Business

‘ใครได้..ใครเสีย’! ดัน ‘ไมโครบัส’ เสียบแทน ‘รถตู้’ กับเค้ก 2 หมื่นล้าน

หลายคนยังสงสัยกันมากว่าวันนี้อุบัติที่เหตุที่เกิดบนท้องถนน เกิดจาก คนขับรถ ความประมาท เกิดจากสภาพรถ แต่ในความเแ็นจริงแล้วอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น หากคนขับประมาทเชื่อว่าเป็นรถอะไรก็ไม่ปลอดภัย

เช่นเดียวกับนโยบายการเปลี่ยนรถตู้เป็นรถไมโครบัส กำลังเป็นที่สนใจของผู้คน หลังจาก “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลก่อน ไม่อนุญาตจดทะเบียนรถตู้โดยสารสาธารณะ เป็นรถโดยสารประจำทางอีกต่อไปเพื่อต้องการให้เปลี่ยนเป็นรถไมโครบัส

จากนโยบายดังกล่าวก่อนหน้านี้ นายบุญส่ง ศรสกุล นายกสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด ที่มีสมาชิกประมาณ 4,000 คน ระบุว่า รัฐบาลชุดเดิมได้จัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะ ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารประจำทางทุกหมวด ที่ได้รับผลกระทบจึงขอให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขยายอายุการใช้งานรถตู้สาธารณะทุกหมวดจาก 10 ปี เป็น 15 ปี  ขอให้ผู้ประกอบการที่มีรถตู้หมดอายุ เปลี่ยนเป็นรถมินิบัสด้วยความ สมัครใจ ไม่เป็นการบังคับ

รถตู้2

เรื่องดังกล่าวนายศักดิ์สยาม บอกว่าไม่ใช้มาตรการบังคับ แต่เป็นการสมัครใจ ไม่ได้ห้ามเปลี่ยนรถตู้เป็นรถไมโครบัส  เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ ผู้ประกอบการมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนรถจากรถตู้ไปเป็นรถไมโครบัสที่มีราคาสูง  คันละประมาณ 2.2 ล้านบาท จากราคารถตู้อยู่ที่ 1.2-1.3 ล้านบาทต่อคัน

นายศักดิ์สยาม มองว่าหากใช้มาตรการบังคับ  ผู้ประกอบการไม่มีกำลังซื้อรถไมโครบัส อาจจะทำให้ปริมาณรถในระบบที่ให้บริการลดลง ส่งผลกระทบกับประชาชนในอนาคต “ถ้าผู้ประกอบการเปลี่ยนรถตู้เป็นรถไมโครบัส ราคารถสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น การปรับราคาค่าโดยสารก็จะตามมา จะส่งผลกระทบกับประชาชนต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  ต้นทุนที่สูงขึ้นอาจจะส่งผลให้มีการขับรถเร็วเพื่อ “ทำรอบ” เพิ่มขึ้น” นายศักดิ์สยาม ย้ำ

การสนับสนุนให้ใช้รถไมโครบัสแทนรถตู้ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ยานพาหนะที่มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูง ต้องมีระบบบริหารจัดการรองรับ  ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจัดซื้อรถให้แก่ผู้ประกอบการ เพราะต้องมีการเปลี่ยนรถกว่า 10,000 คัน วงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท

นายศักดิ์สยาม มองว่าเกือบ 100% เป็นรถนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น ระบบการซ่อมบำรุง ชิ้นส่วนอะไหล่ และอุปกรณ์ ต้องมีความพร้อม อาจจะกระทบต่อเสถียรภาพของระบบริการประชาชนได้ รวมถึงการจัดหาสถานที่จอดรถในลักษณะสถานีจอดรถ เพื่อไม่ให้กระทบต่อปัญหาจราจร การจัดการเดินรถต้องไม่ซ้ำเติมปัญหาจราจรในปัจจุบัน

2MOT 2562 08 07 รวค.ประชุม งป.รัฐวิสาหกิจ by PP 19
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

อย่างไรก็ดี หากใช้มาตรการบังคับ อาจจะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมาก เลิกกิจการไป อาจจะนำไปสู่การผูกขาดโดยผู้ประกอบการรายใหญ่  แต่ระบบ“สมัครใจ” ทำให้มีการตรึงราคาค่าบริการไว้ได้ ไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน

นายศักดิ์สยาม บอกว่าประเด็นการเปลี่ยนรถตู้และรถไมโครบัส ขณะนี้ยังเปิดโอกาสให้ไมโครบัสเป็นทางเลือกของผู้ประกอบการ แทนที่จะบังคับให้รถตู้เปลี่ยนเป็นรถไมโคบัสทั้งหมด กำลังพิจารณาใน 3 ประเด็นคือ

1.การเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นรถไมโครบัสทั้งหมดทำได้จริงหรือไม่ เพราะรถไมโครบัสมีต้นทุนสูงกว่า ผู้ประกอบการบางส่วนจึงไม่พร้อม 2. สุดท้ายผู้ประกอบการจะผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้โดยสาร และ 3.รถไมโครบัสยังไม่แพร่หลายในตลาด ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ

“ผมไม่อยากให้จำกัดประเด็นนี้อยู่แค่การเปลี่ยนรถตู้เป็นรถไมโครบัสเท่านั้น แต่อยากให้มองประเด็นความปลอดภัยในภาพรวมด้วย เพราะสถิติชี้ว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่กว่า 70% เกิดจากตัวผู้ขับรถ อันดับ 2 สัดส่วน 20% เกิดจากการใช้ความเร็ว และอันดับ 3 สัดส่วน 10%  เกิดจากตัวรถ เพราะฉะนั้นจึงแก้ไขสาเหตุหลักอีก 2 ส่วน คือผู้ขับขี่ และการใช้ความเร็วด้วย”นายศักดิ์สยาม ย้ำ

รถไมโครบัส

ดังนั้น จึงมีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบสมรรถภาพพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะทั่วประเทศ จำนวน 1.2 ล้านคน และตรวจสภาพรถโดยสารสาธารณะทั่วประเทศจำนวนรวม 1.5 แสนคันใหม่ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน รวมถึงตั้งจุดตรวจรถโดยสารสาธารณะทั่วประเทศ 245 จุด ตรวจทุกวัน 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 ปี ดังนั้น ภายใน 1-3 เดือนนี้ก็คงจะได้รู้ว่าวิธีแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยแบบนี้มาถูกทางหรือไม่

ขณะที่มุมมองอีกด้านหนึ่ง มองว่าวันนี้โดยสภาพทางเศรษฐกิจ รถตู้ประกอบในประเทศ Local Content  ส่วนรถมินิบัสวันนี้ยังไม่มี ต้องนำเข้า 100% กำลังการผลิตของโรงงานในประเทศมีไม่พอ  ดังนั้นหากต้องนำเข้ารถไมโครบัส เท่ากับว่าไทยต้องเสียดุลการค้ามหาศาล ที่สำคัญหากต้องนำเข้ารถมินิบัสเข้ามาตัวเลขรถตู้ ที่ขายในประเทศก็ต้องลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงาน แรงงานก็มีปัญหาตามมา

สิ่งสำคัญอีกอย่างเมื่อหันไปใช้รถไมโครบัส ก็ไม่สามารถคุมราคาค่าโดยสารได้ เพราะรถตู้ 1 คัน ราคาอยู่ที่ประมาณ 1.2-1.3 ล้านบาท ขณะที่รถไมโครบัสราคาอยู่ที่คันละ 2.2 ล้านบาท ต่างกันคันละ 1 ล้านบาท ส่วนจำนวนที่นั่งรถตู้มีประมาณ 13 ที่นั่ง รถมินิบัสมี 20-22 ที่นั่ง เมื่อต้นทุนเปลี่ยน ราคาค่าโดยสารก็ต้องถูกปรับตามต้นทุน สิ่งนี้ผู้ประกอบการก็ต้องผลักภาระให้กับ“ผู้โดยสาร” เพราะถ้าต้องลงทุน 2 ล้านบาท สัดส่วนของต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 20% ต่อที่นั่ง

มินิบัส1

คำถามที่ตามมา1.ผู้โดยสารจะต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่มขึ้นไหม 2. Local Content ความต้องการที่จะผลิตรถตู้ภายในประเทศ และการจ้างงานในประเทศหายไปไหม ขาดดุลการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นหรือไม่

ดังนั้นการที่นายศักดิ์สยาม หาทางออกโดยวิธี “สมัครใจ” จะใช้รถตู้หรือรถไมโครบัสน่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ ที่สำคัญสามารถเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสารได้  นายศักดิ์สยาม ไม่บอกว่าจะยกเลิกใช้รถไมโครบัส ดังนั้นเมื่อรถตู้ครบอายุตรวจสอบสภาพ หากตรวจสภาพแล้วไม่ผ่าน ผู้ประกอบการจะเลือกใช้รถตู้ หรือรถไมโครบัสก็ได้ ซึ่งจะไม่เป็นการเพิ่มต้นทุน และผลกระทบต่อ Local Content

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการรถตู้ มองว่าหากรถตู้ต้องถูกปลดออกจากระบบประมาณ 10,000 คัน ต้องหันไปใช้รถไมโครบัสทั้งหมด เท่ากับว่าต้องใช้รถไมโครบัสนำเข้าทั้งหมด ในราคาคันละ 2 ล้านบาท ประเทศต้องสูญเสียเงินจากการนำเข้ารถมินิบัสไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ในระยะยาวก็จะกระทบกับโรงงานผลิตรถตู้ในประเทศแน่นอน

“มีการตั้งข้อสังเกตว่า กำลังจะเกิดเค้กชิ้นใหญ่ กับรถตู้หลายหมื่นคัน ที่กำลังจะหมดอายุ หากต้องใช้ระบบเดิมที่วางไว้ บังคับให้เปลี่ยนไปใช้รถไมโครบัส แทน ตรงนี้ใครคือผู้ที่มีส่วนได้เสียอยู่กับเม็ดเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท รถที่นำเข้าน่าจะมาจากจีน หรือไม่ก็ญี่ปุ่นเท่านั้น เพราะวันนี้กำลังการผลิตในประเทศ มีไม่ถึง5% ถามว่าหากต้องนำเข้าผลประโยชน์ตกอยู่กับใคร “ แหล่งข่าว ระบุ

มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากรถตู้ใช้ไม่ได้ แล้วรถตู้ที่ส่วนราชการใช้กันอยู่ทั้งหมด ต้องเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสด้วยหรือไม่ หากยึดแต่เพียงความปลอดภัย เพราะตอนนี้รถที่ส่วนราชการใช้อยู่ส่วนใหญ่ก็เป็นรถตู้ทั้งนั้น

สำหรับการตรวจสอบสภาพรถ กรมการขนส่งทางบก แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าต้องเปลี่ยนระบบการตรวจ ต้องเข้มงวดเรื่องการตรวจสอบ ความปลอดภัยของรถสภาพของรถ ไม่ใช่วิ่งเข้าไปตรวจสภาพรถอะไรก็ผ่านหมด

รถตู้3

ทั้งนี้กรมการขนส่งก็ต้องปรับระบบการตรวจสอบให้เข้มงวดขึ้น ให้ได้รถดีออกมาบริการประชาชน รถไม่ดีก็ต้องไม่ต่อทะเบียนให้ ดังนั้นวันนี้เราต้องมาดูกันว่า  ปัญหาคือรถใหม่ รถเก่า รถสภาพไม่ดีหรือไม่ ปัญหาเรื่องคนขับหรือไม่ ดังนั้นการแก้ปัญหาให้ตรงจุดควรไปเข้มงวดเรื่อง มาตรฐานรถ  การตรวจสภาพรถก็ต้องทำให้ดี

นอกจากนี้ รัฐบาลได้คำนึงถึงคิวจอดรถด้วยหรือไม่ เพราะทุกวันนี้รถตู้ยังเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อย รวมทั้งปัญหาการจราจร หากเป็นรถไมโครบัสจะไปหาพื้นที่จอดคิวที่ไหน ซึ่งจะเป็นปัญหาสังคม เรื่องที่จอดรถอีกมหาศาล จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดกันหลายมิติ  ถ้าต้องเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสหมด จะเอาพื้นที่ตรงไหนจอดรถ การจราจรจะติดขัดขนาดไหน

ขณะเดียวกันมีการศึกษาของกรมขนส่งทางบก ระบุว่า หากระยะทางเกิน 200  กิโลเมตรขึ้นไป ไม่ควรใช้รถตู้ให้บริการ เพราะอันตรายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็จะเกินระยะทาง 200 กิโลเมตร เพราะคนขับต้องใช้เวลาในการขับขี่ประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง โดยไม่มีการพัก หากวิ่งไป-กลับเท่ากับ 9 ชั่วโมง หากเป็นช่วงเทศกาลอาจจะมีการเพิ่มรอบขึ้นมาอีก แต่หากไม่ระยะทางไม่เกิน 200 กิโลเมตร การใช้รถตู้แทบจะไม่มีปัญหาอะไร

ดังนั้นการที่นายศักดิ์สยาม เปิดช่องสมัครใจให้กับการใช้รถตู้และรถไมโครบัสถือเป็นทางเลือกของผู้ประกอบการ 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight