Business

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ผลต่อไทย

ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ออกรายงานภาวะธุรกิจในไตรมาส 2 ปี 2562 และแนวโน้มในไตรมาส 3 ปี 2562 ถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ  และจีน ที่ดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2561 มีแนวโน้มที่จะรุนแรงต่อเนื่อง สร้างแรงกดดันและความกังวลต่อภาคอุตสาหกรรม

ล่าสุดหลังจากที่สหรัฐ ประกาศปรับเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ 1/ จาก 10% เป็น 25%  เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 หลายฝ่ายประเมินและให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า การขึ้นภาษีดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณการค้าและการลงทุนของโลกลดลง

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทย ส่วนใหญ่กระทบในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก โดยจากการสอบถามผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมการผลิตในทุกภูมิภาค พบว่าได้รับผลกระทบเชิงลบทางอ้อม จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว (Global Slowdown Effect) เป็นสำคัญ ทำให้การผลิตและส่งออกในหลายอุตสาหกรรมของไทย มีแนวโน้มชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยางพาราแปรรูป และรถยนต์

อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเชิงลบทางตรง จากการเป็นห่วงโซ่การผลิตให้กับจีน (Supply Chain Effect) ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก และยางพาราแปรรูป อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูป ยังได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการผลิตยางล้อของจีน (ใช้วัตถุดิบยางพาราแปรรูป) เพื่อส่งออกไปสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับการผลิตยางล้อทั้งหมดของจีน และการส่งออกไปสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นยางล้อขนาดใหญ่ซึ่งจีนมีอำนาจต่อรองสูง

จีน1

นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมที่เสี่ยงจากการทุ่มตลาด (Dumping) จากสินค้าจีนด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องจักรซึ่งเป็นสินค้าที่จีนได้เปรียบด้านต้นทุนและขายในราคาต่ำ ส่วนการทุ่มตลาดของจีนในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีผลกระทบค่อนข้างจำกัด เนื่องจากสินค้าจีนส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำ ขณะที่คนไทยนิยมใช้สินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูง

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเชิงบวก จากการส่งออกทดแทนในสหรัฐ และจีน (Trade Diversion) อาทิ ยางล้อรถยนต์และรถยนต์ ในกลุ่ม 1stTier ที่ส่งออกไปสหรัฐ ได้มากขึ้น รวมถึงการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยเพื่อเลี่ยงมาตรการภาษี (Investment Diversion) อาทิ อุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ ที่จีนมีแนวโน้มขยายกำลังการผลิตยางล้อ ในโรงงานเดิมที่มีฐานการผลิตในไทย และอาจมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และเหล็ก

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ จีนมีแนวโน้มลงทุนแบบชั่วคราวผ่านการเช่าโรงงานหรือคลังสินค้า คาดว่าผลบวกดังกล่าวไม่อาจชดเชยผลลบทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้

 

การค้า11

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight