Economics

‘ราช กรุ๊ป’ เล็งลงทุนสายส่งไฟฟ้าแสนล้าน-ประมูลเมกะโปรเจค

“ราช กรุ๊ป” เล็งร่วมวงกฟผ.ลงทุนสายส่งไฟฟ้าแสนล้านบาท พร้อมจ่อประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก-สีเทา และโครงการมอเตอร์เวย์ ด้านโรงไฟฟ้าหินกอง เดินหน้าเจรจาพันธมิตรร่วมทุน-หาแหล่งแอลเอ็นจีต้นทุนต่ำเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า

IMG 20190814 103200นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัทมีความสนใจในการเข้าร่วมลงทุนลักษณะความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในโครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศตั้งแต่เหนือลงใต้ และตะวันออกไปตะวันตก ที่จะปรับเป็นขนาด 500 เควี เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางอาเซียนกริดตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะมีมูลค่าการลงทุนกว่า 6-7 แสนล้านบาท

“หลายประเทศกำหนดให้สายส่งต้องเป็นของรัฐ เพราะจะต้องมีการรอนสิทธิประชาชนที่แนวสายส่งไฟฟ้าพาดผ่าน ดังนั้นการลงทุนสายส่งไฟฟ้า ควรเป็นภารกิจของกฟผ.เป็นหลัก แต่เราในฐานะเป็นบริษัทที่กฟผ.ถือหุ้นใหญ่ 45% ก็มีความสนใจในการร่วมลงทุนกับกฟผ. แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบาย ที่ต้องรอฟังกันต่อไป ”

นอกจากนี้บริษัทยังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งมอเตอร์เวย์ และรถไฟฟ้าสายต่างๆ ทั้งสายสีส้มฝั่งตะวันตก และสีเทา ในส่วนของสีส้มจะออกรายละเอียดการว่าจ้าง (ทีโออาร์) ปลายปีนี้ วงเงินโครงการกว่าแสนล้านบาท  ส่วนมอเตอร์เวย์จะเปิดทีโออาร์ในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ทั้งสายบางปะอิน-นครราชสีมา 196 กิโลเมตร และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กิโลเมตร

“เรามุ่งมาทางธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน เพราะประเมินมาแล้วว่า ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงโรงไฟฟ้า จะเป็นธุรกิจที่ยากต่อการถูก Disruption ซึ่งจะทำให้เราอยู่รอดได้ในระยะยาว”

สำหรับแผนการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าในปีนี้ กำลังเจรจาซื้อกิจการโรงไฟฟ้าทั้งในและอาเซียน 1-2 โครงการ มีกำลังผลิตไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัท ที่มีเป้าหมายจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ทุกปีอย่างต่อเนื่อง

มีเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2566 จากปัจจุบัน ณ เดือนกรกฎาคม มีกำลังผลิตไฟฟ้า 9,222 เมกะวัตต์ ทั้งนี้เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้า 3 แห่งที่จะหมดอายุในปี 2563-2570 ได้แก่ โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ขนาด 700 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี ขนาด 1,470 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรี ขนาด 2,175 เมกะวัตต์

สำหรับโรงไฟฟ้าหินกอง จังหวัดราชบุรี กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์นั้น อยู่ระหว่างการเจรจาหาผู้ร่วมลงทุน และเจรจาหาแหล่งก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี)มาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ซึ่งยังมีเวลาในการเจรจา เพราะโรงไฟฟ้าเข้าระบบหน่วยแรก 700 เมกะวัตต์ ในปี 2567 และหน่วยที่สองอีก 700 เมกะวัตต์ในปี 2568

ในส่วนของการซื้อแอลเอ็นจี นั้นเป็นไปได้ทั้งซื้อจากบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการซื้อขายแอลเอ็นจี หรือเป็นผู้นำเข้าเองตามนโยบายการเปิดเสรีกิจการแอลเอ็นจี และซื้อจากกฟผ.ในฐานะที่รัฐให้กฟผ.นำร่องนโยบายเปิดเสรีการนำเข้าแอลเอ็นจี แต่จะต้องปรับพ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก่อน เพราะกำหนดให้กฟผ.นำเข้า เพื่อใช้ในกิจการโรงไฟฟ้าของกฟผ.เท่านั้น ยังไม่เปิดให้นำเข้าเพื่อขายให้โรงไฟฟ้าอื่น แต่จะเลือกแนวทางใดนั้น จะดูต้นทุนเป็นหลักให้ได้ราคาต่ำที่สุด

“โรงไฟฟ้าหินกองเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ที่ถือว่าเสนอค่าไฟฟ้าที่ต่ำที่สุดแล้ว และมีความจำเป็นต้องทำให้ทันเวลา เพื่อส่งไปรองรับความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้ ที่ยังไม่มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่ม ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตถึง 4% ต่อปีจากการท่องเที่ยว และเชื่อว่าโรงไฟฟ้าหินกอง จะไม่ถูกทบทวนตามแผนพีดีพี ฉบับปี 2018 เพราะนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกาศไว้ว่าอะไรที่เดินหน้าไปแล้วจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้ก็ได้ลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ.ระยะเวลา 25 ปีไปแล้ว ”

สำหรับการดำเนินงานในครึ่งแรกปี 2562 บริษัทรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าที่เพิ่งเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ 2 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คอลลินส์ วิลล์ ในออสเตรเลีย กำลังผลิต 42.5 เมกะวัตต์ เดินเครื่องเมื่อเดือนมีนาคม และโครงการเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น กำลังผลิตตามสัดส่วนลงทุน 34.73 เมกะวัตต์  เริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดังนั้น  ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทมีกำลังผลิตที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตามสัดส่วนการลงทุนรวม 6,937.58 เมกะวัตต์

ทางด้านผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2562 บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 23,518.50 ล้านบาท รายได้หลักมาจาก 2 ส่วน คือ ค่าขายไฟจากโรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ และบริษัท ราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น รวมจำนวน 19,283.96 ล้านบาท คิดเป็น 82% ของรายได้รวม

และรายได้จากส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนจำนวน 2,362.96 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของรายได้รวม ทั้งนี้บริษัทมีกำไรสำหรับงวด จำนวน 3,693.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เทียบกับงวดเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.55 บาท

ฐานะทางการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 มีสินทรัพย์รวม จำนวน 99,156.02 ล้านบาท หนี้สินรวมจำนวน 39,550.93 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 59,605.09 ล้านบาท

Avatar photo