Lifestyle

‘รมว.ทส.’ แถลงสรุปสาเหตุการตายของ ‘มาเรียม’

“รมว.ทส.” แถลงสรุปสาเหตุการตายของ “มาเรียม” ชี้พบเศษพลาสติกหลายชิ้นขวางลำไส้ เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง พร้อมทำ “มาเรียมโปรเจค” เพื่อการอนุรักษ์พะยูนไทย

68751626 2336694249711392 9119372990079827968 n

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่ดูแล รักษา ลูกพะยูนมาเรียมที่พลัดหลงจากแม่และว่ายน้ำตามเรือเข้ามาในเขตจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่จึงพยายามผลักดันให้พะยูนมาเรียมกลับสู่ทะเล เพราะมาเรียมยังไม่หย่านม เจ้าหน้าที่ได้ใช้ความพยายามถึงสามครั้ง

แต่ลูกพะยูนมาเรียมยังว่ายวนเวียนในจุดเดิม เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจหาที่อยู่ที่เหมาะสม เป็นแหล่งที่มีหญ้าทะเล มีกลุ่มพะยูนอาศัยอยู่มาก และชุมชนในพื้นที่ต้องมีความพร้อมที่จะช่วยดูแล จึงนำตัวมาดูแลเพื่ออนุบาลสภาพแบบธรรมชาติ บริเวณ จุดชมพะยูน ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง กระทั่งพบว่าเกาะลิบง มีความพร้อมทุกด้าน ภายใต้การดูแลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ทีมสัตวแพทย์ ทีมพิทักษ์ดุหยง ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น และจิตอาสา แม้ว่ามาเรียมจะกินหญ้าทะเลได้ แต่ด้วยวัยของมัน นมยังเป็นอาหารหลัก เจ้าหน้าที่จึงต้องป้อนนมจนกว่ามาเรียมแข็งแรงพอที่จะกินหญ้าทะเลอย่างเดียว มาเรียมจึงถือเป็นพะยูนตัวแรกของไทยและของโลกที่มนุษย์ให้นมในสภาวะธรรมชาติ การดูแลมาเรียมเป็นงานที่เหนื่อยและยากลำบาก ต้องใช้องค์ความรู้งานวิชาการหลายด้าน แต่เจ้าหน้าที่และชาวบ้านก็ได้พยายามดูแลมาเรียมตลอดมาอย่างเต็มที่ด้วยความรู้สึกผูกพันกับมาเรียมเหมือนลูกหลานของตัวเอง

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2562 ได้รับการรายงานจากทีมสัตว์แพทย์หลังจากที่มาเรียมออกไปท่องทะเลกว้าง เจอพะยูนโตเต็มวัยไล่คุกคาม จนหนีกลับเข้าอ่าวและมีภาวะเครียด แม้จะกินสารอาหารวิตามินและน้ำหญ้าปั่นแทน แต่มาเรียมยังไม่ค่อยดื่มนม จึงมีอาการอ่อนเพลียให้เห็น ไม่ร่าเริง ไม่ค่อยว่ายน้ำ อัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด ต่อมาวันที่ 11 สิงหาคม 2562 เจ้าหน้าที่มีการประชุมกันและตัดสินใจเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง เพราะพบยังมีอาการน่าเป็นห่วง จนวันที่ 15 สิงหาคม 2562 ทีมสัตวแพทย์ได้ย้ายมาเรียมไปดูแลในบ่อชั่วคราว และเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 เวลา 00.09 น. มาเรียมได้จากไปอย่างสงบ เกิดจากการช๊อค นอกจากนี้ยังพบเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ ทำให้มีแก๊สสะสมอยู่เต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง ตามมา

ด้านรองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อเวลา 23.30 น. ของวันที่ 16 สิงหาคม 2562 มาเรียม มีอาการลอยนิ่ง จากนั้นทีมสัตวแพทย์ตรวจไม่พบชีพจร และการตอบสนอง ทั้งมาเรียมยังไม่สามารถทรงตัวในน้ำได้ จึงรีบทำการกู้ชีพและกระตุ้นการหายใจ โดยกระทำเหนือน้ำ จนเริ่มตรวจพบการตอบสนอง โดยสามารถกระพริบตา และตอบสนองต่อการสัมผัสได้ จึงนำมาเรียมลงประคองในน้ำ แต่สัญญาณชีพได้หายไปอีกครั้งเวลา 23.45 น. จึงต้องนำขึ้นจากน้ำอีกครั้งเพื่อทำการกู้ชีพ ด้วยยากระตุ้นหัวใจ ยากระตุ้นการหายใจ การใช้สารน้ำ แต่เนื่องจากไม่สามารถกู้ชีพกลับมาได้ จึงตัดสินว่ามาเรียมเสียชีวิต

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 00.09 น. ของวันที่ 17 สิงหาคม 2562 ผลการชันสูตรซากพะยูนมาเรียมเพื่อหาสาเหตุการตาย โดยสภาพภายนอก พบรอยขูดขีด ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณ แพนหาง โดยตำแหน่งใกล้เคียงกันพบจ้ำเลือด ขนาด 2-3 เซนติเมตร ซึ่งสอดคล้องกับผลเลือด ที่พบสภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เกิดจุดเลือดออกได้ง่าย ภายในช่องปาก พบแผลในปากจำนวนหนึ่ง

ส่วนของอวัยวะภายในพบว่ากล้ามเนื้อมีสีซีดกว่าปกติมาก เนื่องจากมาเรียมมีการใช้พลังงานต่อวันเท่าเดิมในทุกวัน แต่ไม่สามารถรับอาหารได้ จึงมีการย่อยสลายส่วนของกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงาน รวมทั้งภาวะทุพโภชนาการ ทำให้เกิดภาวะเลือดจาง โปรตีนในเลือดต่ำ และการติดเชื้อในช่องอกและทางเดินหายใจ ปอดมีสีซีดและเกิดการโป่งพอง เกิดก้อนหนองแทรกตามเนื้อปอด โดยเฉพาะปอดข้างซ้าย พบรอยช้ำของกล้ามเนื้อที่บริเวณช่องท้องและผนังช่องท้องด้านใน คาดว่าเกิดจากการกระแทกของพะยูนตัวผู้ ตับมีสีเหลืองเนื่องจากการไม่รับอาหารมาเป็นเวลานาน มีจุดเนื้อตายและหนองบนตับ หัวใจพบเลือดเล็กน้อย และบีบตัวแข็งจากการเกิดสภาวะช็อค

ส่วนของระบบทางเดินอาหารและมีการสะสมของแก๊สจำนวนมากตามทางเดินอาหาร ซึ่งคาดว่ามาจากการที่กระเพาะอาหารมีการเคลื่อนตัวและบีบตัวลดลง ตลอดลำไส้เล็กอักเสบพบจุดเนื้อตายสีขาว และพบมีการหนาตัวและมีเนื้อตายเคลือบด้านในของผนังลำไส้และพบขยะประเภทเศษถุงพลาสติกจำนวน 8 ชิ้น อัดแน่นกันอยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทั้งนี้เนื่องจากมาเรียมมีสภาวะขาดน้ำที่รุนแรง ทำให้ส่งผลต่อการบีบตัวของทางเดินอาหารลดลงหรือไม่เคลื่อนที่ ทำให้เกิดการสะสมของแก็สในทางเดินอาหาร ก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างมาก ทำให้เกิดสภาวะช็อค เนื่องจากความเจ็บปวด และเสียชีวิตลงทันที

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนช่วยกันดูแล ปกป้อง และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชน ชาวประมงในพื้นที่ เกิดความรักและหวงแหนในทรัพยากรสัตว์ทะเลหายาก โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการลดปริมาณขยะทะเล และจะจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนของประเทศไทย รวมทั้งถอดบทเรียนเพื่อให้เป็น “มาเรียมโปรเจค” ใช้เป็นประโยชน์ในการดูแลพะยูน เพื่อนำไปเป็นแนวทางสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมพะยูนโลกที่จะจัดในปีหน้าต่อไป

ภาพและข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

Avatar photo