COLUMNISTS

Zero Waste – เมื่อมนุษย์เป็นผู้สร้างขยะ

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ
1888

D05BCA96 EF97 4464 BF3E B4BA08EFE8A8

คงยังไม่สายนะคะ ที่จะกล่าวว่า “สุขสันต์วันแม่” – Happy Mother Day ขอให้คุณแม่ของคุณผู้อ่านทุกท่านมีความสุข สุขภาพแข็งแรงตลอดปี และตลอดไป วันก่อนได้มีโอกาสไปจ่ายตลาดซื้อกับข้าวมาปรุงอาหารกับเพื่อน ที่วิลล่า ซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพ  ทุกครั้งที่ไปจ่ายตลาดซุปเปอร์มาร์เกต ดิฉันจะชอบสังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภคว่าชอบซื้อแนวอาหารประเภทไหน

และแน่นอน…แนวอาหารสุขภาพจะได้รับความนิยมมากที่สุด ยิ่งถ้าเป็นออแกนิค ราคาอาจสูงหน่อย แต่ก็ได้รับความนิยมในหมู่คนรักสุขภาพ (รวมทั้งตัวดิฉันเอง) ระหว่างที่มองหาวัตถุดิบเพื่อนำมาทำกับข้าว ตาก็เหลือบไปเห็น “เครื่องย่อยเศษอาหารให้เป็นปุ๋ย” ซึ่งแน่นอนคนรักสุขภาพ รักสิ่งแวดล้อมตัวยงอย่างดิฉัน ไม่รอช้า เดินรี่ไปอ่านรายละเอียด พร้อมขอรายละเอียดจากพีซี ที่ยืนคอยให้กับปรึกษาอยู่ข้าง ๆ  หลังจากที่ได้ฟังคำอธิบายพอประมาณ จะพอสรุปได้ว่า ขยะทั้งหมด มนุษย์เรานี่แหละสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขยะอาหาร ขยะเคมี ขยะพลาสติก ฯลฯ แล้วถ้าเราสามารถนำเอา “ขยะอาหาร” มารีไซเคิล ทำเป็นปุ๋ยได้ย่อมก่อประโยชน์ไม่ใช่น้อย !

ฉบับนี้ ขอเขียนเรื่องที่ใกล้ตัว และเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย และน่าจะเป็นปัญหาทั่วโลกเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งเมื่อปัญหา ขยะ มากขึ้นทุกวัน แน่นอน ย่อมส่งผลต่อสุขภาพของเราโดยมิสงสัย อีกทั้งส่งผลโดยตรงให้เกิดปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ ฝุ่นละออง (ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่เป็นปัญหาเมื่อเร็ว ๆ นี้) มลพิษคุณภาพน้ำผิวดิน และแน่นอนสถานการณ์ขยะมูลฝอย รวมถึงมลพิษด้านต่าง ๆ ของประเทศ คงต้องขอยอมรับว่า ในยุคนี้ ปัญหาขยะไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากมีการรณรงค์จากหน่วยงานราชการต่าง ๆ มาเป็นเวลานานเพื่อปลูกจิตสำนึกช่วยกันรักษ์สิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด ภายใต้แนวคิด “3R” (Reduce Reuse Recycle) “ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่” แต่อย่างไรก็ดี ประเทศไทย ก็ยังคงมี “ขยะ” ปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี!

รายงานจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ล่าสุด ปี 2561 พบว่า ปี 2561 มีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 27.8 ล้านตัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้น 1.64% เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมือง และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากสังคมเกษตรสู่สังคมเมือง การเพิ่มของประชากร การบริโภคที่มากขึ้น แน่นอน ย่อมส่งผลให้มี “ขยะ” มากขึ้น

E3877631 7013 4677 812F 2E88E839D44B

“ขยะ” แยกเป็นกี่ชนิด ?

  • ขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร เศษผักผลไม้ เปลือกผลไม้ และขยะชนิดนี้ สามารถทำเป็นปุ๋ยได้
  • ขยะทั่วไป เป็นขยะที่ย่อยสลายและคุ้มค่าในการนำไปรีไซเคิล เช่น ห่อกระดาษลูกอม ถุงขนม ซองบะหมี่สำเร็จรูป ถุงพลาสติกอาหารต่าง ๆ
  • ขยะรีไซเคิล ที่เราสามารถนำไปขายได้ เช่น แก้ว โลหะ กระดาษ
  • ขยะอันตราย เป็นขยะที่มีพิษ ที่ต้องเก็บรวมรวมแล้วนำไปกำจัดให้ถูกวิธี เช่น ยาหมดอายุ ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ฯลฯ

แล้วจะ Zero Waste ได้อย่างไร ?

อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อเราเป็นผู้สร้างขยะ เราต้องสามารถกำจัด “ขยะ” ได้ในทางเดียวกัน  ดังนั้น Zero Waste จึงเป็นแนวคิดที่หลาย ๆ ประเทศกำลังให้ความสำคัญ ใส่ใจ ถือเป็นแผนกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจของหลายหน่วยงานองค์กร เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เช่น เอสซีจี บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา ฯลฯ

Zero Waste ด้วยเครื่องย่อยเศษอาหารให้เป็นปุ๋ย

ณ วันนี้ คงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเครื่องย่อยเศษอาหารให้เป็นปุ๋ย ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ประเทศเพื่อนบ้านเรา ต่างนิยมใช้มานานแล้วเสียด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น ในเขตเมืองโตเกียว 23 เขต ไม่นับรวมปริมณฑลของจังหวัดโตเกียวทั่งหมด มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบแต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน เพื่อลดปริมาณขยะทั้งในที่พักอาศัย ร้านค้า และบริษัท ทั้งยังดำเนินการตามกฎหมายส่งเสริมการสร้างสังคมการนำกลับมาใช้ใหม่ Zero Waste อย่างยั่งยืนอีกด้วย

Bio Composter หรือเรียกภาษาที่เข้าใจง่าย ๆ ว่า เครื่องย่อยเศษอาหารให้เป็นปุ๋ย  ซึ่งปัจจุบันในท้องตลาดบ้านเรา มีด้วยกันอยู่หลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นการย่อยเศษอาหาร เบ็ดเสร็จเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ภายใน 3 – 6 ชั่วโมง หรือ 24 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่อง  (ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อแบรนด์) แต่สิ่งที่เป็นหัวใจของเครื่องย่อยเศษอาหารให้เป็นปุ๋ย นั้นอยู่ที่ “จุลินทรีย์” หรือเจ้าตัว ไบโอ นั่นเอง !  และเมื่อเครื่อง Bio composter ย่อยเป็นปุ๋ยให้เราแล้ว เจ้าตัวปุ๋ยที่ได้มานี่ มีค่า NPK เท่าไหร่  เริ่มสงสัยแล้วสิค่ะว่า เจ้าตัว NPK คือค่าวัดอะไรหรอ?

E786D546 BB89 49AA BF4B 924E082A63D2

NPK ค่าปุ๋ยที่เราต้องรู้ ?

ปุ๋ยอินทรีย์ ที่เราได้มาจากเครื่องย่อยเศษอาหารให้เป็นปุ๋ย นั้น NPK ถือเป็นธาตุอาหารที่สำคัญสำหรับพืช 3 ชนิด ซึ่งเป็นปุ๋ยชั้นดี จะทำให้พืชสามารถงอกงามได้ดียิ่งขึ้น เปรียบเสมือนมนุษย์เราได้รับสารอาหารครบถ้วน 5 หมู่ ทำให้สามารถเจริญเติบโต และแข็งแรงนั่นเอง !

  • N หมายถึง ไนโตรเจน มีหน้าที่ในการเสริม ซ่อมแซม และสังเคราะห์แสง อธิบายเข้าใจง่าย ๆ คือ เป็นการเสริมส่งโปรตีนในพืชทำให้เติบโตดียิ่งขึ้น โดยเน้นที่กิ่ง ก้าน ใบของพืช
  • P หมายถึง ฟอสฟอรัส ซึ่งรากสามารถดูดซึมไปใช้ได้มากที่สุด ส่งผลให้ลำต้นมีความแข็งแรง ทำให้เซลล์เนื้อเยื่อเจริญเติบโตขึ้น ช่วยกระตุ้นให้เกิดดอกได้ดี
  • K หมายถึง โพแทสเซียม ทำหน้าที่ในการสังเคราะห์แสง คอยลำเลียงอาหารไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในพืช ทำให้พืชสามารถต้านทานโรคบางชนิดได้ดี

อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ถ้าพวกเราสามารถคนละไม้ คนละมือ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม Zero Waste ได้ ถือเป็นการช่วยลดโรคร้ายที่จะเกิดขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคระบบทางเดินอาหาร ที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ ไวรัส รา แบคทีเรีย นำมาซึ่งโรคบิด ไทฟอยด์  โรคจากการติดเชื้อ เช่น พวกบาดทะยัก ไวรัสตับอักเสบ และสุดท้ายโรคภูมิแพ้ ที่เกิดจากการสูดดมฝุ่นละอองต่าง ๆ

ทั้งนี้ ไม่ว่าเราจะอยู่ในอุตสาหกรรมใด หรือ ธุรกิจอะไร ก็สามารถช่วยรณรงค์สิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนได้ และภายในปี 2020 คงจะได้เห็นความสำเร็จของการเดินหน้าสู่สังคมปลอดขยะ Zero Waste ในหลาย ๆ ประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) เพื่อก้าวสู่สังคมสุขภาพ ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง  พบกันฉบับหน้า สวัสดีค่ะ J

(เครดิต :  กรมควบคุมมลพิษ)

#KINN_Biopharma