Economics

‘ ไออาร์พีซี ‘ เพิ่ม HVA-ซบตลาด CLMV หนีสงครามการค้า

“ไออาร์พีซี”เ พิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ HVA เป็น 60% ปีหน้า หันซบตลาด CLMV แทนตลาดจีน พร้อมเร่งวิจัยพัฒนา 60 ผลิตภัณฑ์ใหม่ ลดผลกระทบสงครามการค้า-ราคาผันผวน

IMG 20190815 155811

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัทได้วางทิศทางลดผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกประเทศ อาทิ สงครามการจีนและสหรัฐ รวมถึงความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ และการชะลอตัวของกำลังซื้อ

โดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (Hight Value Added :HVA) จาก 50% ในปัจจุบันเป็น 60%ในปี 2563 และลดผลิตภัณฑ์ตลาดทั่วไป (Commodity) จากขณะที่มีสัดส่วน 50%

นอกจากนี้ยังมีโครงการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการถึง 60 โครงการ เป็นโครงการระยะสั้นกว่า 25 ผลิตภัณฑ์  ระยะกลาง 10 ผลิตภัณฑ์ และระยะยาวกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยสร้างกำไรส่วนเพิ่ม 940 ล้านบาท

สำหรับโครงการระยะสั้นที่จะผลิตออกมาในปีหน้า อาทิ HDPE (High Density Polyethylene ),PP (polypropene) และ ABS (acrylonitrile-butadiene-styrene)เป็นต้น ส่วนระยะยาว อาทิ Energy Storage และแบตเตอร์รี่ในรถยนต์ เป็นต้น

รวมถึงการแผนการตลาดจากเดิมส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจีน 30% เหลือ 20% และขยายตลาดอินโดนิเซีย รวมถึงตลาด CLMV โดยเฉพาะเวียดนาม เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา ซึ่งมีความต้องการผลิตภัณฑ์มากขึ้นจากการเติบโตทางเศรษกิจ รวมถึงมุ่งเน้นตลาดในประเทศมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ยังนำดิจิทัลมาใช้ในขั้นตอนธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งองค์กร ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้ไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามคาดว่าสถานการณ์ครึ่งปีหลังจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก เห็นได้จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ กับต้นทุนวัตถุดิบ (สเปรด)ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมไปถึงกำไรขั้นต้นจากการผลิต (GIM)ก็มีทิศทางที่ดีขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 10.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบครึ่งปีแรกอยู่ที่ 9.94 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนกำลังการกลั่นในช่วงครึ่งปีหลังเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 205,000-206,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกอยู่ที่ 203,000 บาร์เรลต่อวัน

ประกอบกับโครงการผลิตน้ำมันเตากำมะถันต่ำ จาก 3.5% เป็น 0.5% ตามนโยบายขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำของบริษัทได้ผลิตออกจำหน่ายแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 15,000 ตันต่อเดือนและจะปรับเพิ่มขึ้นได้ถึง 60,000 ตันต่อเดือนตามความต้องการของตลาดในปลายปี

ส่วนโครงการสำคัญๆก็จะเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เป็นโครงการเพิ่มกำลังผลิตผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ โครงการ MARS ( Maximum Aromatics Project ) มูลค่าลงทุน 40,000 ล้านบาท ผลิตพาราไซลีน 1-1.3 ล้านตันต่อปี และเบนซีน 3-5 แสนตันต่อปี จะแล้วเสร็จในปี 2567 ซึ่งเลื่อนออกไปจากปี 2566 เพราะต้องการศึกษาผลตอบแทนการลงทุนอย่างรอบคอบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA)

ทางด้านโครงการปรับปรุงน้ำมันให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ยูโร 5 มูลค่าการลงทุน 8,000 ล้านบาท จะแล้วเสร็จก่อนปี 2567

Avatar photo