Technology

‘ดีอี’ จ่อเชือดไก่ให้ลิงดู จัดการ ‘เฟคนิวส์’ ย้ำความร่วมมือทุกภาคส่วน

ชมรมฯ นักข่าวไอที จัดเสวนา Bullying&Fake News “รมว.ดีอี” พร้อมฟังความคิดเห็นเพื่อทำงานร่วมกัน ย้ำศูนย์นี้ไม่ได้เป็นเครื่องมือรัฐบาล อีก 2 อาทิตย์เตรียมจัดการกลุ่มคนสร้างข่าวปลอมที่จับตามาระยะหนึ่งแล้ว ด้าน 3 ค่ายโอเปอเรเตอร์พร้อมให้ความสำคัญ ร่วมมือเต็มที่

020 1
พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวภายในงานเสวนาจิบน้ำชา ครั้งที่ 3/2562 หัวข้อ Bullying&Fake News ทันเกมสารพัดพิษออนไลน์ สังคมไทย จัดโดย ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอทีพีซี) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเอื้อให้ประชาชนสามารถเป็นผู้ผลิตข่าวได้เอง ใครจะเป็นนักข่าวและเผยแพร่ข่าวในโลกออนไลน์ก็ได้ ดังนั้นกระทรวงดีอีจึงต้องตั้งศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอมขึ้น โดยอาศัยกลไกทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้ศูนย์นี้อยู่อย่างยั่งยืน และไม่กลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาล เพราะศูนย์ขับเคลื่อนด้วยภาคเอกชนและประชาชน ทำให้ประชาชนสามารถเชื่อใจและไว้ใจได้

สำหรับช่องทางหนึ่งที่ศูนย์ดังกล่าวจะเปิดให้ประชาชนมาใช้งานคือ เพจตรวจข่าวปลอม ซึ่งนอกจากจะเผยแพร่ข่าวปลอม และ ชี้แจงข่าวจริงแล้ว ยังมีแชทบอทเพื่อให้ประชาชนซักถามได้ทั้งเรื่องข่าวปลอม และการถูกกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ หรือ การถูก Bullying ก่อนจะนำเรื่องที่ถูกกระทำนี้ไปแจ้งความตามกฎหมายต่อไป

“ภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้ จะจัดการกับกลุ่มคนที่สร้างข่าวปลอมขึ้นมา เพื่อให้เห็นถึงบทลงโทษที่มีจริง โดยทีมงานได้เฝ้าติดตามกลุ่มคนดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบให้แน่ชัดว่ากระทำความผิดจริง”นายพุทธิพงษ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยการเพิ่มหลักสูตรให้เยาวชนรู้เท่าทัน ซึ่งกระทรวงดีอีจะมีการหารือกัน เพื่อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการต่อไป โดยการทำงานของกระทรวงต้องยึดการทำงานจากการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนด้วย ดังนั้น ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกรายที่มีโครงการเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่แล้ว สามารถเสนอความคิดเห็นและแนวทางในการทำงานร่วมกันได้เต็มที่

030 1

ด้านนางสาวนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงาน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสมีโครงการให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยเน้นการสร้างความตระหนักให้กับเยาวชนอายุ 8-12 ปี ให้ฉลาดใช้เทคโนโลยีในโลกดิจิทัล เนื่องจากผู้ใช้งานในโลกออนไลน์มักคิดว่าเป็นโลกไร้ตัวตน ทำอะไรผิด ก็ไม่คงไม่มีใครรู้ตัวตนว่าเป็นใคร จะแชร์หรือให้ความเห็นอะไรก็ได้ ซึ่งโครงการของเอไอเอสจะทำให้เยาวชนสามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะได้ ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถทำให้ศูนย์ยืนยันข่าวปลอม ทำงานอย่างโปร่งใส มั่นใจว่าพึ่งพิงได้ สุดท้ายแล้วประชาชนจะรู้เอง และเข้ามาตรวจสอบเอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายขู่

ด้านนางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ดีแทค กล่าวว่า เฟคนิวส์ทำให้เกิดเฮท สปีด หรือข้อความเกลียดชัง และการกลั่นแกล้งกันในโลกไซเบอร์ เรื่องนี้เป็นวาระสำคัญของยูเอ็น ขณะที่กลไกของประเทศสิงคโปร์คือการใช้กฎหมายลงโทษ กลับกันกับประเทศฟินแลนด์ที่ให้เสรี แต่ผู้ปกครองจะตระหนักเองว่าควรมีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยให้กับลูก

ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ เพราะรูปแบบการกลั่นแกล้งกันในแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน ประเทศทางตะวันตกกลั่นแกล้งกันเรื่อง อ้วน แต่ประเทศไทยกลั่นแกล้งกันในประเด็นเรื่องเพศ เป็นต้น ซึ่งดีแทคก็มีโครงการเกี่ยวกับเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว เพราะเชื่อว่าการสร้างความรู้ให้กับโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะคุณครู เมื่อมีการสอบถามเด็กๆว่าเวลามีปัญหาจะสอบถามใคร พบว่า 80 % ต้องการถามครู

010 1

ขณะที่นางพิมลพรรณ ศิริวงศ์วานงาม ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์การตลาด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทรูฯมีโครงการร่วมกันหลายภาคส่วนเพื่อรณรงค์เรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์,โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ,สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นต้น ซึ่งต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่มียาแรงและใช้ไม่ได้กับประเทศไทย

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่สามารถใช้กฎหมายลงโทษ หรือ ไล่จับได้ เพราะจะกลายเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ ในยุคเสรีอย่างปัจจุบันนี้ จึงควรมองที่การสร้างภูมิคุ้มกัน เหมือนการป้องกันโรคด้วยวัคซีน ดีกว่ารอให้ป่วยแล้วค่อยรักษา ซึ่งหากทุกภาคส่วนมีการทำงานร่วมกันก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก

Avatar photo