COLUMNISTS

ความท้าทายหลัง ‘พยุงเศรษฐกิจ’

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
480

คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจประชุมนัดแรก 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมเคาะมาตรการดูแลเศรษฐกิจที่ “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนำเสนอ โดยหลักมาตรการชุดนี้ครอบคลุม 3 ด้านคือ หนึ่ง ดูแลผลกระทบภัยแล้ง สอง ดูแลผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และสามช่วยเหลือค่าครองชีพคนจน

ครม. คณะรัฐมนตรี

วิธีการมีทั้งแจกเงิน และให้กู้เงินผ่านแบงก์รัฐด้วยเงื่อนไขผ่อนปรน รวมตัวเลขจากทั้งสองส่วนมียอดรวมราว 316,000 ล้านบาท

เงินก้อนดังกล่าวมาจาก 2 ทางคือ หนึ่ง 200,000 ล้านบาท เป็นวงเงินกู้จากแบงก์รัฐ อาทิ กรุงไทย ออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ส่วนที่เหลืออีก 116,000 ล้านบาท ที่ใช้สำหรับแจกเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ เป็นเงินจากงบกลาง และอีกส่วนเข้าใจว่าเป็นเงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

เงินใช้แจกเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพเกือบทั้งหมด จัดสรรผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีสมาชิก 14.5 ล้านคน แบ่งเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรกคือ เติมเงินพิเศษให้คนละ 500 บาท นาน 2 เดือน (สิงหาคม-กันยายน) ให้ผู้สูงอายุอีก 500 บาทต่อคน นาน 2 เดือนเช่นกัน และอุดหนุนค่าเลี้ยงดูบุตร (แรกเกิดถึง6ปี) เดือนละ 300 บาท 2 เดือนเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีมาตรการแจกเงินชวนคนไปเที่ยวนอกภูมิลำเนาคนละ 1,000 บาท ส่วนนี้ตั้งงบประมาณไว้ราว 10,000 ล้านบาท และยังมีมาตรการอื่นๆ อีก เช่น การลดดอกเบี้ย และให้กู้เกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง หรือมาตรการเพิ่มค่าลดหย่อน สำหรับผู้ประกอบการที่สั่งซื้อเครื่องจักรช่วงนี้ ตามที่สื่อรายงานกัน

รัฐบาลคาดหวังมากว่า มาตรการชุดนี้ ที่กระทรวงการคลังเรียกว่า ”มาตรการพยุงเศรษฐกิจ” จะช่วยดันให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวไม่น้อยกว่า 3 % ซึ่งถือเป็นโจทย์ยากมาก สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่มีปัจจัยเหนือความคาดหมายปรากฎขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นเหตุการณ์ที่คาดเดาทิศทางยากทั้งสิ้น เช่น ในขณะที่ผลจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐยังไม่ชัดว่าจะจบอย่างไร ก็เกิดกรณีประท้วงในฮ่องกงขึ้นมาอีก อันยากจะคาดเดาฉากจบ และผลกระทบอีกเช่นกัน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับจีน และเหตุการณ์ในฮ่องกง กระทบเศรษฐกิจไทยโดยตรงเพราะทั้ง 2 แห่งนี้ ถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย

gettyimages 484709254

ไตรมาสแรกที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทลจาก “สงครามการค้า” จีดีพีขยายตัวเพียง 2.8 % ส่วนไตรมาสสอง คาดว่าตัวเลขจะย่อลงมากกว่านั้นอีก ซึ่งหมายความว่า หากรัฐบาลจะดันให้เศรษฐกิจทั้งปีโตตามเป้าหมายที่ อุตตม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศไว้ คือไม่น้อยกว่า 3 % ช่วงเวลา 2 ไตรมาสที่เหลือของปี เศรษฐกิจจะต้องขยายตัวมากกว่า 3 %  ถือเป็นโจทย์ยาก เพราะเศรษฐกิจไทยต้องเจอทั้งความเสี่ยงเดิม และความเสี่ยงใหม่ที่เติมเข้ามา

นอกจากนี้มาตรการดูแลเศรษฐกิจ ด้วยการแจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่รัฐบาลประยุทธ์ใช้เป็นเครื่องมือพยุงเศรษฐกิจมาตั้งแต่ประยุทธ์ 1 จนถึงประยุทธ์ 2 และมีแนวโน้มต้องพยุงด้วยการแจกเงินกันต่อไป เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังไม่เปลี่ยนแปลง รัฐบาลมีโอกาสเผชิญกับข้อจำกัดด้านงบประมาณ เพราะรอบล่าสุดจัดสรรงบประมาณดูแลส่วนนี้ไปแล้ว 116,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขที่กระทรวงการคลัง ประเมินงบประมาณที่เหลือสำหรับการดำเนินนโยบายเชิงสวัสดิการ

ที่ถือเป็นความท้าทายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล คือการสร้างเอกภาพในครม.เศรษฐกิจ หากพรรคร่วมยังไม่สามารถขับเคลื่อนไปในทางเดียวกัน หรือเกิดบรรยากาศแบบการแย่งซีน ประมาณชิงนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจเพื่อสร้างความนิยมฝ่ายเดียว คงไม่เป็นผลดีต่อการรับมือ คลื่นเศรษฐกิจ ที่ยังซัด เข้ามาอย่างต่อเนื่องแน่นอน