Economics

เผยหนี้สาธารณะคงค้างสิ้น ก.ค. อยู่ที่ 41.45% ของจีดีพี

“กระทรวงคลัง” เผยหนี้สาธารณะคงค้างสิ้นเดือน ก.ค. อยู่ที่ 6.91 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.45% ของจีดีพี

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ2

นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยถึง สถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศว่า ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 ไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 41.45% ต่อจีดีพี หรือ 6.91 ล้านล้านบาท สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย เนื่องจากมีการกู้ขาดดุลงบประมาณปี 2562 ซึ่งดำเนินการกู้เงินไปแล้ว 3.8 แสนล้านบาท จากงบขาดดุลทั้งสิ้น 4.5 แสนล้านบาท โดยยังเหลือวงเงินอีก 1 แสนกว่าล้านบาทที่จะดำเนินการกู้ในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งกฎหมายเปิดทางให้ทำได้ โดยการกู้ขาดดุลที่ไม่ครบตามจำนวนเงินนั้น เพราะที่ผ่านมาส่วนราชการมีการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าในบางโครงการ

สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ 6.91 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.45% ของจีดีพี แบ่งเป็น หนี้รัฐบาล 5.68 ล้านล้านบาท หรือ 34.06% ของจีดีพี หนี้ของรัฐวิสาหกิจ 8.87 แสนล้านบาท คิดเป็น 5.31% หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) อยู่ที่ 3.36 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.02% และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ อยู่ที่ 9.36 พันล้านบาท คิดเป็น 0.06%

ส่วนในกรณีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวลดลงนั้น ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 รัฐบาลมีการชำระหนี้เงินกู้สูงกว่ารัฐบาลชุดก่อน โดยในปี 2554 มีการชำระหนี้ 2.16 แสนล้านบาท, ปี 2557 มีการชำระหนี้ 1.85 แสนล้านบาท และปี 2562 มีการชำระหนี้ 2.5 แสนล้านบาท ขณะที่งบชำระคืนเงินต้นตามกรอบงบประมาณรายจ่ายนั้น สูงขึ้นต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2554 อยู่ที่ 1.5% ของงบประมาณ, ปี 2557 อยู่ที่ 2.09% ของงบประมาณ และปี 2561 ชำระคืน 2.85% ของงบประมาณ

ทั้งนี้ จากข้อมูลย้อนหลังไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบกว่า สถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศไทย ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 ที่อยู่ที่ 43.33%, ปี 2558 ที่อยู่ที่ 42.56%, ปี 2559 ที่อยู่ที่ 41.79%, ปี 2560 ที่อยู่ที่ 41.87% และปี 2561 ที่อยู่ที่ 42.07% ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลมีการดูแลหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับทีเหมาะสม อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังที่ต้องไม่เกิน 60%ต่อจีดีพี จึงไม่มีปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะกระทบกับฐานะการคลังแน่นอน

“สิ่งที่ออกมาว่ารัฐบาลมีปัญหาเรื่องการบริหารหนี้สาธารณะจึงไม่เป็นความจริง เพราะจากตัวเลขถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี และรัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพื่อมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แถมยังมีการชำระเงินกู้เยอะกว่ารัฐบาลชุดก่อนด้วย” นางจินดารัตน์ กล่าว

สำหรับการสถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือปีงบประมาณ 2567 คาดว่าหนี้สาธารณะอยู่ที่ 46.73% ภายใต้เงื่อนไขว่าจีดีพีต้องขยายตัวที่ 4% ซึ่งยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังเช่นกัน โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 4.8% เท่านั้น ซึ่ง สบน. มีการบริหารหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหนี้ส่วนใหญ่กว่า 90% จะเป็นหนี้ระยะยาว ที่มีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนต่ำ และมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ จึงไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนที่เกิดขึ้นของตลาดการเงินในขณะนี้

69662527 1150928388445809 7724586647081189376 n

Avatar photo