COLUMNISTS

ช่วยเหลือชาวสวนปาล์ม อย่าหยุดแค่ ‘ประกันรายได้’

Avatar photo
5395

จากระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือนหลังการแถลงนโยบายรัฐบาล ก็ได้เห็นความชัดเจนจากพรรคประชาธิปัตย์ที่เริ่มเดินเกมรุก ผลักดันนโนบายประกันรายได้เกษตรกร หลังได้ข้อสรุปจากที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร กำหนดหลักเกณฑ์ประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันที่กิโลกรัมละ 4 บาท ที่น้ำมัน 18 % โดยจำกัดครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่

S 24100893

วิธีการคือ เมื่อเอาผลผลิตไปขายแล้วราคาตลาดต่ำกว่า 4 บาทต่อกิโลกรัม รัฐก็จะโอนส่วนต่างที่เหลือไปที่บัญชี ธกส. ของเกษตรกรโดยตรง ตัวอย่างเช่น หากราคาเฉลี่ย 2.55 บาท/กิโลกรัม หรือตันละ 2,550 บาท (อ้างอิงตามราคาวันที่ 9 ส.ค.) หมายความว่ารัฐจะโอนตรงให้เกษตรกรเพิ่มอีก 1.45 บาทต่อกิโลกรัม หรือตันละ 1,450 บาท โดยเกษตรกรจะขึ้นทะเบียนการขายผลผลิตกับ ธกส. ไว้ และจะได้รับโอนค่าประกันรายได้ทีละ 3 เดือน

ในเงื่อนไขนี้ หากพูดให้ชัดคือรัฐจะจ่ายส่วนต่างให้ต่อเมื่อ “ราคาตลาด ต่ำกว่า ราคาที่รัฐกำหนด” เท่านั้น เพื่อเป็นหลักประกันรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร และไม่สร้างภาระงบประมาณจนมากเกินไป ต่างจากประชานิยมแบบโครงการรับจำนำ ที่รัฐเป็นผู้รับซื้อผลผลิตเกินกว่าราคาตลาด และยังต้องเสียค่ารักษาผลผลิตจนทำให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล

นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ถือว่าเป็นนโยบายที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุดในการช่วยเหลือเกษตรกรเฉพาะช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะหากรัฐบาลไม่สามารถขยับราคาตลาดได้เกินกว่าที่กำหนดไว้ได้ นโยบายประกันรายได้จะกลายเป็นภาระงบประมาณระยะยาว เป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน เพราะไม่สามารถขยับราคาผลผลิตให้สูงขึ้นได้อย่างยั่งยืน จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งรัดมาตรการต่างๆเพื่อความยั่งยืนของราคาตามหลักการของปาล์มคุณภาพและระบบปาล์มที่เป็นธรรม

หลักการคือต้องทำไม่ให้ผลผลิตล้นตลาดจนทำให้ราคาตก ด้วยการ “ดูดซับผลผลิตส่วนเกิน” ด้วยหลายวิธีการ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ระบุไว้เบื้องต้นหลายวิธี เช่น การส่งเสริมใช้น้ำมันดีเซล B10 , ใช้ปาล์มเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) , การใช้เครื่องวัดอิเล็กทรอนิกส์วัดสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบที่แม่นยำ และการผลักดัน พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมัน เพื่อกำหนดให้มีมาตราการที่ยั่งยืน

วิธีการเหล่านี้ ส่วนใหญ่ยังเป็นการดำเนินการโดยภาครัฐเป็นหลัก อาจช่วยลดอุปสงค์หรือสต็อกปาล์มน้ำมันได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เรื่องนี้ยังต้องลงไปดูถึงต้นทางของผลผลิต เพราะพบว่าโรงสกัดส่วนใหญ่รับซื้อปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรแบบ “คละเกรด” ทำให้โรงสกัดรับซื้อในราคาที่กดต่ำลง จึงทำให้ราคาตลาดถูกดึงต่ำลงไปด้วย จึงทำให้เกษตรกรประสบปัญหาราคาปาล์มตกต่ำทุกปี ขณะที่กำไรตกอยู่กับโรงสกัดที่รับซื้อขายปาล์มจากเกษตรกร ด้วยการทำกำไรจากน้ำมันที่สกัดแล้ว

S 24100895

มีโมเดลที่น่าสนใจคือ “มาเลเซีย” ที่ภาครัฐเข้ามาดูแลอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันทั้งระบบ ด้วยการกำหนดมาตรฐานคุณภาพปาล์มน้ำมัน ปรับหากตัดหรือรับซื้อปาล์มที่ไม่มีคุณภาพ เพื่อกำหนดตลาดปาล์มน้ำมันให้มีมาตรฐาน ป้องกันการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง

อีกวิธีที่ต้องทำควบคู่ไปกับการบริหารจัดการตลาดต้นทาง คือการเปิดตลาดส่งออกให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากน้ำมันปาล์ม ตั้งแต่น้ำมันปาล์มทำอาหาร , เนยขาว , มาการีน , ครีมเทียม , วานาสปาติ(เนยที่นิยมในอินเดีย/ปากีสถาน) จนไปถึงอาหารเสริม(วิตามินอี) อาหารสัตว์ ส่วนผสมสบู่ ครีมทาตัว เครื่องสำอางต่างๆ ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นที่ต้องการจากต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งรายงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2561 ระบุว่า อินเดียเป็นชาติที่นำเข้าปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 20.9 ของตลาดโลก ตามมาด้วยสหภาพยุโรปที่ร้อยละ 14.6 และจีนที่ร้อยละ 10.9 ของตลาดโลก

ขณะที่ไทยเองเป็นถึงประเทศที่ผลิตปาล์มน้ำมันได้เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย แต่การส่งออกกลับไปอยู่ที่อันดับ 9 ของโลก เนื่องจากปัญหาราคาส่งออกสูง ไม่สมดุลกับราคารับซื้อผลผลิตที่ตกต่ำ

อีกโมเดลที่น่าสนใจคือการใช้ส่วนอื่นๆ ที่เหลือใช้มาสร้างมูลค่า อย่าง “Palmleather” จาก STUDIO TJEERD VEENHOVEN นักออกแบบชาวเนเธอร์แลนด์ นำใบและกาบของปาล์มทำเป็นสิ่งของต่างๆ ได้หลายอย่าง ทั้งปกสมุด เก้าอี้ กระเป๋า รองเท้าแตะเพื่อสุขภาพในแบรนด์ Palmetti จนชนะรางวัลออกแบบระดับโลกมาแล้ว

PalmLeather

จึงเป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์และบีโอไอ ควรสนับสนุนการลงทุนให้ภาคธุรกิจที่คิดจะหยิบจับธุรกิจด้านนี้ เพื่อส่งเสริมรายได้ชาวสวนปาล์ม นอกเหนือจากการขายผลเพื่อสกัดน้ำมันเพียงอย่างเดียว