COLUMNISTS

มีคนรอดอกเบี้ยขึ้น

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
903

แม้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งที่ 4 ปีนี้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ 1.5 % โดยให้เหตุผลว่า นโยบายการเงินผ่อนคลายเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ส่วนสุ้มเสียงในตลาด มีทั้งยังเชื่อว่า แบงก์ชาติคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายข้ามไปถึงปี 2562 ตามที่ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้า แต่บางสำนักฟันธงฉับเลยว่า ปลายปีนี้ได้เห็น กนง. ปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 % เป็น 1.75 % โดยยกเหตุผลชุดใหญ่มาสนับสนุนมุมมอง

อาทิ แรงกดดันจากดอกเบี้ยสหรัฐที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังมีเป้าหมายปรับ(อัตราดอกเบี้ย) ขึ้นอีก 2 ครั้งในช่วงหลังปีนี้ ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐกับไทยถ่างกว้างยิ่งขึ้นไปอีก หลังปรับขึ้น 0.25 % เป็น 1.75-2.0 % ในการประชุมครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ประกอบกับ ธนาคารกลาง มาเลเชีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกันถ้วนหน้า เพื่อดูแลค่าเงินของตน ทำให้นโยบายการเงินแบงก์ชาติดูแปลกแยกจากธนาคารกลางในภูมิภาค

interest rate 149879 640

ชาติชาย พยุหานาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน บอกกับนักข่าวเมื่ออาทิตย์ก่อนว่า หากอัตราดอกเบี้ย(นโยบาย)ระหว่างสหรัฐกับไทยเกิน 1 % จะเป็นเรื่องยากสำหรับแบงก์ชาติที่จะยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (1.5 % ) เพราะเป็นการฝืนตลาดซึ่งจะมีผลต่อเงินทุนไหลออกและค่าเงิน

“หากเงินบาทอ่อนลงไปอีกโอกาสที่แบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ย(นโยบาย)ก็มีมากขึ้น”นักการเงินคนหนึ่ง ให้ความเห็น

ทิศทางดอกเบี้ยกำลังเปลี่ยน ภาวะขาขึ้น กำลังมาแทน ขาลง ที่กุมทิศทาง ตลาดเงินมาตั้งแต่ 2540 ก่อน อัตราดอกเบี้ยปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2558 ที่แบงก์ชาติเริ่ม ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายของ โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ 1.5 % มาจนถึงปัจจุบัน

วันนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) อยู่ 6.03 % ถือว่าต่ำสุดในรอบ 8 ปี ส่วน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) ปัจจุบัน 7.12 % ต่ำสุดนับจากปี 2554

นักวิเคราะห์สำนักหนึ่งระบุว่า ที่ผ่านมาหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับ 0.25 % จะดัน อัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ขึ้นไปราว 0.13 % โดยประมาณ ซึ่งหมายความว่ากลุ่ม เอสเอ็มอี ที่กู้เงินด้วยอัตราดอกเบี้ยเอ็มเอาร์อาร์จะได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรก

เช่นเดียวกับ กลุ่มลูกหนี้กู้ซื้อบ้าน ที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญาจะผูกโยงกับ อัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ เช่นกัน โปรโมชั่นแบบกู้ซื้อบ้านปีแรก เอ็มอาร์อาร์ หักลบจากอัตราดอกเบี้ยตามโปรโมชั่นเหลือ 2 % เศษปีแรกแบบสองสามปีที่แล้ว คงไม่หวนกลับมาให้เห็นกันอีก

สำหรับคนกู้ซื้อบ้านส่วนใหญ่ ดอกเบี้ยขึ้นไม่ถึงเสี้ยวเปอร์เซ็นต์ก็เป็นภาระใหญ่แล้ว

นอกจากนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จาก ภาวะดอกเบี้ยขาลง ตลอดหลายปีที่ผ่านมาจนเกิดความกังวลเป็นระยะๆ ว่า จะเกิดภาวะฟองสบู่ ย่อมได้รับผลกระทบจากทิศทางดอกเบี้ยเปลี่ยน อย่างน้อย 4 ด้าน คือ

หนึ่ง ภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น สอง ดอกเบี้ยที่ขยับขึ้นคงมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อไม่มากก็น้อย สาม ดอกเบี้ยขาขึ้นจะซ้ำเติมสถานการณ์ รีเจค หรือปฏิเสธเงินกู้ที่อุตสาหกรรมเผชิญอยู่เวลานี้ และ สี่ ดอกเบี้ยที่กำลังขยับจะทอนความน่าสนใจ การนำเสนอ “ผลตอบแทน” จากการซื้อคอนโดมิเนียมดีกว่าฝากแบงก์

แม้ดอกเบี้ยขาขึ้นสร้างความกังวลให้ทุกภาคส่วน หากยังมีคนอีกกลุ่มที่กลับเฝ้ารอการขยับขึ้นของ อัตราดอกเบี้ย แต่เป็น ดอกเบี้ยเงินฝาก โดยธรรมชาติอัตราดอกเบี้ยต้องขยับขึ้นสองขาอยู่แล้ว ถึงดอกเบี้ยเงินฝากจะขยับช้า หรือ ต่ำกว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ยังไงก็ต้องขยับ ช่วงฤดูดอกเบี้ยต่ำอันยาวนานโดยเฉพาะหลังปี 2559 ที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เหลือแค่ 0.30 % เงินฝากประจำ 1 ปี แบงก์ให้ดอกเบี้ย 1.30 % ผลคือ เงินฝากก้อนใหญ่ไหลไปหา สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่เสนออัตราดอกเบี้ยสูงกว่า

(ปัจจุบันสหกรณ์ฯใหญ่ให้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ระหว่าง 1-1.75 % ฝากประจำหนึ่งปี 3.50 %) และสหกรณ์บางแห่งนำเงินฝากที่ระดมมาด้วยเงินฝากสูงกว่าระบบ ไปปล่อยกู้ หรือ ลงทุน แบบไม่รับผิดขอบ ไม่กลัวความเสี่ยง เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์เครดิตยูเนียน จนเกิดวิกฤติสหกรณ์ออมทรัพย์เมื่อปีที่ที่ผ่านมา กระทั่ง กรมส่งเสริมสหกรณ์ฯต้องร่างกฎหมายออกมาควบคุมและออกประกาศกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

คนกลุ่มนี้คงยินดีที่ดอกเบี้ย (เงินฝาก) ในระบบแบงก์ ขยับขึ้น แม้ดอกเบี้ยจะต่ำกว่าสหกรณ์ฯ แต่ความเสี่ยงก็ต่ำกว่าเช่นกัน

แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นที่กำลังจะมาถึง จึงไม่ได้มาแต่ภาระหากยังมอบความหวังควบคู่กันไปด้วย อันเป็นสภาวะสมดุลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง