Business

เมื่อ ‘ทางด่วน’ กำลังอิ่มตัว คนกรุงฯ มุ่งหน้าสู่ ‘ระบบราง’

รถติด … เป็นปัญหาที่คนกรุงต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ในยุคที่ผ่านๆ มา รัฐบาลจึงพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการตัดถนนเส้นใหม่ หรือก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) ลอยฟ้าเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน แต่สภาพการจราจรทุกวันนี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า การสร้างพื้นถนนเพิ่ม ไม่ได้ทำให้ปัญหารถติดหายไป

fig 03 04 2019 04 59 38

ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจึงเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ด้วยการหันมาส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนระบบราง เพื่อสนับสนุนให้คนทิ้งรถยนต์ส่วนตัวไว้ที่บ้าน แล้วหันมาใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางแทน

แนวคิดดังกล่าวเริ่มแบ่งบานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และกำลังจะผลิดอกออกผลเต็มที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยายด้านทิศใต้) เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว, รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) กำลังทดสอบระบบและจะเปิดให้บริการครบลูปในเดือนมีนาคม 2563, รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ) จะเปิดให้บริการทั้งเส้นในปลายปี 2563 ตามมาด้วยรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลืองในปลายปี 2564

การเดินทางที่เปลี่ยนไปย่อมส่งผลต่อ “บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM” ผู้ถือสัมปทานทางด่วนถึง 5 สาย ถือสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอีก 1 สาย BEM ยังเป็นผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงอีก 1 เส้นทาง

รถติด2

“พงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล” กรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทุกวันนี้ BEM มีปริมาณการจราจรบนทางด่วนเฉลี่ย 1.1 ล้านเที่ยวต่อวัน ส่วนธุรกิจรถไฟฟ้าที่ถือสัมปทานอยู่ คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-เตาปูน มีปริมาณผู้โดยสารราว 3-4 แสนเที่ยวคนต่อวัน พอร์ตธุรกิจของ BEM ในปัจจุบันจึงมีรายได้จากธุรกิจทางด่วนเป็นหลัก คิดเป็น 70% ส่วนอีก 30% มาจากธุรกิจรถไฟฟ้า

ธุรกิจทางด่วนนับเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้แน่นอน แต่เติบโตไม่หวือหวา เฉลี่ยแล้วขยายตัวประมาณ 1% ต่อปี แต่ถ้า BEM สามารถยุติข้อพิพาทกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) สำเร็จและได้ก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ระหว่างงามวงศ์วานถึงพระราม 9 ระยะทาง 17 กิโลเมตร ก็อาจจะทำให้รายได้ทางด่วนเพิ่มขึ้น 4-5% แต่เป็นการเพิ่มขึ้นแค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น ไม่มีทางที่ผู้ใช้ทางด่วนจะเติบโตขึ้นทุกวัน เพราะต้องยอมรับว่า ยุทธศาสตร์ชาติให้ความสำคัญกับการส่งเสริมระบบขนส่งทางราง

พงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล

แม้ในระยะสั้นการใช้ทางด่วนจะยังเติบโตอยู่ เพราะรถยนต์ก็เป็นปัจจัยสำคัญของคนกรุงเทพฯ แต่ในอีก 5-7 ปีข้างหน้า เมื่อระบบรถไฟฟ้าทยอยเปิดให้บริการจนครบ 10 เส้นทาง ปริมาณการจราจรบนทางด่วนก็อาจจะลดลง

BEM  เป็นผู้ทำธุรกิจรถไฟฟ้าด้วย จึงรู้ดีกว่าทุกวันนี้ปริมาณผู้ใช้รถไฟฟ้าเติบโตขึ้นตลอด แต่คนกรุงฯ ก็มีจำนวนเท่าเดิม เมื่อคนเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ก็จะทำให้การเดินทางด้วยวิธีอื่นลดลง

“ทางด่วนมันเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างคงที่แล้ว อัตราต่างๆ คล้ายเดิม เพราะไม่ใช่ธุรกิจที่จะมี Ramp up ขึ้นไปอีกเยอะ ส่วนรถไฟฟ้า Ridership มันค่อยๆ โต แต่ทางด่วนมัน Saturated แล้ว ในเมืองต่อให้มี double deck (การก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2) มันก็วิ่งอยู่ประมาณนี้แหละ อีก 20 ปีข้างหน้า จะตกลงนิดหน่อยด้วยซ้ำ เพราะคนจะหันไปใช้ระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น แต่ในช่วง 10 กว่าปีแรกโอกาสธุรกิจก็ยังดีอยู่ แต่ไม่ใช่จะก้าวกระโดดแบบรถไฟฟ้าที่เปิดทีจะ Jump เยอะแยะ”

รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT
ขอบคุณภาพจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ในปีหน้า ธุรกิจรถไฟฟ้าของ BEM จะเข้าสู่โหมดเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะในเดือนมีนาคม 2563 บริษัทจะเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) ทั้งหมดจนครบลูป คาดว่าจะส่งผลให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนคนต่อวัน รายได้จากธุรกิจรถไฟฟ้าขยายตัวมากกว่า 10% และรายได้จากค่าโดยสารที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 25 บาทต่อคน ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

ในช่วง 5 ปีข้างหน้า รายได้จากธุรกิจรถไฟฟ้าจึงมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 40% ของรายได้รวม ส่วนพอร์ตรายได้ของธุรกิจทางด่วนลดลงเหลือ 60%

“ปาหนัน โตสุวรรณถาวร” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด กล่าวว่า ในปี 2561 BEM มีรายได้รวม 19,000 ล้านบาท อันดับ 1 เป็นรายได้จากธุรกิจทางด่วนประมาณ 10,000 ล้านบาท และอันดับ 2 เป็นรายได้จากธุรกิจรถไฟฟ้าเกือบ 5,000 ล้านบาท มาจากค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 3,000 ล้านบาท และค่ารับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงอีก 2,000 ล้านบาท

ส่วนในปี 2562 คาดว่า BEM จะมีรายได้จากธุรกิจทางด่วนจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ประมาณ 2-3% และธุรกิจรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 3-4% ส่วนใหญ่มาจากผู้ใช้บริการที่มีจำนวนมากขึ้น

ขอบคุณภาพปก จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

Avatar photo