Business

ชำแหละงบ ‘การบินไทย’ ทำไมขาดทุนยับ  6 พันล้าน

ยังคงเจอมรสุมรุนแรงสำหรับธุรกิจสายการบิน โดยเฉพาะบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ประกาศผลประกอบการครึ่งปีแรก 2562 รายได้รวมลดลง 8,405 ล้านบาท มาอยู่ที่ 92,300 ล้านบาท สวนทางกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น 562 ล้านบาท เป็น 100,239 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้ทำให้แค่ 6 เดือนแรกของปี “การบินไทย” ขาดทุนไปแล้ว 6,422 ล้านบาท เรียกว่าเป็นผลขาดทุนสุทธิสูงขึ้น เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนถึง 16 เท่าตัว !!! รวมถึงยังมีหนี้สินกว่า 245,133 ล้านบาท อีกด้วย 

การบินไทย5555

แม้การบินไทยจะยังดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจ ภายใต้โครงการ “มนตรา” ซึ่งมีเป้าหมายทำให้การบินไทยหลุดพ้นจากปัญหาขาดทุนสะสม และสามารถมีผลประกอบการที่มั่นคงต่อไปในอนาคต แต่ทำไมกลับยิ่งมีผลดำเนินงานที่ทรุดตัวลงแบบนี้ 

ความตึงเครียดจากสงครามการค้า เงินบาทที่แข็งค่า จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง หรือมีปัจจัยอื่นที่มากกว่านั้น ? อะไรคือสาเหตุสำคัญให้การบินไทยยังไม่ฟื้นสักที 

ผลงานไตรมาส 2 เป็นสิ่งที่กดภาพรวมธุรกิจการบินไทยทรุดหนักอย่างมาก เพราะย้อนกลับไปเมื่อช่วงไตรมาสแรกของปีก่อน บริษัทยังมีกำไรสุทธิ 456 ล้านบาท กลับกันในไตรมาสนี้ พลิกขาดทุนสูงถึง 6,878 ล้านบาท มากกว่าไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว 122% เพราะฉะนั้นเราลองมาแกะงบการเงินล่าสุด ระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคมของบริษัทกัน

“บาทแข็ง – คู่แข่งเพิ่ม ทำรายได้หด”

อันดับแรกคือรายได้จากค่าโดยสารสายการบินไทยลดลง 6.1% หรือหายไปกว่า 2,200 ล้านบาทจากปีก่อน ปัจจัยแรกมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้รายได้หลังแปลงจากเงินสกุลต่างประเทศลดลง 

ประกอบกับจำนวนผู้โดยสารลดลง 5.4% อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) อยู่ที่ 74.7% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม เนื่องด้วยการแข่งขันด้านราคาและเพิ่มเที่ยวบินของสายการบินราคาประหยัดที่แข่งขันรุนแรงขึ้นมาก 

อีกทั้งพิษสงครามการค้า ทำให้การบินไทยมีรายได้จากการขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ ลดลง 12.9% หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท 

จะเห็นว่าผลกระทบในไตรมาสนี้ของการบินไทย ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นปัจจัยภายนอก เพราะมองในด้านของต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ล้วนลดลงต่ำกว่าปีก่อน รวมถึงการตั้งสำรองก็ลดลงเช่นกัน สะท้อนจากสายการบินอื่นๆ ในประเทศที่มีการขาดทุนในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นเช่นกัน 

โดยสารกายบินแอร์เอชีย หรือ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ขาดทุน 482 ล้านบาท สายการบินนกแอร์ หรือ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ขาดทุน 674 ล้านบาท และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ หรือ  บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ขาดทุน 693 ล้านบาท

เครื่องบิน การบินไทย A380

“6 กลยุทธ์ SAVE การบินไทย”

เมื่อผลงานออกมาน่าผิดหวังแบบนี้ การบินไทยจึงไม่รอช้าที่จะออกมาตรการเร่งด่วน (อีกแล้ว) เพื่อ “ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้” กู้วิกฤตขององค์กร ผ่าน 6 กลยุทธ์ ดังนี้

1.SaveTG Co-Creation ควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ

2.Zero Waste Management โครงการที่จะช่วยประหยัดและสร้างมูลค่าเพิ่ม (Circular Economy) ให้ทั้งกับองค์กรและประเทศชาติโดยรวม

3.รุกตลาดใหม่ในไตรมาส 4 ของปีนี้ คือ บินตรงสู่เซนได ประเทศญี่ปุ่น

4.เพิ่มรายได้โดยใช้ Digital Marketing

5.THAI Synergy ผสานพลังกับ Café Amazon ขยายธุรกิจทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชีย

6.TG Group การบินไทยผนึกไทยสมายล์ เสริมความแข็งแกร่งในทุกมิติเพื่อให้เครือข่ายการบินเชื่อมต่ออย่างเป็นระบบ

การบินไทย

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่าเหนื่อยแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบินไทยหรือสายการบินอื่นๆ กับมรสุมที่ธุรกิจการบินยังต้องเผชิญต่อไป เพราะอย่างที่รู้กันคือในวันนี้ ช่วงที่เคยหอมหวานของธุรกิจสายการบินได้ผ่านไปแล้ว และไม่รู้ว่าจะกลับมาอีกครั้งเมื่อไหร่   

Avatar photo