Economics

เช็คเส้นทางขยะกทม. 10,706 ตัน/วัน ไปไหน?

เชื่อว่า “มาเรียม” พะยูนน้อยแห่งท้องทะเลตรัง จะไม่ใช่สัตว์ทะเลตัวสุดท้าย ที่สังเวยให้กับ “ขยะ” ตราบใดที่ทุกคนยังไม่ร่วมมือ  ยังเป็นส่วนหนึ่งทำให้ขยะเพิ่มขึ้นทุกวันโดยไม่จำเป็น เพิกเฉยกับการคัดแยกขยะ รวมไปถึงการทิ้งขยะลงข้างทาง และแหล่งน้ำสาธารณะอย่างไม่รู้สึกรู้สาว่า สุดท้ายแล้วเพียง 1 ชิ้นที่ปล่อยจากมือ จะสามารถไหลลงทะเล และทำให้สัตว์น้อยใหญ่จบชีวิตลง

sun 4269841 640

สโคปมาที่กรุงเทพ พื้นที่ที่มีการผลิตขยะออกมามากที่สุด เป็นอีกส่วนหนึ่งของการเพิ่มขยะในทะเล สถานการณ์ตอนนี้ไม่ได้ดีขึ้นจากเมื่อหลายปีก่อน เพราะขยะยังเพิ่มขึ้นทุกวัน จากผู้คนที่อพยพสู่เมืองกรุง ที่มีรวมกว่า 11 ล้านคน เป็นผู้มีทะเบียนในกรุงเทพเพียงครึ่งหนึ่ง หรือ 5.7 ล้านคนอีก 5.2 ล้านคนอยู่นอกทะเบียน

ย้อนดู 5 ปีก่อน ปริมาณขยะเพิ่มจาก 9,940 ตันต่อวันในปี 2557 เป็น 10,706 ตันต่อวันในปี 2561

DG 190730 0009

บริหารจัดการอย่างไรกับขยะกองมหึมา นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังรับบทหนักในเวลานี้ บอกว่า การบริหารจัดการขยะของกรุงเทพพยายามปรับปรุงมาตามลำดับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้ทันกับการผลิตขยะต่อคนที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันเราวางระบบเก็บขยะ โดยรถเก็บขยะ 2,140 คัน เป็นรถของกทม. 495 คัน รถเช่า 1,571 คัน เรือเก็บขยะ 111 ลำ มีพนักงานเก็บขนขยะรวมทั้งสิ้น 10,454 คน

วางระบบการเก็บขยะ โดยให้ประชาชนทิ้งตั้งแต่เวลา 18.00-03.00 น.ทุกวัน และรถเก็บขยะคันสุดท้าย จะต้องเก็บขนออกไปไม่เกิน 05.30 น.ส่วนชุมชนตรอกซอยพิจารณาตามความเหมาะสม

oooo

โดยรถจะขนส่งไปยังสถานีขนถ่าย 3 แห่งประกอบด้วย สถานีขนถ่าย หนองแขม 3,400 ตันต่อวัน คิดเป็น 26% อ่อนนุช 2,626 ตันต่อวัน คิดเป็น 25% และสายไหม 2,400 ตันต่อวัน คิดเป็น 23% หากสถานีฯไหนขัดข้อง ก็จะบริหารจัดการโดยขนถ่ายไปอีกสถานีฯ

แล้วไปไหนต่อ? ที่สถานีฯหนองแขม และสายไหม นำไปฝังกลบที่บ่อฝังกลบ กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เป็นส่วนใหญ่ มีเพียง 5% ของขยะหนองแขมเข้าเตาเผา 500 ตันต่อวัน ส่วนที่สถานีฯอ่อนนุชขนไปฝังกลบที่ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และขยะ 15% เข้าโรงหมักปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในงานปลูกต้นไม้ของกทม.

“ตอนนี้เราจะไม่ให้มีขยะกองอยู่ที่หนองแขม สายไหม และอ่อนนุช โดยมีข้อตกลงกับเอกชนที่รับขนในการนำออกไปทุกวันยังศูนย์ฝังกลบทุกวัน ให้ทั้ง 3 แห่งเป็นเพียงสถานีขนถ่าย ไม่ให้มีขยะค้างเทกอง  เพราะตอนนี้มีชุมชนเข้ามาอยู่ข้างๆแล้ว จากก่อนหน้านี้เป็นที่โล่ง แต่บางครั้งการบริหารจัดการก็สะดุดบ้าง เช่น ช่วงเดือนมิ.ย.ที่สถานีฯหนองแขมอยู่ในช่วงการหาผู้รับจ้างขนขยะไปยังศูนย์ฝังกลบตามสัญญาใหม่ จึงต้องขนมาที่อ่อนนุชก่อน แต่ขณะนี้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว “

สำหรับขยะติดเชื้อจะเก็บขน และกำจัดโดยบริษัทกรุงเทพธนาคม 39 ตันต่อวัน ส่วนขยะอันตราย กำจัดโดย บริษัทกิจการร่วมค้า NIT&W ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 2.7 ตันต่อวัน ส่วนขยะประเภทกิ่งไม้ เศษผัก และเปลือกผลไม้ 70 ตันต่อวันผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์

กลับไปดูวิธีการจัดการไม่ให้กองขยะมหาศาลที่เทกองพอกพูนขึ้นเป็นภูเขาลูกใหม่ท่ามกลางชุมชนที่รุกเข้ามา ทั้งที่กำแพงแสน และพนมสารคาม นายชาตรี เล่าว่า ที่พนมสารคาม เราฝังกลบรวม 6 ชั้นๆละ6 ‏‏‏ เมตร แล้วปิดทับด้วยดินความหนา 30 ซม.ทุกวัน  ส่วนกำแพงแสน ฝังกลบรวม ‏5 ชั้นๆละ ‏3เมตร แล้วปิดทับด้วยดินความหนา 30 ซม.ทุกวัน

“ต้องใช้ดินปิดทับทุกวันๆ เพราะขยะส่วนใหญ่ ยังขาดการคัดแยกไปสู่การรีไซเคิล ขยะ 10,526 ตันต่อวัน จาก 10,706 ตันต่อวันต้องเข้าสู่การฝังกลบ มีเพียง 180 ตันต่อวันที่ถูกนำไปรีไซเคิล” 

IMG 20190801 223726

ทางออกของกรุงเทพ เพื่อลดความสูงของจุดฝังกลบขยะไม่ให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ทางเดียวที่เร็วที่สุด และได้ประโยชน์สูงสุด ผลกระทบน้อยที่สุด ก็คือการนำขยะมาผลิตเป็นพลังงาน ณ แหล่งกำเนิดขยะ เพื่อลดการขนส่งขยะไปที่อื่นๆ

นายชาตรี บอกว่า ตอนนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปไกล จึงได้ทำโครงการเตาเผาขยะและผลิตไฟฟ้าได้ด้วย โดยทำขนาดเล็ก มาทดสอบระบบก่อน ที่สถานีฯหนองแขม เป็นเตาเผา 2 เตา ขนาด 250 ตันต่อเตา อุณหภูมิห้องเผาไหม้ ไม่ต่ำกว่า 1,000 องศาเซลเซียส มีระบบบำบัดมลพิษก่อนปล่อยไอเสียออกสู่ชั้นบรรยากาศ และผลิตไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 5 เมกะวัตต์ บริหารจัดการโรงงานฯ ในรูปแบบ  BOT (Built – Operate – Transfer) ระยะเวลา 20 ปี

ใช้เทคโนโลยีเตาเผาแบบ Stoker Type ซึ่งผ่านการศึกษา และดูงานมาแล้วนับไม่ถ้วน พบว่าเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทย ที่มีขยะเปียกชื้นมากที่สุด 

และพบว่าได้ผลดี จึงดำเนินโครงการขยายเตาเผาเพิ่มเติม กำหนดให้เป็นเทคโนโลยีนี้ ดำเนินการที่สถานีฯหนองแขม และอ่อนนุช ขนาดไม่เกิน 1,000 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้ 30 เมกกะวัตต์ต่อแห่ง ดำเนินการภายในปี 2565 ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการอนุมัติบริษัทที่ชนะประมูล เพื่อเดินหน้าโครงการ

การจัดการขยะที่กรุงเทพ ไม่ได้ใช้แค่การเผาอย่างเดียวเท่านั้น ปัจจุบันนำวิธีการต่างๆมาใช้ผสมผสานตามความเหมาะสม เช่น ระบบ MBT (Mechanical-Biological Treatment จัดการมูลฝอยชุมชน เพื่อผลิตพลังงาน โดยใช้เทคโนโลยีเชิงกลชีวภาพ ขนาด 800 ตันต่อวัน กำลังผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 3 เมกกะวัตต์  และระบบ Compactor  ขนาด 1,000 ตันต่อวัน ที่สถานีฯหนองแขม และสายไหม รวมไปถึงการทำศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะและของเสียชุมชน  300 ตันต่อวัน ณ สถานีฯอ่อนนุช

โครงการที่กทม.ทำทั้งหมด เพื่อไม่ให้เราเป็นเพียงผู้ยืนมองขยะกองสูงท่วมหัววันแล้ววันเล่า แต่พยายามหาวิธีการต่างๆนานามาทำให้การนำขยะไปฝังกลบมูลฝอยลดลง ซึ่งเป้าหมายหลังจากทำโครงการต่างๆแล้วนั้น จะช่วยกำจัดขยะได้ในปริมาณ 10,500 ตันต่อวันในปี 2566 เป็นต้นไป หรือเกือบครอบคลุมขยะที่เข้ามาในแต่วัน

ขณะเดียวกันกทม.ยังอยู่ระหว่างร่างข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือ มูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. …. เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะทุกคนต่างผลิตขยะอยู่ 1.5 กิโลกรัมต่อวัน

ปัจจุบันกทม.มีต้นทุนในการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนอยู่ 228 บาทต่อเดือน หรือมีค่าใช้จ่ายรวม ณ ปี 2561 ที่ 6,924 ล้านบาท

แยกต้นทุนการจัดการขยะของกทม. แบ่งเป็นสิ่งปฏิกูล 2,992 บาทต่อลบ.ม. มูลฝอยทั่วไป 228 บาทต่อเดือน มูลฝอยติดเชื้อ 480 บาทต่อเดือนจากสถานพยาบาล 2,783 แห่ง ณ ปี 2561 รวม 39 ตันต่อวัน  ซึ่งต้องนำเข้าเตาเผาเพียงวิธีเดียวที่หนองแขมและอ่อนนุชขนาด 10 ตันต่อวัน จำนวน 2 เตาต่อแห่ง

มาดูการจัดเก็บจากประชาชน ตามข้อบัญญัติกทม. พ.ศ.2546 และ 2548 เป็นค่ากำจัด และขนสิ่งปฏิกูล 250 บาทต่อลบ.ม. ส่วนมูลฝอยทั่วไปที่เก็บจากบ้านเรือน 20 บาทต่อเดือน และมูลฝอยติดเชื้อ 30 บาทต่อเดือน

ตามร่างพรบ.ใหม่จะปรับเป็น 600 บาทต่อลบ.ม. 80 บาทต่อเดือน และ 780 บาทต่อเดือนตามลำดับ รวมรายรับ 2,036 ล้านบาท แม้จะเก็บเพิ่มขึ้น แต่กทม.ยังรับต้นทุนอยู่ 72% ต่อไป

นายชาตรี ย้ำว่าการนำขยะมาผลิตไฟฟ้า เป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่จำเป็นและมีความยั่งยืนมากที่สุดในเวลานี้ เพราะขยะเพิ่มขึ้นทุกวัน การขยายสถานีฯขนถ่ายในกทม.แทบเป็นไปไม่ได้ รวมไปถึงสถานที่ฝังกลบในต่างจังหวัดก็หายากเช่นเดียวกัน  แม้ตั้งมาก่อนชุมชน แต่เมืองที่ขยายตัว แต่ต่อมาก็มีชุมชนมาประชิดในภายหลัง

เมื่อเราอยู่ใกล้ชุมชนอย่างนี้ สิ่งที่กทม.ในฐานะกำกับดูแล จึงต้องเลือกเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาเผาให้ขยะกองสูงหายไป เพราะไม่สามารถขนไปที่อื่นได้อีกแล้ว  วันนี้เราใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้านำดินมาทับทุกๆวัน แต่สุดท้ายก็กระทบต่อสิ่งแวดล้อมใต้ดินในระยะยาวไม่มากก็น้อย

ส่วนกระแสการมองเรื่องล็อกสเปคโครงการเตาเผา นายชาตรี อธิบายว่า เตาเผาเทคโนโลยี Stoker Type เราประเมินว่าดีที่สุดแล้วในเวลานี้สำหรับขยะเปียกอย่างที่ประเทศไทยมีอยู่ ใช้อุณหภูมิห้องเผาไหม้ ไม่ต่ำกว่า 1,000 องศาเซลเซียส และมีระบบบำบัดมลพิษก่อนปล่อยไอเสียออกสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นเราจึงเลือก และก็พบว่ามีหลายบริษัทเอกชนทำได้ สามารถแข่งขันได้อย่างสมบูรณ์

แต่เมื่อมูลค่าการลงทุนสูงมาก ทำอย่างไรให้เรามีของดีใช้ วิธีการร่วมกับเอกชนแบบ BOT คือให้เอกชนลงทุน แล้วโอนให้กทม.ภายหลัง 20 ปีเป็นวิธีที่ดีที่สุด ภายใต้พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2560

“เราไม่ใช้การแข่งขันราคา เลือกบริษัทที่เสนอถูกที่สุดแน่นอน เพราะเตาเผาอยู่ในเขตเมือง ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างดีที่สุด เทคนิคจึงต้องมาก่อน ต้องเลือกจากผู้มีประสบการณ์ ผลงานเป็นที่ตั้ง และเทคโนโลยีที่จะมั่นใจได้ว่าดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี  ”

เขา อธิบายเพิ่มเติมว่า โครงการเตาเผา 2 แห่ง ขนาด 1,000 ตันมูลค่าโรงละ 6,500 ล้านบาท เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด มีค่าลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อโรง โดย กทม.ไม่ต้องลงทุนเอง

แต่เราต้องจ่ายเป็นค่าจ้างเอกชนเผาขยะ 900 บาทต่อตัน อัตรานี้ไม่มีการปรับราคาตลอด 20 ปี คิดเป็น 800,000-900,000 บาทต่อเดือนต่อโรง  ส่วนค่าไฟฟ้าที่ขายได้ประมาณ 8-9 เมกะวัตต์เป็นของเอกชน จากไฟที่ผลิตได้ 30 เมกะวัตต์ที่เหลือใช้เดินเครื่องผลิต

ถามว่าคุ้มหรือไม่ นายชาตรี ย้ำว่า ต้องคิดกลับมาว่า แต่ละปีกทม.ต้องจ่ายค่าบริหารจัดการขยะ ทั้งค่าเก็บขน ค่ารถเช่ามากกว่า  6,000 ล้านบาท แต่เราได้ค่าขยะที่เก็บจากประชาชน 20 บาทต่อหลังคาเรือนต่อเดือน รวม 500 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น

สรุปแต่ละปีเราต้องจ่ายออกไปสำหรับค่าบริหารจัดการขยะประมาณ 6,400 ล้านบาท หากคูณ 20 ปีคิดเป็นเงินที่เราต้องจ่ายออกไป 128,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการให้เอกชนมาทำให้เรา และใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดเหมาะกับขยะเปียกอย่างบ้านเรา และสุดท้ายก็โอนมาเป็นของกทม.

นายชาตรี กล่าวย้ำ นอกจากเผาขยะให้มีประสิทธิภาพ ไม่มีมลพิษ และได้ไฟฟ้ามาใช้งานได้ด้วยแล้ว สิ่งที่เราต้องรณรงค์ควบคู่กันไป คือ การคัดแยกขยะ

ก่อนอื่นขอให้ชุมชนที่นำขยะมาทิ้งในถังใกล้บ้าน ให้ทิ้งตามสีให้ถูก ซึ่งตอนนี้เรามี 3 สีก่อน คือ น้ำเงิน เป็นขยะทั่วไป สีเหลือง ขยะรีไซเคิล และสีส้มแดง ขยะอันตราย ต่อไปเราจะทำสีมากขึ้น เมื่อชุมชนได้เรียนรู้มากพอ แต่หากบ้านไหนแยกได้มากกว่านั้นขอให้ใส่ถุงแยกไว้ และเขียนไว้ที่ถุงชัดเจนว่าเป็นขยะอะไร

10789

 

timeline 20190214 151121

มาถึงตรงนี้มีคำถามขึ้นมาทันทีว่า ประชาชนแยกขยะแล้ว กทม.เก็บไป ก็เทกองรวมกันในรถขนขยะอยู่ดี จะแยกเพื่อ?? นายชาตรี ยืนยันว่า หากไปดูรถขยะกทม.จะมีช่องแยกขยะ แล้วเราก็มีการอบรมพนักงานเก็บขนอย่างต่อเนื่อง

“ถ้าเราช่วยกันแยกขยะ กองขยะที่เก็บไปยังสถานีฯอ่อนนุช หนองแขม และสายไหมจะลดลง ไปยังบ่อฝังกลบก็ลดลง และอาจไม่มีขยะขนไปที่กำแพงแสน หรือ พนมสารคามอีกเลยในที่สุด ซึ่งจริงๆก็ควรเป็นอย่างนั้น  ที่ไหนสร้างขยะต้องหาทางกำจัดในจุดแหล่งกำเนิดขยะ ที่ไหนไม่ได้สร้างขยะ แต่ต้องรับขยะจากที่อื่นมา ก็ถือว่าไม่เป็นธรรม ”  

IMG 20190801 080222

 

Avatar photo