Media

‘บีทีเอส’ จับมือ ‘อาร์เอส’ ดีลนี้ วิน-วินหรือเปล่า

กลายเป็นดีลธุรกิจสำคัญต้อนรับครึ่งปีหลัง 2562 ไปเลยครับ เมื่อบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS  โดย นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประกาศเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS 

โดยกลุ่ม BTS Group Holdings ทุ่มเงินกว่า 1,000 ล้านบาท เข้าถือหุ้นใน RS คิดเป็นสัดส่วน 7% เพื่อร่วมมือต่อยอดธุรกิจมากมาย โดยเฉพาะการขยายธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง Multi-platform Commerce (MPC)

ทั้งนี้ มีการยืนยันจากผู้บริหารทั้ง 2 ฝ่ายแล้วว่า ภายหลังการเข้าถือหุ้นครั้งนี้ของ BTS จะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานของ RS รวมถึงโครงสร้างถือหุ้นของนายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ (เฮียฮ้อ) ซึ่งจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 เช่นเดิม

สุรชัย คุณกวิน 13 e1566696754483

สำรวจโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ของ RS 

ข้อมูลบนเว็บไซต์ก.ล.ต. เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม2562 นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ขายหุ้น RS จำนวน 55 ล้านหุ้น ที่ราคา 15 บาท และนายโสรัตน์ วณิชวรากิจ ขายหุ้น RS จำนวน 15 ล้านหุ้นที่ราคา 15 บาท 

แปลว่านายสุรชัย ผู้ถือหุ้น RS อันดับหนึ่งจะได้รับเงินจากการขายหุ้นครั้งนี้ไปประมาณ 825 ล้านบาท ขณะที่นายโสรัตน์ ผู้ถือหุ้นอันดับสองได้รับเงินประมาณ 225 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับข้อมูลที่ BTS และ RS เปิดเผยต่อสื่อมวลชน 

นั่นหมายความว่าโครงสร้างผู้ถือใหม่ของ RS หลัง BTS เข้ามาเป็นพันธมิตร จะมีหน้าตาคร่าวๆ ประมาณนี้

1.นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ สัดส่วน 30.64% (เดิม 36.26%)

2.นายโสรัตน์ วณิชวรากิจ สัดส่วน 9.65% (เดิม 11.19%)

3.กลุ่ม BTS สัดส่วน 7%

4.ไทยเอ็นวีดีอาร์ สัดส่วน 5.92%

5.ธนาคารกรุงเทพ สัดส่วน 4.98

(ตัวเลขข้างต้นเป็นการคำนวณคร่าวๆ จากข้อมูล ณ วันที่ 21 ส.ค. 2562 เท่านั้น)

บีทีเอส2

คำถามที่น่าสนใจคือ ดีลนี้ใครคุ้มค่าที่สุด วิน-วินทั้งคู่ จริงหรือเปล่า ? เพราะหลังมีข่าวเรื่องนี้ออกมา ตลาดก็รับกับปัจจัยบวกทันที โดยเช้าวันที่ 20 สิงหาคม 2562 หุ้น RS พุ่งกว่า 3% ขึ้นไปทำจุดสูงสุดในรอบ หนึ่งเดือน เช่นเดียวกับ BTS ที่รับปัจจัยบวกไปแล้วหลังมีข่าวลือออกมาก่อนหน้านี้

สำหรับในแง่ธุรกิจของ RS แน่นอนการมีพันธมิตรอย่าง BTS มาร่วมด้วย ถ้าไม่นับเงินมูลค่า 1,000 ล้านบาทที่ได้ไปนั้น พวกเขายังได้ช่องทางขยายฐานลูกค้าให้เติบโตสู่ 1 หมื่นล้านบาทตามแผนที่วางไว้ในปี 2565  

เพราะอย่าลืมว่ากลุ่ม BTS มีทั้งธุรกิจรถไฟฟ้า ที่ปัจจุบันมีผู้โดยสารเกือบ 1 ล้านเที่ยวคนต่อวัน รวมถึงธุรกิจสื่อการตลาดในเครืออย่าง VGI นั่นหมายถึงสินค้า RS จะถูกนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ของ BTS และ VGI  มากขึ้นแน่นอน

มองมาที่ผลประโยชน์ของ BTS บ้าง ส่วนตัวแล้วคิดว่าการลงทุนครั้งนี้ ดูจะเป็นการแผนเชิงกลยุทธิ์ระยะยาวของ BTS เสียมากกว่า สำหรับผสานธุรกิจให้ครบวงจรกว่าเดิม เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่า BTS เดินหน้าเข้าซื้อหุ้นกิจการต่างๆ ต่อเนื่อง ได้แก่

Siam Station Upper Platform 201801 1 e1566697083202

1.บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI สื่อโฆษณานอกบ้าน ธุรกิจการตลาด และการชำระเงิน Rabbit โดย BTS คือผู้ถือหุ้นใหญ่ 21.22%

2.Kerry Express ธุรกิจโลจิสติกส์ ส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซ โดย BTS ลงทุนในสัดส่วน 23%

3.ร่วมมือกับเครือสหพัฒน์ เปิดร้านสะดวกซื้อ Lawson บนสถานี BTS 30 สถานี

4.ซื้อหุ้นบริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 ผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าไอที จำนวน 5.87%

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทที่ BTS เข้าไปลงทุน อาทิ MACO, U, NOBLE, JMART และ BKD เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการลงทุนครั้งนี้จะช่วยต่อยอดธุรกิจระหว่างกลุ่ม BTS และ RS ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น และคงเป็นโอกาสสร้างธุรกิจบนแพลตฟอร์มใหม่ๆ ของทั้งคู่แน่นอน 

Avatar photo