Branding

แบรนด์ ‘เสี่ยงสูง’ ผู้บริโภคยุคใหม่ ‘ไม่’ จงรักภักดีต่อแบรนด์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผลจากรายงานล่าสุดของนีลเส็น ในการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลก เผยถึงระดับของความ “ไม่” จงรักภักดีต่อแบรนด์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีเพียง 8% ของผู้บริโภคทั่วโลกที่เชื่อว่าตนเองเป็นผู้ที่ภักดีต่อแบรนด์หากพูดถึงแบรนด์โปรดของพวกเขา

การศึกษาความภักดีของผู้บริโภคทั่วโลกของนีลเส็น แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคมีความกระตืนรือร้นในการมองหาแบรนด์ใหม่ เนื่องจากการวางเดิมพันในการทดลองซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่นั้นถูกมองว่าไม่ได้มีความเสี่ยงมากนัก โดยจากระดับของรายได้ที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา ทั้งนี้ 42% ของผู้บริโภคทั่วโลกบอกว่าพวกเขาชอบลองของใหม่และเกือบครึ่ง หรือ 49% ของผู้บริโภคกล่าวว่าถึงแม้ปกติจะซื้อสินค้าที่ตัวเองรู้จักดีอยู่แล้ว แต่ก็มีโอกาสเปิดใจที่จะลองของใหม่ได้

Somwalee Photo
สมวลี ลิมป์รัชตามร

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกมีความนิยมในการเปลี่ยนแบรนด์มากที่สุดโดย 47% ยินดีที่จะเปลี่ยนแบรนด์หรือลองใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ตามด้วยแอฟริกาและตะวันออกกลาง อยู่ที่ 45% และละตินอเมริกา 42% แต่ผู้บริโภคในอเมริกาเหนือและยุโรปนั้นมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเปลี่ยนแบรนด์ โดยอยู่ที่ 36% และ 33% ตามลำดับ

ขณะที่แนวโน้มของประเทศไทยได้ตอกย้ำเทรนด์ของเอเชียแปซิฟิก โดยพบว่า 46% ของผู้บริโภคไทย พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่และมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่

สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัทเดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่กระตือรือร้นที่จะเปิดกว้างและเปิดรับสิ่งใหม่ๆมากขึ้นเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้กับเจ้าของแบรนด์ถึงความเสี่ยงยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา

Disloyalty infographic TH

สาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้แบรนด์ลอยัลตี้ลดลง มาจากการเติบโตและการเปิดรับของผู้บริโภคต่อตลาดอีคอมเมิร์ซที่มากขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มตัวเลือกของสินค้าให้กับผู้บริโภคและเพิ่มโอกาสในการรับรู้ข้อมูลสินค้าและตรวจสอบราคา

อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการขยายตัวของสังคมเมืองในประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และจะมีอัตราการเติบโตที่เร่งขึ้นอีกใน 5-10 ปีข้างหน้าจากโครงการเมกะโปรเจ็คหลายโครงการของรัฐ เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงเห็นได้ว่าเทรนด์ของผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกสบายและความยืดหยุ่นในการซื้อของหรือสั่งของนั้นมีเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่การเข้าถึงของอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ยังทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น และมีความต้องการความชัดเจนของข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากการที่ผู้บริโภคได้รับตัวเลือกที่มากขึ้นนั้นทำให้ทั้งนักการตลาดและผู้ค้าปลีกต่างก็จำเป็นต้องมีความคล่องตัวเพียงพอที่จะเคลื่อนตัว ปรับตัวได้เร็ว ต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและเป็นผู้นำเทรนด์ โดยมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการในอนาคต

นีลเส็น5

เมื่อพูดถึงปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเลือกแบรนด์ของผู้บริโภคชาวไทย ความคุ้มค่าของเงิน ถือเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุด ซึ่งผู้บริโภคชาวไทยกว่า 52% เห็นพ้องตรงกันว่ามีผลต่อการตัดสินใจของพวกเขาต่อการลองแบรนด์ใหม่หรือเปลี่ยนจากแบรนด์โปรด ตามมาด้วยคุณภาพหรือฟังค์ชั่นการใช้งานที่เหนือกว่า อยู่ที่ 43% โดยทั้งสองปัจจัยนี้ยังได้รับการจัดอันดับสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยกัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้บริโภคในภูมิภาคที่มีอัตราอยู่ที่ 40% ในเรื่องความคุ้มค่าของเงิน และ 42% สำหรับคุณภาพที่เหนือกว่า

นอกเหนือจากสองปัจจัยข้างต้น เรื่องของราคา ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น และความสะดวกสบายก็ยังเป็นปัจจัยโดดเด่นที่มีผลต่อการเลือกแบรนด์ของคนไทย

ดังนั้น ผลกระทบที่ลากยาวจากการที่ผู้บริโภคต้องการตัวเลือกมากขึ้น และมีสิทธิ์ในการเลือกมากขึ้น ทำให้ตลาดต้องทำการสร้างหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องขึ้นเรื่อยๆเพื่อเข้าสู่การแข่งขันหากแบรนด์ต่างๆไม่เริ่มจริงจังในการสร้างฐานลูกค้าที่ภักดี

นีลเส็น2

ผลสำรวจยังระบุว่า ผู้บริโภคมีความเต็มใจที่จะลองใช้แบรนด์ใหม่ๆเพิ่มขึ้น โดย 50% ของผู้บริโภคทั่วโลกกล่าวว่า มีแนวโน้มที่จะลองใช้แบรนด์ใหม่ที่ไม่เคยลองมาก่อนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อห้าปีที่แล้ว โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ละตินอเมริกา แอฟริกาและตะวันออกกลาง ให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ใหม่ และมีการตัดสินใจในการเปลี่ยนแบรนด์ที่เพิ่มขึ้น

สำหรับผู้บริโภคชาวไทยมากกว่าหนึ่งในสี่ หรือ 27% เห็นด้วยว่า พวกเขาทบทวนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ในกลุ่มตัวเลือกที่กว้างขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา โดยเรียกกลุ่มนี้ว่า “ผู้ซื้อที่พิจารณา” และพวกเขามีความสำคัญเพราะแม้ว่าพวกเขาจะเลือกสินค้าอย่างกว้างขวางมากขึ้นกว่าที่เคย แต่ผู้บริโภคกลุ่มนี้บอกว่า ชอบที่จะอยู่กับสิ่งที่เคยลองมาในอดีตมากกว่า ซึ่งเจ้าของแบรนด์ต้องใช้เวลามากขึ้นในการโน้มน้าวให้ผู้บริโภคเหล่านี้เปลี่ยนใจ แต่ยังคงส่งสัญญาณความไม่ภักดีต่อแบรนด์สินค้าและพร้อมที่จะเปลี่ยนตลอดเวลา

Avatar photo