Technology

‘เฟซบุ๊ก’ จับมือ ‘รีด ฟอร์ เดอะ บลายด์ – เอชบีโอที’ เปิดตัวแชทบอทช่วยผู้พิการทางสายตา

เฟซบุ๊ก ประเทศไทย ร่วมกับ รีด ฟอร์ เดอะ บลายด์ (Read for the Blind)  ชุมชนเพื่อช่วยเหลือผู้มีความบกพร่องทางสายตาและ เอชบอท (HBOT) บริษัทพัฒนาและผลิตแชทบอท เปิดตัว  “Ready” แชทบอทสำหรับเมสเซนเจอร์ (Bot for Messenger) ที่เข้ามาช่วยกลุ่มรีด ฟอร์ เดอะ บลายด์ เชื่อมต่อและดำเนินการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่จำเป็น อีกทั้งยังเพิ่มการมีปฎิสัมพันธ์ร่วมกันกับกลุ่มอาสาสมัคร และช่วยคัดกรองอาสาสมัครได้อย่างมีคุณภาพ

Facebook Read for the Blind 5

ปัจจุบัน มีผู้บกพร่องด้านสายตาในเมืองไทยกว่า 700,000 คน และคนจำนวนมากในกลุ่มนี้ยังขาดเครื่องมือที่ช่วยเหลือด้านการสื่อสาร การนำเทคโนโลยีในกลุ่มปัญญาประดิษฐ์อย่างเช่นแชทบอทสำหรับชุมชน Read for the Blind ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กในครั้งนี้ ตั้งเป้าเพื่อช่วยเหลืออาสาสมัครกลุ่มเป้าหมายให้มีความเข้าใจในชุมชนนี้ยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการสร้างหนังสือเสียง และศึกษาหาวิธีทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายแมทธิว คิง ผู้เชี่ยวชาญระบบช่วยเหลือผู้พิการ วิศวกรเฟซบุ๊ก กล่าวว่า ในแต่ละวันมีการแชร์รูปภาพถึงมากกว่า 2,000 ล้านรูปบนเฟซบุ๊ก จึงทำให้โซลูชันที่ใช้เทคโนโลยี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้มากกว่าโซลูชันที่ใช้มนุษย์เป็นหลัก

“เรามองว่าการเข้าถึงข้อมูล เป็นการเปิดโอกาสให้กับทุกคน และเมื่อเรามีการเชื่อมต่อกัน ทุกๆ คนต่างได้รับประโยชน์และร่วมมือกันสร้างสรรค์ได้มากขึ้น”

Facebook Read for the Blind 4

ทั้งนี้ นายคิง เป็นวิศวกรที่มีความบกพร่องด้านสายตาคนแรกของเฟซบุ๊ก และเป็นผู้รับผิดชอบดูแลโปรเจคการอธิบายภาพด้วยเสียง (automatic alt-text) ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี  2559  มีการนำเทคโนดลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้บกพร่องทางสายตา ด้วยการใช้แคปชั่น วีดิโอที่ช่วยอธิบายวัตถุต่างๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในภาพ

“เราศึกษาวิธีการใช้งานเฟซบุ๊กของกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางสายตามาโดยตลอด เพื่อนำไปพัฒนาระบบ และช่วยให้คนกลุ่มนี้ เข้าถึง เชื่อมต่อกับผู้คน และสิ่งต่างๆ บนเฟซบุ๊กง่ายดายยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดโอกาสอื่นๆ อีกในอนาคต”

เขาบอกด้วยว่า เทคโนโลยีจดจำใบหน้า ยังช่วยให้กลุ่มผู้ใช้งานที่มีข้อจำกัดด้านการมองห็น สามารถทราบได้ว่ามีใคร หรือสิ่งใดปรากฎอยู่ในรูปบนนิวส์ฟีดของพวกเขาบ้าง

Facebook Read for the Blind 2

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (ฮู) แสดงให้เห็นว่า มีประชากร 285 ล้านคนที่สูญเสียความสามารถด้านการมองเห็นอย่างรุนแรง เช่น มีระดับค่าสายตาเกินกว่าระยะ  6 เมตร และต้องอาศัยเครื่องมือเพื่อช่วยขยายและอ่าน ในขณะที่มีจำนวน 39 ล้านคนเป็นผู้พิการทางสายตา ที่อาจต้องใช้โปรแกรมอ่านหน้าจอเข้าช่วย และราว 360 ล้านคน มีความผิดปกติด้านการได้ยินรวมอยู่ด้วย จนอาจต้องอาศัยการบรรยายแทนเสียง

การสำรวจของเฟซบุ๊ก ใน 50 ประเทศ ยังพบว่า มากกว่า 30% ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมีปัญหาต่างๆ อย่างน้อยหนึ่งด้าน เช่น ปัญหาด้านการมองเห็น การได้ยิน การพูด การเรียบเรียงความคิด การเดินหรือการหยิบจับ  ทั้ง 1 ใน 10 ของผู้คนจะต้องอาศัยฟังก์ชั่นขยายหน้าจอเมื่อใช้งานเบราว์เซอร์ของเฟซบุ๊ก  และราว 20% ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กจำเป็นต้องขยายขนาดตัวอักษรบนระบบปฏิบัติการไอโอเอส

Avatar photo