Economics

อุบัติเหตุจากรถไฟฟ้าอยู่ในเกณฑ์ ‘ยอมรับได้’ รฟม.สั่งเข้มความปลอดภัย

อุบัติเหตุจากการก่อสร้าง “รถไฟฟ้า” 4 สายอยู่ในเกณฑ์ “ยอมรับได้” รฟม. สั่งผู้รับเหมาและที่ปรึกษาระดมความเห็น เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยขึ้นอีก

001 3จากข้อสั่งการของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้หน่วยงานในสังกัดซักซ้อมการปฏิบัติเกี่ยวกับการติดตามข่าวสารและการรายงานเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุที่เกิดความเสียหายมากนั้น

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบมาตรการด้านความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Safety Board) เปิดเผยว่า ล่าสุด รฟม. ได้เชิญกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาและบริษัทผู้รับจ้าง/ผู้รับสัมปทาน งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกสายในความรับผิดชอบของ รฟม. มาระดมความคิดเห็นเป็นกรณีเร่งด่วน

โดยปัจจุบัน รฟม. เป็นผู้กำกับโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างงานโยธา จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์), โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ที่อยู่ในขั้นตอนการเก็บงานอีก 1 โครงการ

ทั้ง 4 โครงการนี้ เป็นงานก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ มีแนวสายทางผ่านถนนหลักหลายสาย และมีการเปิดหน้างานพร้อมกันหลายจุด กระทบต่อการใช้งานพื้นผิวจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนน จึงมีความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเกิดอุบัติเหตุ

ก่อสร้าง รถไฟฟ้า ชมพู

เมื่อ รฟม. ได้พิจารณาข้อมูลสถิติอุบัติเหตุจากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 4 โครงการ ย้อนหลังในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 ถึงปัจจุบันพบว่า “อยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้” ส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุ/อุบัติการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินเท่านั้น (Property Damage Only) ซึ่งภายหลังการเกิดเหตุ ผู้รับจ้าง/ผู้รับสัมปทานได้รายงานสภาพอุบัติเหตุ สาเหตุ วิธีการแก้ไข การเยียวยาผู้เสียหาย (ถ้ามี) รวมถึงมาตรการป้องกัน เพื่อให้ รฟม. ได้รับทราบข้อเท็จจริงภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้มาโดยตลอด

แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น รฟม. ได้มอบหมายให้ ผู้จัดการโครงการ (PM) แต่ละสัญญาของบริษัทผู้รับจ้าง/ผู้รับสัมปทาน เป็นผู้พิจารณารูปแบบในการรายงานอุบัติเหตุให้เหมาะสมแก่ระดับความร้ายแรงและผลกระทบของเหตุต่างๆ เพื่อช่วยให้ รฟม. สามารถคัดกรองประเภทอุบัติเหตุและพิจารณาสั่งการได้ทันท่วงที

ฃนอกจากนี้ รฟม. ได้สั่งการให้บริษัท ผู้รับจ้าง/ผู้รับสัมปทาน ให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันให้มากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มบทลงโทษให้สูงขึ้นแก่ ทั้งผู้รับจ้าง/ผู้รับสัมปทาน และรวมทั้งกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงาน ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุในลักษณะเดิมซ้ำอีกในสัญญาเดียวกัน และมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในงานด้านความปลอดภัยทุกภาคส่วน จัดการแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในลักษณะเดียวกันนี้ในสัญญาอื่นๆ  หรือในโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ รฟม. ด้วย

รถไฟฟ้าสายสีเขยีว 3
ขอบคุณภาพจากเพจโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

นายสุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า รฟม. ยังยกระดับความเข้มข้นในการกำกับด้านความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 4 สาย ผ่านทางกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา โดยให้มอบหมายเจ้าหน้าที่ Safety ประจำอยู่หน้างานเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างในพื้นที่ก่อสร้างเสมอ หากพบลักษณะการทำงานหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย สามารถตักเตือนหรือให้คำแนะนำแก่ผู้รับจ้างเพื่อดำเนินการแก้ไขโดยทันที

พร้อมกันนี้ รฟม. ได้ขอคำยืนยันจากบริษัทผู้รับจ้าง/ผู้รับสัมปทานทุกราย ให้ความร่วมมือเต็มที่ในการสั่งการให้ผู้ปฏิบัติงานในบริษัทของตน ถือคำเตือน/คำแนะนำของเจ้าหน้าที่ Safety กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเป็นสำคัญ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ รฟม. ได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาและบริษัทผู้รับจ้างโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 4 สาย ไปหารือในรายละเอียด เพื่อกำหนดมาตรการลงโทษที่เป็นข้อตกลงร่วมกันทุกฝ่าย เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด ทั้งต่อตนเอง เพื่อนร่วมงาน บุคคลภายนอก และต่อทรัพย์สิน

Avatar photo