม่จะไม่มี “ค่าโง่” อีก

S 88842259
                                     บรรยากาศงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวหลังการเปิดงานสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต – บางปะอิน ที่มีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน วันนี้ (26 ส.ค.) ว่า

โครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายมอเตอร์เวย์ สายกรุงเทพฯ – ด่านแม่สาย/เชียงของ (M5) ในระยะเร่งด่วน ตามแผนแม่บทการพัฒนามอเตอร์เวย์ ระยะ 20 ปี ระหว่างปี 2560 – 2579 มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพฯ สู่พื้นที่ทางด้านทิศเหนือ ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพหลโยธินและถนนวิภาวดีรังสิต และเป็นโครงข่ายทางยกระดับที่เชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ได้โดยตรง ช่วยให้การเดินทางมีความคล่องตัว สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมโลจิสติกส์และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

โครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ปลายทางดอนเมืองโทลล์เวย์ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน บริเวณทางแยกต่างระดับรังสิต (ประมาณ กม.33+924 ของถนนพหลโยธิน) และมีจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน (ประมาณ กม.1+880 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32) รวมระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร

แนวเส้นทางส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-บางปะอิน ครอบคลุมพื้นที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางปะอิน อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยตลอดสายทางมีจุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ จำนวน 8 แห่ง และสามารถเชื่อมต่อโดยตรงเข้าสู่มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) ในอนาคต

ดอนเมืองโทลเวย์ Copy
                                                          ขอบคุณภาพจากกรมทางหลวง

เล็งเปิดประมูลสัมปทาน 15 ปี

โครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน มีมูลค่าการก่อสร้าง ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ระยะเวลา 33 ปี รวมอยู่ที่ 39,956 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างมูลค่า 28,135 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี  และค่า O&M มูลค่า 11,821 ล้านบาท ระยะเวลา 30ปี

เพื่อเป็นการลดภาระด้านงบประมาณ และเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ กรมทางหลวงจึงจะดำเนินโครงการด้วยวิธีรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) กำหนดกรอบระยะเวลาร่วมทุนไม่เกิน 33 ปี แบ่งเป็นระยะออกแบบและก่อสร้างโครงการ 3 ปี และระยะเวลา O&M ไม่เกิน 10 – 30 ปี

ทั้งนี้ ได้มอบโจทย์ให้บริษัทที่ปรึกษาว่า การประมูล PPP จะเป็นรูปแบบ PPP Gross Cost และมีอายุเพียง 15 ปีได้หรือไม่ เพื่อให้สัญญาดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน และช่วงดินแดง-ดอนเมือง ของบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หมดอายุพร้อมกันในปี 2577 จากนั้นกรมทางหลวงจะนำเส้นทางทั้งหมด ตั้งแต่ดินแดง-บางปะอิน ระยะทางรวม 46 กิโลเมตร เปิดประมูลใหม่พร้อมกัน

ด้านผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ของโครงการล่าสุดอยู่ที่ 13% คำนวณจากอัตราการจัดเก็บค่าผ่านทางสูงสุดไม่เกิน 60 บาทต่อเที่ยว หรือคิดเป็น 3.33 บาทต่อกิโลเมตร เพราะพิจารณาแล้วว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมกับกับเส้นทางในเมืองและ EIRR ยังสูงกว่า 12% ซึ่งเป็นระดับที่รับได้

ทั้งนี้ อัตรา EIRR จะแปรผกผันกับอัตราค่าผ่านทาง ถ้าอัตราค่าผ่านทางต่ำ EIRR จะสูง แต่ถ้าอัตราค่าผ่านทางสูง EIRR จะต่ำ แต่ก็ต้องพิจารณาให้อยู่ในระดับสมดุลกัน เพราะทั้ง 2 ส่วนจะส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ที่จะจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมประมูล

S 26968080

รับรองไม่มี “ค่าโง่”

กรมทางหลวงจะสรุปรูปแบบ PPP และอายุสัมปทานช่วงปลายปี 2562 หรือต้นปี 2563 จากนั้นจะเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) พิจารณาตามลำดับ

เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดประมูลได้ปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 ได้ตัวผู้รับสัมปทานช่วงปลายปี 2564 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ระหว่างปี 2564-2567 และเปิดให้บริการได้ในปี 2568 ซึ่งขณะนี้กรมทางหลวงเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการให้คณะกรรมการชำนาญการฯ (คชก.) แล้ว แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาและยังไม่ได้รับการอนุมัติ

สำหรับกรณีที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยและบริษัท รถไฟฟ้าและทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มีการฟ้องร้องกัน เนื่องจากกรมทางหลวงสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายช่วง อนุสรณ์สถาน-รังสิต แข่งขันกับทางด่วน ช่วงบางปะอิน-ปากเกร็ดของ BEM จนเกิดเป็นคดี “ค่าโง่ทางด่วน” นั้น นายอานนท์กล่าวว่า โครงการสร้างส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ในครั้งนี้ คงไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก

“สัมปทานทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ระหว่างการทางพิเศษฯ และ BEM จะหมดอายุในปี 2567 ส่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2568 เพราะไม่น่ามีปัญหาข้อพิพาทหรือข้อพิพาทเกิดขึ้น” นายอานนท์กล่าว

จากการวิเคราะห์ด้านจราจรพบว่า เมื่อเปิดให้บริการปี 2568 จะมีปริมาณการจราจรเข้าระบบเฉลี่ยประมาณ 20,100 คันต่อวัน ซึ่งสามารถจัดเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมผ่านทางประมาณ 423 ล้านบาทต่อปี และในปี 2597 ปริมาณการจราจรเข้าระบบเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 68,800 คันต่อวัน และสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางเพิ่มขึ้นเป็น 3,031 ล้านบาทต่อปี

ดอนเมืองโทลเวลบ์ 3
                                            ขอบคุณภาพจากกรมทางหลวง

Big Name ตบเท้ารับฟังรูปแบบ PPP

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดงาน Market Sounding โครงการส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต – บางปะอินในวันนี้ มีเอกชนรายใหญ่เข้าร่วมงานหลายราย เช่น BEM, ดอนเมืองโทลล์เวย์, บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ, บริษัท ช การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นต้น

สำหรับเอกชนต่างชาติที่เข้าร่วมงาน Market Sounding ด้วย ได้แก่  China Harbour Engineering Company Limited จากประเทศจีน, Marubeni Corporation (Thailand) จากประเทศญี่ปุ่น, Metropolitan Expressway Company Limited จากประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

Avatar photo