General

รณรงค์ตรวจสุขภาพ ลดเสี่ยงมะเร็งต่อมน้ำเหลืองลุกลาม

“มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” เป็นได้กับทุกคน แพทย์ยืนยัน 98% ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ยกเว้นผู้สัมผัสสารเคมีโดยตรง เช่น ยาฆ่าแมลง-เบนซีน พร้อมรณรงค์ตรวจสุขภาพประจำปี ค้นหาโรค ป้องกันมะเร็งลุกลาม   

“มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” เป็นโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยา ที่พบบ่อยติดอันดับ 1 ใน 6 ของโรคมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย สถานการณ์ผู้ป่วยใหม่ปีละกว่า 3,000 ราย หรือ 8 รายต่อวัน สูงสุดอยู่ในช่วง 60-70 ปี

แต่ปัจจุบันสามารถพบได้ในเด็ก หรือกลุ่มคนอายุน้อยได้มากขึ้น โดยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด ฮอดจ์กิน (Hodgkin lymphoma) หรือ HD จะพบบ่อยในช่วงอายุ 20-30 ปี

IMG 20190823 155812 ปก

ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ประธานชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย ประธานคณะทำงานการวิจัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย อดีตประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่สามารถบอกสาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทุกรายได้ชัดเจน

แต่พบความสัมพันธ์กับหลายภาวะ ได้แก่ การติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร การติดเชื้อไวรัส EBV (Epstein-Barr Virus ) ภาวะพร่องภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โรคภูมิแพ้ตนเอง ผู้ป่วยเอสแอลอี และพบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้นจากการสัมผัสสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลงจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รวมถึงสัมผัสสาร “เบนซีน” ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานฟอกหนัง

“ปัญหาของผู้ป่วยในระยะแรกจะไม่ทราบว่า ตนเองเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เนื่องจากอาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเหมือนอาการอื่นๆที่พบได้ในภาวะต่างๆ เช่น ติดเชื้อ ภูมิแพ้ เหงื่อออกตอนกลางคืน เป็นไข้ และน้ำหนักลดลงผิดปกติ ”

แม้มะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะพบมาก แต่เป็นโรคมะเร็งไม่กี่ชนิด ที่มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ โดยยาเคมีบำบัดร่วมกับยาโมโคนอลแอนติบอดี้ การฉายแสง และการปลูกถ่ายไขกระดูก (สเต็มเซลล์)

มะเร็งชนิดนี้ แบ่งเป็น 4 ระยะ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะที่ 1 มีโอกาสหายขาดได้ถึง 70-90% ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในระยะที่ 2-4 มีโอกาสหายขาดได้ 60%

ทั้งนี้ 60% ตอบสนองกับการรักษา อีก 40% ไม่ตอบสนอง แบ่งเป็น 15%ดื้อต่อการรักษา และ 25% กลับมาเป็นซ้ำภายใน 2-3 ปี และจะมีอาการของโรคมากขึ้น เกิดภาวะดื้อยาไม่ตอบสนองกับการรักษา

อย่างไรก็ตามคนไข้ในกลุ่มที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ก็มีวิธีการรักษาร่วมไปถึงยาที่ได้รับการพัฒนา และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาก็มีจำนวนมากขึ้น ประจำอยู่ในเกือบทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ รวมถึงวิวัฒนาการการรักษาที่ช่วยให้คนไข้มีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น

IMG 20190823 155748 ปก

รศ.นพ.อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า 98% ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองไม่มีปัจจัยเสี่ยง วิธีป้องกันก็คือการสร้างภูมิต้านทานให้ตัวเอง ด้วยการการรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย และคอยสังเกตสภาพร่างกายของตนเอง เช่น คลำที่คอ ซึ่งเป็นจุดของต่อมน้ำเหลือง ว่ามีก้อนหรือโตผิดปกติหรือไม่ รวมถึงสังเกตอาการอื่นๆ

นายถีรวัทน์ อรรฐาเมศร์ ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง บอกว่าการตรวจสุขภาพประจำปีสำคัญที่สุด เพราะตนเองทราบว่าเป็น เพราะเอกซเรย์ปอด พบความผิดปกติ นำมาสู่การตรวจหาสาเหตุ และพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่ 2

โดยยืนยันว่าตนเองไม่ความเสี่ยงใดๆ เป็นพนักงานออฟฟิศธรรมดา ดูแลแผนงานด้านไอทีให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ดูแลสุขภาพตามปกติ เมื่อพบว่าเป็นมะเร็ง ก็ทำงานการรักษาอย่างต่อเนื่อง มาเป็นเวลา 2 ปี ตอนนี้โรคสงบ ปัจจุบันทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างดี รับประทานอาหารสุขสะอาด หากต้องไปที่ที่มีคนหนาแน่นก็จะใช้ผ้าปิดปาก เพื่อป้องกันเชื้อโรค

สำหรับกำลังใจที่ทำให้ตนเองผ่านการรักษาเป็นเวลาถึง 2 ปี มาจากตัวเองที่ไม่ท้อ รวมถึงกำลังใจจากคนในครอบครัว และตนเองก็พยายามให้กำลังใจผู้ป่วยคนอื่นๆด้วย พร้อมกับแนะนำต่างๆ ซึ่งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับผู้ป่วยด้วยกันมีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน

ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าวว่า เพื่อขยายสร้างความตระหนักของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งคนไทยเป็นกันมาก ในปีนี้ชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์ และสถานพยาบาลรวม 13 แห่ง จัดกิจกรรม “ปาฏิหารย์-เปลี่ยนมะเร็ง-ให้เป็นสุข MIRACLE is all around -Fight to Lymphoma “ ในวันที่ 15 กันยายน 2562 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 3 ลานอีเดน ซึ่งตรงกับ “วันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก” เพื่อให้ข้อมูลกับคนไข้โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทุกคน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และแรงบันดาลใจที่ดี เพื่อก้าวข้ามผ่านโรคร้ายไปให้ได้ และรู้สึกว่าถึงจะป่วยก็ป่วยอย่างมีความสุข รวมถึงให้ข้อมูลต่างๆกับผู้ที่ยังไม่ป่วยด้วย

Avatar photo