Economics

ปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศกดดันหนัก ‘ทีเอ็มบี’ หั่นเป้าเศรษฐกิจโตต่ำกว่า 3%

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics แถลงปรับตัวเลขคาดการณ์ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ 2.7% จากเดิมที่ประเมินไว้ในระดับ 3.0%  เนื่องมาจากข้อมูลเศรษฐกิจต่างๆ ในช่วงครึ่งปีแรก ออกมาย่ำแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้แรงส่งต่อไปในเวลาที่เหลืออยู่ของปีนี้มีข้อจำกัด

S 15720545

อย่างไรก็ดี เขามองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ จะช่วยพยุงการบริโภคในประเทศ ท่ามกลางแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก อาทิ สงครามการค้า ที่ส่อเค้าถึงทางตัน จึงเป็นเรื่องยาก ที่จะเห็นการส่งออกฟื้นตัวขึ้นมาในปีนี้ แต่ยังมองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจในปีหน้า จะกลับมาโตได้ 3%

สำหรับสถานการณ์ส่งออกไทยนั้น  นายนริศ ประเมินว่า อยู่ในสถานะทรุดหนัก หดตัว 2.7% เพราะซัพพลายเชนโลกได้รับผลกระทบมากกว่าคาด หดตัวเกือบทุกตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน (-5.5%) อาเซียน (-4%) ยุโรป (-2.7%) และในเกือบทุกสินค้าสำคัญ สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศทั้งเศรษฐกิจหลักที่เป็นคู่ค้าชะลอตัวมากขึ้น และแรงกดดันสงครามการค้าที่ต้องลุ้นผลการเจรจาในแต่ละรอบ

นายนริศเตือนด้วยว่า หากสหรัฐประกาศขึ้นภาษีในหมวดยานยนต์ และชิ้นส่วนที่อัตรา 25% จากทุกประเทศ (มาตรา 232) ในเดือนพฤศจิกายน ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกยานยนต์ทั่วโลก ซึ่งของไทยคิดเป็น11% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด  สอดคล้องกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับประมาณการการค้าโลกลงจาก 3.4% เหลือเพียง 2.5% นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทเป็นอีกปัจจัยที่มีส่วนทำให้ยังคงไม่เห็นการฟื้นตัวของการส่งออกได้เร็วในปีนี้

นอกจากนี้  ยังคาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีจำนวนไม่ตรงตามเป้าที่ตั้งไว้  ขยายตัวแค่ 2%  ที่ 39.1 ล้านคน ชะลอลงมากจากปี 2561 ที่ขยายตัว 7.5%

ปัจจัยลบยังคงเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเดินทางเข้าไทยน้อยลงจากเดิมทั้งปีอาจเห็นตัวเลขแตะ 40 ล้านคน  ประกอบกับเงินบาทแข็งค่าทุบสถิติ ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย

การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบกับเงินหยวน จึงทำให้นักท่องเที่ยวจีนยังนิยมไปเที่ยวญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อยู่ แต่กลับมาเที่ยวไทยลดลง เพราะค่าเงินทั้งสองสกุลนี้ไม่ได้แข็งค่ามากเมื่อเทียบกับค่าเงินหยวน

ขณะที่การลงทุนในภาครัฐ ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะต้องรองบประมาณปี 2563 การเบิกจ่ายงบลงทุนมีแนวโน้มต่ำกว่าเป้า โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ อีกทั้ง ถ้าเทียบเม็ดเงินลงทุนของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจแล้วก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากนัก โดยเฉพาะงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่ลดลงจากปีก่อนเกือบ 25% เหลือเพียง 3.33 แสนล้านบาท จากจำนวน 4.45 แสนล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว

S 15720539

แต่ความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณปี 2563 จะทำให้เริ่มเห็นเม็ดเงินจากการลงทุนภาครัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในปีหน้า

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนนั้น มีแนวโน้มว่าจะไม่มีการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยประเมินว่า ตลอดทั้งปีจะมีอัตราการเติบโตราว 1.8% แม้บริษัทไทยจะมีสภาพคล่องเหลือ แต่ปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่าปีที่ผ่านมาโดยอยู่ที่ระดับ 68% กดดันความต้องการขยายการลงทุน สะท้อนจากความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่อยู่ระดับต่ำกว่า 50 เป็นไตรมาสแรกในรอบเกือบสามปี

อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มการลงทุนเอกชนจะเริ่มปรับดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป ผลจากมาตรการกระตุ้นการลงทุนของรัฐบาล ทั้งนโยบายภาษีและการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลาง และย่อม (เอสเอ็มอี) ผ่านมาตรการสินเชื่อ

นายนริศ มองด้วยว่า การบริโภคภาคเอกชนยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยประเมินว่า ตลอดทั้งปีจะขยายตัวได้ 3.8% เพราะได้แรงหนุนเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3

ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวไปแล้ว  4.9%  แรงหนุนจากเข้าซื้อสินค้าไม่คงทน สอดคล้องกับหนี้ครัวเรือนไทยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากมาอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท  ซึ่ง 1 ใน 3 ของจำนวนนี้ เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล

สำหรับในช่วงที่เหลือ ปัจจัยกดดันการบริโภคประกอบด้วยการชะลอตัวของเศรษฐกิจ สถานการณ์ภัยแล้ง และปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งในช่วงต่อไปจะมีข้อจำกัดของการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อย จากแนวโน้มการนำมาตรการควบคุมภาระหนี้สินต่อรายได้ (DSR) มาใช้

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะได้รับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปรับเพิ่มเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระตุ้นการบริโภคในประเทศ รวมวงเงินกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท และการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอีกกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนของสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น หากเทียบเคียงกับเอลนีโญปี 2558 และไม่มีมาตรการบรรเทาผลกระทบ จะส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงประมาณ 11%

bot 0

นายนริศ คาดการณ์ด้วยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในไตรมาส 4 ทำให้อยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ และอาจลดได้อีก 1 ครั้ง ถ้าเศรษฐกิจแย่กว่าคาด และเงินเฟ้อยังคงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย จากการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดมาอยู่ที่ระดับ 1.50% และเริ่มเห็นการส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังระบบธนาคารพาณิชย์แล้ว

แต่เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงสูง ซึ่งการใช้ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย จะเป็นแรงช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับ ธปท.มีมาตรการ Macroprudential เพื่อดูแลความเสี่ยงในเรื่องเสถียรภาพการเงิน

ค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มแข็งค่าแตะ 30.5 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่า 6% ธปท.หั่นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 1.50% ในเดือนสิงหาคม แต่ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ 30.83-30.95 บาทต่อดอลลาร์ จากการที่นักลงทุนยังมองเงินบาทเป็นสินทรัพย์เสี่ยงน้อย และยังมีปัจจัยหนุนในหลายด้าน  ทั้งดุลการค้าที่ยังเป็นบวก การท่องเที่ยวที่ยังขยยตัว  และแนวโน้มกระแสเงินทุนไหลเข้าสุทธิ

ขณะที่ค่าเงินเอเชียสกุลอื่นๆ ยังอ่อนค่าลงตามเงินหยวนจากการที่ทางการจีนปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าจนทะลุ 7 หยวนต่อดอลลาร์

Avatar photo