Telecommunications

กสทช.เคาะประมูลใหม่ 2 คลื่น900-1800

ฐากร ตัณฑสิทธิ์
ฐากร ตัณฑสิทธิ์

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่าที่ประชุม กสทช. วันนี้ (25 มิถุนายน) รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการเพื่อดำเนินการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz ที่ไม่มีผู้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามช่วงเช้าวันนี้ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค มีหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช. แจ้งพร้อมเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz

“ดีแทค ตัดสินใจจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 แน่นอน ส่วนคลื่น 1800 เมื่อปรับหลักเกณฑ์การประมูลเป็นใบเล็ก ใบละ 5 MHz จำนวน 9 ใบ คงต้องรอดีแทคพิจารณาว่าจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 ด้วยหรือไม่” นายฐากร กล่าว

เคาะประมูล 2 คลื่น 900-1800

นอกจากนี้ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม เป็นวาระพิเศษเพื่อพิจารณาวาระเกี่ยวกับเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz  ช่วงเช้าวันนี้

โดยที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริง และสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว เพื่อความรอบคอบจึงได้มีมติให้สำนักงาน กสทช. นำร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. ในส่วนที่เกี่ยวกับใบอนุญาตที่จะปรับเป็นใบอนุญาตแบบใบเล็ก 9 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 MHz เป็นเวลา 3 วัน ในวันที่ 26 – 28 มิถุนายน 2561  ก่อนจะนำมาพิจารณาในที่ประชุม กสทช. อีกครั้งในวันที่ 2 กรกฎาคม 2561

ปรับเกณฑ์ประมูล1800 ใบละ 5 MHz

สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz แบบใบเล็ก ใบอนุญาตละ 5 MHz ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นต่อหนึ่งใบอนุญาต 5 MHz  ราคา 12,486 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท

จากเดิมกำหนดการประมูลคลื่น 1800 MHz  จำนวน 3 ใบ ใบละ 15 MHz จำนวน 45 MHz ราคาเริ่มต้นใบละ 37,457 ล้านบาท

สำหรับคลื่น 900 เดิม กสทช. ชะลอประมูลคลื่น เพื่อทำระบบป้องกันการรบกวนคลื่นของรถไฟความเร็วสูง โดยนำไปเปิดรับฟังความเห็นเรื่องงบลงทุนการทำระบบป้องกันการรบกวนคลื่นว่าใครจะเป็นทำระบบป้องกัน หลังจาก กสทช. เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ พบว่าต้องใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาทในการจัดทำระบบ ซึ่งยังไม่มีใครรับลงทุนดังกล่าว

กสทช.จึงกำหนดว่าหากไม่มีรายใดรับทำระบบป้องกันการรบกวนคลื่น ให้กำหนดเป็นเงื่อนไขการประมูลคลื่น 900 จะต้องเป็นผู้รับภาระทำระบบป้องกันการรบกวนคลื่น โดยกำหนดให้หักเงินจากราคาประมูลไม่เกิน 2,000 ล้านบาท เพื่อจัดทำระบบป้องกันการบกวนคลื่น เงินที่เหลือจึงเป็นรายได้จากการประมูลคลื่น ถือเป็นขั้นตอนที่เป็นประโยนช์กับรัฐมากที่สุด สำหรับคลื่น 900 กำหนดราคาเริ่มต้นประมูล 37,000 ล้านบาท

กำหนดประมูล 2 คลื่น วันที่ 18-19 ส.ค.นี้

ผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องวางหลักประกันการประมูล 2,500 ล้านบาท พร้อมกันนี้ที่ประชุม กสทช. ยังได้เห็นชอบกรอบเวลาในการจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ที่จะดำเนินการคู่ขนานกันไป ดังนี้
• วันที่ 5 ก.ค. 2561 จะนำร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ทั้งย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ทั้งสองฉบับไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
• วันที่ 6 ก.ค. – 7 ส.ค. 2561 ดำเนินการเชิญชวนและรับเอกสารคำขอผู้สนใจเข้าร่วมการประมูล
• วันที่ 8 ส.ค. 2561 เปิดให้ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูล
• วันที่ 9 – 13 ส.ค. 2561 พิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล
• วันที่ 15 ส.ค. 2561 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ
• วันที่ 16 – 17 ส.ค. 2561 ชี้แจงกระบวนการประมูลและ Mock Auction
• วันเสาร์ที่ 18 ส.ค. 2561 กำหนดให้เป็นวันประมูลคลื่น 900 MHz
• วันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค. 2561 กำหนดให้เป็นวันประมูลคลื่น 1800 MHz

ประมูลคลื่น 1800 MHz 900 MHz

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight