Economics

‘สนธิรัตน์’ ใช้เวที AMEM คุยกัมพูชา หาข้อสรุป ‘พื้นที่ทับซ้อน’

‘สนธิรัตน์’ ใช้เวที AMEM หารือกัมพูชา หาข้อสรุปพื้นที่ทับซ้อน และผลักดันประเทศสู่การเป็น ศูนย์เชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน – ฮับแอลเอ็นจีของภูมิภาค

10785

วันนี้ (22 ส.ค. ) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงาน ได้เตรียมพร้อมจัดงาน AMEM (ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meeting : 37th) ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2 – 6 กันยายน 2562 ที่กรุงเทพฯ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีจัดประชุมอย่างเป็นทางการวันที่ 4 กันยายนนี้

ถือเป็นเวทีครั้งสำคัญในการหาแนวทางบริหารจัดการพลังงานอย่างประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ภูมิภาคอาเซียน รวมถึงพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานสู่ความยั่งยืน และแสดงศักยภาพของไทยในการเป็น “ศูนย์กลางพลังงานอาเซียน” 

โดยเวทีนี้จะใช้โอกาสจากการพบปะกับรัฐมนตรีด้านพลังงานของกัมพูชา หารือเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชาด้วย ส่วนจะคืบหน้ามากน้อยแค่ไหนหรือหาข้อสรุปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการหารือ

สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดงานประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนปี 2562  ปีนี้มีแนวคิดหลัก (Theme) ของการประชุม AMEM คือ “Advancing Energy Transition Through Partnership and Innovation”

เน้นความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจา รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานที่มีความยั่งยืนในอนาคต

โดยไทยจะมีการลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์พลังงานอาเซียนเพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน และพัฒนาบุคลากรไปพร้อมกัน เน้นการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ในฐานะภูมิภาคที่มีภาคเกษตรกรรมเป็นฐาน นำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ และเชื้อเพลิงชีวภาพ

สำหรับเวทีการประชุมในช่วงแรกวันที่ 2 – 3 กันยายน จะเป็นการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ส่วนการประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน จะมีขึ้นในวันที่ 4 – 5 กันยายน จะมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเปิดการประชุม

ประเด็นหารือจะเป็นการสรุปกิจกรรม และผลงานรวมทั้งข้อเสนอต่างๆ ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงานนำเสนอต่อรัฐมนตรีพลังงานของ 10 ประเทศ เพื่อรับทราบและเห็นชอบแผนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

ส่วนการจัดประชุม ทวิภาคีระหว่างประเทศอาเซียน กับประเทศคู่เจรจา กระทรวงพลังงานจะเปิดโอกาสให้ผู้นำระดับรัฐมนตรีพลังงานและเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนได้พบปะเจรจาระหว่างการประชุม

“การประชุม AMEM ครั้งนี้เป็นเวทีที่ไทย จะได้แสดงบทบาทขับเคลื่อนความมั่นคง และความยั่งยืนทางพลังงานร่วมกับประเทศในภูมิภาค และเป็นโอกาสที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพ ให้นานาชาติเห็นถึงความพร้อม ในการเป็นศูนย์เชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน และการเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) แอลเอ็นจี “

โดยในส่วนของการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้านั้น ไทยสามารถเป็นทางผ่านของการเชื่อมโยงระบบสายส่งที่มีเสถียรภาพและความมั่นคงเพียงพอ จึงจะมีการหารือต่อเนื่องถึงการเชื่อมต่อสายส่งไฟฟ้าระหว่างอาเซียน หรือ อาเซียน กริดด้วย

อีกเรื่องที่สำคัญของเวทีนี้ คือการที่เราจะได้แสดงศักยภาพผ่านกลไกของปตท.ในการเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งแอลเอ็นจี ซึ่งภูมิภาคนี้มีความต้องการสูงขึ้น

S 13623485

นอกเหนือจากเวทีประชุมความร่วมมือดังกล่าว ยังมีการจัดกิจกรรม ASEAN Energy Business Forum (AEBF) เป็นงานนิทรรศการ และการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานจากผู้ประกอบการ

รวมทั้งการจัดสัมมนาภายใต้หัวข้อหลัก “Renewable Energy Innovation Week” เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอาเซียน และประเทศต่าง ๆ อีกทั้งเปิดโอกาสให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันส่งเสริมนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนและดึงดูดนักลงทุน

ขณะเดียวกันจะมีการจัดพิธีมอบรางวัล ASEAN Energy Awards ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริม กระตุ้นให้ภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันผลักดันให้เกิดการขยายการผลิตการใช้พลังงานทดแทน และส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการอนุรักษ์พลังงาน

ทางด้านประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในการประชุม AMEM ครั้งที่ 37 จะสอดรับกับแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation: APAEC) พ.ศ. 2559 – 2568 ระยะที่ 1 พ.ศ. 2559 – 2563

อาทิ การปรับมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในอาเซียน เช่น  อุปกรณ์ส่องสว่างและเครื่องปรับอากาศ การลดความเข้มการใช้พลังงานให้ได้ 20 % ภายในปี 2563

และจะผลักดันให้อาเซียนมีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นเป็น 23 % ภายในปี 2568 การปรับปรุงฐานข้อมูลอาเซียนด้านพลังงานให้เป็นมาตรฐานสากลภายในปี 2563 การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเพื่อภาพลักษณ์ที่ดี การเสริมสร้างศักยภาพด้านพลังงานนิวเคลียร์ในด้านการกำกับดูแลเทคนิคและความปลอดภัย เป็นต้น

กรอบความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงานมี 7 สาขา

  1. ความเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน
  2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับขนส่งก๊าซธรรมชาติ
  3. การส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด
  4. การส่งเสริมพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ
  5. การส่งเสริมพลังงานทดแทน
  6. การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และอนุรักษ์พลังงาน
  7. การจัดทำนโยบายและแผนอาเซียนด้านพลังงาน รวมถึงเครือข่ายความร่วมมือด้านการกำกับกิจการพลังงาน

 

Avatar photo