General

อย่าประมาท! ย้ำนักวิ่งมาราธอนประเมินร่างกายก่อนลงสนาม

สาธารณสุข แนะนักวิ่งมาราธอน ประเมินความพร้อมของร่างกาย ย้ำให้ผู้ชายอายุ 40 ปี และผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป รับการตรวจสุขภาพประจำทุกปี ก่อนวิ่งพักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มสุรา เน้นผู้จัดงานต้องปฏิบัติตามคู่มือการจัดกิจกรรมของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ

การวิ่งเป็นการออกกำลังกาย ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก มีการจัดงานวิ่งระยะทางต่างๆหลายพื้นที่ทั่วประเทศแทบทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือนักขัตฤกษ์ แต่กระแสวิ่งก็มาพร้อมกับข่าวคราวนักวิ่งเสียชีวิตเป็นระยะๆ โดยเฉพาะการวิ่งระยะมาราธอน 42 กิโลเมตร

DSC 0486 ใหม่

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีนักวิ่งเสียชีวิตซึ่งมีข่าวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในงานวิ่งที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่่ผ่านมา ซึ่งมีนักวิ่งเสียชีวิตถึง 2 ราย ว่าขอแนะนำให้ผู้ชายที่มีอายุ 40 ปีและผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป ขอให้ไปรับการตรวจสุขภาพประจำทุกปี ประเมินภาวะ และความเสี่ยงสุขภาพ หรือโรคต่าง ๆ เพื่อให้ออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย

โดยเฉพาะนักวิ่งมาราธอน ที่ต้องวิ่งต่อเนื่องในระยะทางไกล จะต้องผ่านการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง

ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายปรับตัว ให้พร้อมกับกิจกรรมทางกายที่มีความเข้มข้นสูง และระยะเวลานาน มีการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ประเมินร่างกาย และต้องเตรียมร่างกายให้มีความพร้อมก่อนวิ่ง ทั้งระบบกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนโลหิตและหายใจ

เพื่อป้องกันอาการหน้ามืด หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เจ็บกล้ามเนื้อ รวมถึงหมดสติและหัวใจหยุดเต้นได้ นักวิ่งควรทานอาหารคาร์โบไฮเดรตให้มากขึ้นก่อนวิ่ง 1 วัน พักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มสุรา และเช้าวันวิ่งควรทานอาหารที่ไม่หนัก เช่น นม กล้วย

นอกจากนี้ ควรเตรียมตัวและอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น หมวก แว่นตากันแดด ครีมกันแดด

292890

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การวิ่งมาราธอนในระดับโลกนั้น สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations: IAFF) ได้จัดทำมาตรฐานการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนน

โดยเน้นที่การออกแบบการแข่งขัน ทั้งการวางเส้นทาง ความปลอดภัย จัดให้มีน้ำดื่มและอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวก กับผู้เข้าร่วมการแข่งขัน สำหรับประเทศไทยพบว่าได้มีการนำมาพัฒนาต่อยอด โดยคณะกรรมการมาตรฐานการจัดงานวิ่งไทย ด้วยการสนับสนุนจากสมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่ง เพื่อสุขภาพไทย สสส. และสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่ปี 2557 และปรับปรุงในปี 2562

ในคู่มือได้ระบุการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนนไว้ชัดเจน ว่าการจัดการแข่งขัน วิ่งมาราธอนต้องมีหน่วยแพทย์ รถพยาบาล ประจำตลอดการแข่งขัน รวมถึงจุดปฐมพยาบาลตลอดเส้นทางการแข่งขัน โดยเฉพาะตำแหน่งที่มีความเสี่ยงสูง ว่าอาจมีผู้บาดเจ็บ หรือตำแหน่งที่ยากต่อการเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาล

นอกจากนี้ จุดบริการปฐมพยาบาลหลัก ควรมีเครื่องมือ และบุคลากรเทียบเท่ากับจุดให้บริการทางการแพทย์หลังเส้นชัย จุดบริการปฐมพยาบาลระดับรองลงไป ควรตั้งอยู่คู่กับจุดให้น้ำ เพื่อปฐมพยาบาล และช่วยให้นักวิ่งคลายความไม่สบายกาย เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น อาการพอง และเสียดสี และเพื่อขนย้ายผู้ป่วย ที่มีอาการหนักไปยังสถานที่ซึ่งมีอุปกรณ์รองรับที่เหมาะสมต่อไป โดยควรมีจุดบริการปฐมพยาบาลทุก 5 กิโลเมตร และตั้งอยู่ในระยะประมาณ 100 เมตร หลังจากจุดให้น้ำ

Avatar photo