General

แนะ 3 วิธี แก้ปัญหาการกลืน ป้องกันผู้สูงอายุสำลัก

กรมการแพทย์ ชี้ปัญหาการกลืนอาหารพบบ่อยในผู้สูงอายุ แนะทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่ายและมีรสจืด ในปริมาณน้อย แต่บ่อยครั้ง ช่วยลดอาการสำลักได้

ได้ยินกันบ่อยๆว่า คนแก่เสียชีวิตจากอาหารติดคอ ล่าสุดช่วงสารทจีน ชายวัย 52 ปี กินขนมเทียนแล้วเกิดอาการติดคอ ขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิต กรมการแพทย์ออกมาเตือนเรื่องนี้ให้หลายครอบครัวมีความรู้เรื่องการกลืนของผู้สูงอายุ พร้อมแนะนำเทคนิคช่วยการกลืน

นพ.สมศักดิ์ กรมแพทย์

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า การกลืนเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เพราะเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายเลื่อมลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลง ที่เกี่ยวข้องกับการกลืนในวัยสูงอายุ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้าง และหน้าที่การทำงานของช่องปาก คอหอย กล่องเสียง หลอดอาหาร และกลไกของระบบประสาทที่ควบคุมการกลืน ส่งผลให้ความสามารถในการกลืนของผู้สูงอายุลดลง ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะกลืนลำบากยิ่งขึ้น

สำหรับกลไกในการกลืนในผู้สูงอายุแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย

1. ระยะช่องปาก ผู้สูงอายุไม่มีฟัน และกำลังกล้ามเนื้อที่ใช้ในการบดเคี้ยวลดลง ทำให้บดเคี้ยวได้ไม่ละเอียด  รวมถึงกำลัง และการประสานการทำงานของริมฝีปาก และลิ้นลดลง ทำให้กระบวนการเตรียมอาหาร และการส่งผ่านอาหารใช้เวลานานขึ้น

ต้องมีการกลืนหลายครั้ง กว่าอาหารจะหมดจากช่องปาก ผู้สูงอายุบางรายอาจมีอาหารเหลือค้างในปากเป็นแหล่งสะสมของเชื้อก่อโรคเสี่ยงต่อภาวะปอดอักเสบจากการสำลัก

2. ระยะคอหอย การกลืนที่คอหอย จะเกิดช้ากว่าวัยอื่น กล่องเสียงยกตัวขึ้นมารับกับฝาปิดกล่องเสียงช้า ความแรงในการหดตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอหอยลดลง หูรูดของหลอดอาหารส่วนต้นเปิดช้า ทำให้อาหารอยู่ในระยะคอหอยนาน ส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดสำลักอาหารเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ จึงเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุ

3. ระยะหลอดอาหาร ระยะเวลาที่หูรูดของหลอดอาหารส่วนต้นเปิดจะสั้นลง จึงมีอาหารเหลือค้างที่คอหอยเสี่ยงต่อการสำลักเข้าทางเดินหายใจ แรงบีบไล่อาหารของหลอดอาหารลดลง ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะไส้เลื่อนกระบังลมมากขึ้น

เมื่ออายุมากขึ้นกลไกการกลืนจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ระยะ และมีส่วนสัมพันธ์กับระบบประสาทสั่งการ และการควบคุมการหายใจ

การกลืนอาหาร

นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าสาเหตุของภาวะกลืนลำบาก ที่พบได้บ่อยของความผิดปกติของช่องปาก และคอหอยในวัยสูงอายุ คือ โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะสมองเสื่อม

แต่อาจมีสาเหตุจากภาวะอื่น ๆ ได้แก่ โรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช รวมถึงโรคพาร์กินสัน ที่ทำให้กล้ามเนื้อมีภาวะเกร็ง ทำให้การกลืนอาหารยากขึ้น

สำหรับวิธีแก้ปัญหาภาวะกลืนลำบาก มีดังนี้

1.ปรับอาหารผู้สูงอายุหรือผู้ใกล้ชิดเลือกชนิดของอาหารที่ใช้ในการฝึกกลืนอย่างเหมาะสม ได้แก่ อาหารอ่อนที่ย่อยง่าย และมีรสจืด โดยรับประทานปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง และเลือกใช้ช้อนที่มีขนาดเล็กลง และหลุมไม่ลึก ทำให้ปริมาณการรับประทานอาหารต่อคำลดลง

2.ปริมาณน้ำที่น้อยลงในแต่ละคำ จะช่วยลดอาการสำลักได้ ปัจจุบันมีนวัตกรรมสารเพิ่มความหนืดที่ผสมได้ทั้งอาหารเหลว และของเหลว เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีปัญหากลืนลำบากมีความปลอดภัยมากขึ้น

3.การใช้เทคนิคช่วยกลืน คือ จัดท่าให้ศีรษะ และลำตัวของผู้สูงอายุสามารถชดเชย กลไกการกลืนที่บกพร่องไป เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการรับประทานอาหารทางปากมากขึ้น

นอกจากนี้ผู้สูงอายุ ควรดูแลสุขภาพช่องปาก เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย ลดความเสี่ยงของการเกิดปอดอักเสบจากการสำลัก โดยพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และเช็ดทำความสะอาดช่องปาก และลิ้นหลังอาหารทุกมื้อ ดูแลเอาอาหารที่ค้างในปากออกให้หมด เพื่อเลี่ยงการเกิดเชื้อราในช่องปาก และช่วยให้ผู้สูงอายุมีรอยยิ้มที่สดใส

Avatar photo