General

‘อ่าวนาง’ โมเดล ลดขยะกองโตชะงัด

“ธรรมนูญสุขภาพ อ่าวนาง” โมเดลจัดการขยะกองโตได้ผลชะงัด ดึงซาเล้ง ร่วมมือ ชาวบ้าน-อบต. พร้อมสร้างทีมสายตรวจซาเล้ง ช่วยเป็นหูเป็นตา   

ทุกคนทราบดีว่า การลงมือช่วยกันจัดการขยะของประเทศเป็นทางออกที่สำคัญที่สุด หลายพื้นที่กำลังเริ่มต้นด้วยเครื่องมือ และกลไกต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตอย่างอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เพราะนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากตามแรงโปรโมท หมายถึงขยะมากตามไปด้วย

ปัจจุบันตำบลอ่าวนาง มีขยะมูลฝอยเฉลี่ยวันละ 65-70 ตัน คิดเป็นกว่า 50% ของขยะทั้งหมดในจังหวัดกระบี่ ระหว่างปี 2558-2560 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อ่าวนาง ต้องใช้งบประมาณในการจัดการไม่ต่ำกว่าปีละ 28 ล้านบาท

การทำให้ขยะกองสูงสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่อาจทำได้ หากทุกคน ซึ่งต่างเป็นต้นกำเนิดขยะไม่ยินดียินร้าย แต่สำหรับอ่าวนางไม่เป็นอย่างนั้น ความเข้มแข็งของชุมชน ทำให้คนในพื้นที่ร่างข้อตกลงร่วมกัน

ตั้งชื่อว่า “ธรรมนูญสุขภาพ หมู่ที่ 5 บ้านทุ่ง ตำบลอ่าวนาง”  ประกาศเจตนารมณ์ ใช้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 แบ่งออกเป็น 7 หมวด รวมทั้งสิ้น 34 ข้อ โดยมีข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับขยะที่สำคัญ อาทิ

ข้อที่ 3 ประชาชน/สถานประกอบการ ต้องมีส่วนร่วมในการรักษาความสะอาดเรียบร้อย และห้ามทิ้งขยะลงบนถนน ไหล่ทาง ที่สาธารณะ หากไม่ปฏิบัติตาม ต้องยินยอมเสียค่าปรับ ครั้งละ 2,000 บาท และเทศกิจหรือผู้ที่สามารถชี้ตัวผู้กระทำผิดและสามารถเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้ จะได้รับเงินรางวัลส่วนแบ่งจากค่าปรับ จำนวน 1,000 บาท

ข้อ 4 ครัวเรือน และสถานประกอบการทุกแห่ง ต้องนำขยะมูลฝอยบรรจุใส่ถุงดำ และผูกปากถุงให้มิดชิด และนำมาวางหน้าบ้านตนเองริมเส้นทางจราจร หรือจุดที่กำหนด ระหว่างเวลา 19.00 – 24.00 น.

ข้อ 15 ครัวเรือนและสถานประกอบการ มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด โดยลดปริมาณการใช้ มีการคัดแยกขยะในครัวเรือนของตนเอง และส่งเสริมให้มีการนำขยะไปเพิ่มมูลค่า

คุณปรีชา ตัด 1

นายปรีชา ปานคง ชาวบ้านตำบลอ่าวนาง และผู้ประกอบการกลุ่มน้ำหมักชีวภาพ เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ว่าภาพของตำบลอ่าวนาง เต็มไปด้วยความสกปรกเลอะเทอะ ขยะเต็มสองข้างทาง บางครั้งมีการเผาขยะริมถนน เกิดปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สาเหตุจาก 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ ทิ้งขยะไม่เป็นเวลา ทิ้งขยะเรี่ยราด และปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล

ที่ผ่านมา อบต.อ่าวนาง รณรงค์ให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ จัดทำโครงการแลกขยะกับเครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ตลอดจนสร้างสถานีขยะเป็นจุดทิ้งขยะขนาดใหญ่ แต่ไม่ได้ทำให้ปัญหาเบาบางลง

“อบต.อ่าวนาง ทำงานอย่างจริงจังมาก แต่ชาวบ้านไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปัญหาขยะจึงคงอยู่มาเป็นสิบปี จนกระทั่งเกิดสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่ และมีการนำเรื่องนี้เข้าไปพูดคุย ผลักดันให้ตำบลจัดทำธรรมนูญสุขภาพขึ้น ”

ช่วงแรกของการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ นายปรีชา บอกว่า ชาวบ้านยังไม่ค่อยเข้าใจ ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม แต่เมื่อผู้นำชุมชนได้เอ่ยปากชักชวนต่อๆ กันไปเรื่อยๆ ก็เริ่มมีคนมาเข้าร่วมมากขึ้น ทั้งกรรมการหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยราชการ โรงเรียน ผู้นำศาสนา ผู้ประกอบการ ห้างร้าน ชมรมสามล้อ กลุ่มเรือหางยาว ฯลฯ เมื่อคนเข้าร่วมมากขึ้นก็เริ่มมองเห็นปัญหาร่วมกัน สุดท้ายก็พร้อมใจกันปฏิบัติตามข้อกำหนดในธรรมนูญสุขภาพฯ

ประชาชนที่เข้าร่วมเริ่มตระหนักรู้ และกลับไปดำเนินการตามบทบาทและความถนัด ภายใต้เป้าหมายร่วมกันในการจัดการขยะ ตนเองถนัดเรื่องทำน้ำหมักชีวภาพก็สนับสนุนในส่วนนี้ กลุ่มเรือหางยาวก็ไปกำหนดมาตรการของเขา เช่น เฝ้าระวังนักท่องเที่ยวให้นำขยะกลับมาทิ้งบนฝั่ง

ส่วนผู้ประกอบการก็มีการจัดการ เรื่องการคัดแยกขยะ การจัดการน้ำเสีย เป็นต้น รวมถึงต่อยอดการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น กิจกรรม Big Cleaning Day ประจำเดือน       คุณพันคำ กิตติธรกุล ตัดส่วนอบต.อ่าวนาง นายพันคำ กิตติธรกุล นายก อบต. บอกว่า ขยะมูลฝอยเฉลี่ยวันละ 65-70 ตัน มาจากคนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา อบต.อ่าวนาง เน้นแก้ไขกับคนในพื้นที่เป็นลำดับแรก

อาทิ รณรงค์ให้เก็บกวาด แจกถังขยะตามครัวเรือน สร้างจุดทิ้งขยะ แต่ที่สุดก็ไม่สามารถควบคุมขยะได้ เนื่องจากประชาชนยังขาดจิตสำนึก และไม่ยอมทำตามกฎหมาย ทาง อบต.อ่าวนาง จึงปรับแนวคิดด้วยการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมมาจัดการขยะ

“เราได้ทำประชาคมพูดคุยกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ และร่วมกันกำหนดข้อตกลง ธรรมนูญสุขภาพตำบล เป็นกติกา และแนวปฏิบัติเพื่อจัดการขยะร่วมกัน”

ในทางปฏิบัติ อบต.อ่าวนาง ได้เก็บถังขยะกลับมาทั้งหมด และทดลองเปลี่ยนมาใช้ถุงดำแทน ซึ่งธรรมนูญสุขภาพได้บัญญัติให้ครัวเรือน และสถานประกอบการทุกแห่งต้องนำขยะบรรจุใส่ถุงดำ ผูกปากถุงให้มิดชิด และนำมาวางในจุดที่กำหนดระหว่างเวลา 19.00 – 24.00 น. จากนั้นทาง อบต.อ่าวนาง ก็จะส่งรถขยะออกไปจัดเก็บ

และการที่อบต.อ่าวนาง ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง มีการรณรงค์ให้ครัวเรือนและผู้ประกอบการคัดแยกขยะ เป็นที่หมายปองของซาเล้งเก็บของเก่าทั้งในและนอกพื้นที่ นำมาสู๋โครงการ “สายตรวจซาเล้ง”

เปิดให้กลุ่มซาเล้งมาขึ้นทะเบียน กรอกประวัติ และรับเสื้อกั๊กอย่างถูกต้อง สุดท้ายคนกลุ่มนี้ ก็ช่วยคัดแยกขยะ สามารถนำไปขายสร้างรายได้ และยังช่วยเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแสความไม่ชอบมาพากลให้กับเจ้าหน้าที่อีกแรงหนึ่ง

คุณอดิศักดิ์ ตัดซาเล้งอย่างนายอดิศักดิ์ แซ่หลี  เจ้าของเสื้อกั๊กหมายเลข 3 บอกความในใจว่า ซาเล้งเก็บของเก่ามักจะถูกมองด้วยสายตาที่ไม่ไว้วางใจ หากมีของหาย ก็จะถูกสงสัยเป็นลำดับแรกๆ ประกอบกับในอดีต มีซาเล้งจากนอกพื้นที่เข้ามาในตำบลอ่าวนางเป็นจำนวนมาก จึงเห็นด้วยกับมาตรการจัดระเบียบซาเล้ง ด้วยการเปิดให้ขึ้นทะเบียน และให้สวมใส่เสื้อกั๊ก เพราะจะทำให้ทำงานได้อย่างเปิดเผย ไม่ถูกหวาดระแวง ส่วนซาเล้งนอกพื้นที่ก็ไม่สามารถเข้ามาได้

สำหรับการทำงานของซาเล้งคนขยัน เริ่มตั้งแต่ 9 โมงเช้า ไปจนถึงตี 2 จึงจะเข้าบ้าน ช่วงเช้าจะรับซื้อของเก่า ช่วงค่ำก็มาแยกขยะไปขาย เฉลี่ยแล้วในแต่ละวัน เขาแยกขยะไปขายได้ประมาณ 100 กิโลกรัม

ส่วนฤดูท่องเที่ยวหรือเทศกาลเคยแยกได้มากสุดถึง 1,000 กิโลกรัม ทำรายได้ตั้งแต่วันละ 800 บาท ไปจนถึง 2,000 บาท และเคยมีรายได้สูงสุดถึงเดือนละ 60,000 บาท

“ทุกวันนี้มีซาเล้งลงทะเบียนอยู่ 52 คัน ถ้าแต่ละคันสามารถแยกขยะออกไปขายได้วันละ 100 กิโลกรัม ก็เท่ากับช่วยกำจัดขยะออกไปจากระบบมากถึงกว่าวันละ 5 ตัน ส่วนตัวคิดว่ากลุ่มซาเล้ง มีส่วนสำคัญในการลดขยะ และหากทุกครัวเรือนรู้จักแยกขยะไปขายเองได้ นอกจากจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแล้วยังจะช่วยลดจำนวนขยะในอ่าวนางได้อีกมาก”

นพ.วีระพงษ์1 ตัด

นพ.วีรพงศ์ สกลกิติวัฒน์ ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่ สรุปว่า พื้นที่ตำบลอ่าวนาง ที่สะอาดสะอ้านทุกวันนี้ช่างแตกต่างจากเมื่อ 5 ปีก่อน ที่มองไปทางไหน ตามถนนริมชายหาด ตรอกซอกซอย ล้วนแต่เต็มไปด้วยขยะมูลฝอยส่งกลิ่นเหม็น

เป็นเพราะการตื่นตัวของชาวบ้าน การร่วมกันกำหนดกติกาเป็นธรรมนูญสุขภาพช่วยให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว

….พื้นที่ไหนจะเลียนแบบชุมชนอ่าวนางก็ไม่หวง

Avatar photo