Business

รัฐเดินหน้าระบบราง5แสนล้านนักลงทุนทั่วโลกแห่ชิงเค้ก

รัฐ-เอกชน ผนึกกำลังจัดงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีระบบรางรถไฟฟ้า The 4th RISE & RAIL Asia Expo 2018 วันที่ 28-29 มีนาคมนี้ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนระบบรางทั่วโลก สนใจชิงเค้กเมกะโปรเจกต์ระบบรางปี’61 กว่า 5 แสนล้านบาท

thumbnail 18

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ในฐานะประธานงานประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทยครั้งที่4 กล่าวว่า ปี 2561 นับเป็นปีสำคัญที่โครงการระบบรางในประเทศไทย ด้วยสัญญาการประมูลและจัดซื้อจำนวนมากที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้ The 4th Thai Rail Industry Symposium and Exhibition (RISE) and RAIL Asia Expo 2018 ที่จัดขึ้นในวันที่ 28-29 มีนาคม 2561 ที่ ฮอลล์แสดงสินค้า สถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน กรุงเทพฯ ได้รับความสนใจคึกคัก ทางกระทรวงคมนาคมจะเป็นแกนนำสำคัญในการจัดประชุมในงานนำเสนอให้เห็นโอกาสใหม่ๆ ร่วมกับผู้ให้บริการเดินรถของภาครัฐและเอกชน และคู่ค้านักลงทุนระดับภูมิภาค

ระบบรางไทยเนื้อหอมต่างชาติจ้องชิงเค้ก

การประชุมในครั้งนี้จะอยู่ใต้แนวคิด “อนาคตระบบรางของอาเซียน” มีหัวข้อที่อยู่ในกระแสความสนใจพิเศษอาทิ รถไฟความเร็วสูง การขนส่งในเขตเมือง โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งระดับภูมิภาค และนโยบายการวิจัยเกี่ยวกับระบบราง และจุดเด่นที่หัวข้อในการประชุมครั้งนี้ จะมีเรื่องรายละเอียดโครงการขนส่งรูปแบบใหม่ในเขตเมืองของจังหวัดขอนแก่น ภูเก็ต นครราชสีมาและเชียงใหม่ พร้อมทั้งเรื่องแผนการลงทุนโครงการและโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งของประเทศ ที่รัฐบาลประกาศลงทุนถึงมูลค่า 2.25 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)ด้วย

อีกทั้งเมกะโปรเจกต์ระบบรางของไทย เอหอมได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก ล่าสุดรัฐบาลเห็นชอบการลงทุนระบบรางมูลค่ารวมกว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 5 แสนล้านบาท สร้างการเปลี่ยนแปลงการลงทุน เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญระดับโลกให้กับประเทศไทยโครงการใหม่ 12 โครงการ รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการขยายเส้นทางรถไฟทางคู่ เส้นทางรถไฟฟ้า 11 สายในกรุงเทพฯ โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 5 จังหวัดและอื่นๆ

     thumbnail ดิสพล ผดุงกุล

           นายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย กล่าวถึงการจัดงาน การประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการ อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 และ RAIL Asia Expo 2018 (The 4th Thai Rail Industry Symposium and Exhibition (RISE) and RAIL Asia Expo 2018) หรือ The 4th RISE Symposium & RAIL Asia Expo 2018 ที่จัดขึ้นในวันที่ 28-29 มีนาคมนี้ว่า ปีนี้นับเป็นการเติบโตของงานแสดงสินค้าด้านระบบราง ซึ่งงาน RAIL Asia Expo 2018 จัดโดยบริษัท เอเชีย เอ็กซิบิทชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด ปีนี้มีการผนึกกำลังกับ RISE การประชุมสัมมนาระบบรางภายใต้ การสนับสนุนจากภาครัฐ ร่วมกันจัดงานสินค้าระบบรางระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย และการประชุมสัมมนาด้านอุตสาหกรรมระบบรางขั้นสูง

“งานนี้ถือเป็นการพัฒนาระบบรางครั้งสำคัญยิ่ง เนื่องด้วยจะมีหน่วยงานภาครัฐ ผู้ให้บริการเดินรถ ผู้ผลิตเทคโนโลยีระบบอุปกรณ์ มาร่วมแสดงผลงานอย่างเต็มรูปแบบไปพร้อมๆกัน” นายดิสพลกล่าว

thumbnail รถไฟบนรางจำลอง

วิจัยเด่นพัฒนารถยนต์รางเบาวิ่งบนรางรถไฟ

นายดิสพล กล่าวด้วยว่า การพัฒนางานวิจัยระบบรางของไทยนั้น ได้มีการสนับสนุนงบประมาณจากเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ(คอบช.) โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ซึ่งได้กำหนดให้งานวิจัยระบบรางเป็นหนึ่งในแผนงานวิจัยมุ่งเป้าของประเทศ โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการบริหารแผนงานวิจัย เพื่อให้มีผลงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในด้านการคมนาคมระบบรางและตรงตามความต้องการของประเทศ พร้อมทั้งส่งมอบผลงานวิจัยสู่หน่วยงานผู้รับประโยชน์

         ในปีนี้เป็นการส่งมอบผลงานวิจัย เรื่อง“การพัฒนารถยนต์รางขนาดเบาวิ่งบนรางรถไฟมิเตอร์เกจหรือถนน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรฏฐ์ สุคนธนกานต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ส่งมอบผลงานให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

จากที่รัฐบาลมีแผนลงทุนพัฒนาระบบรางจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้อุตสาหกรรมของไทยที่เป็นงานต่อเนื่องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ได้มีการพัฒนาและพึ่งพาตัวเองได้ รวมถึงลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งระบบรถไฟฟ้าทั้งตัวรถ และการซ่อมบำรุงที่ผ่านมายังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ แต่โครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นคาดว่าจะมีการสนับสนุนวิศวกรไทย รวมถึงอุตสาหกรรมไทยในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ได้มีส่วนร่วมมากขึ้น และจะเป็นการช่วยลดต้นทุนโครงการ เพื่อสะท้อนไปที่อัตราค่าโดยสารของระบบรางที่ต่ำลง

          สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริหารแผนงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในด้านการคมนาคมระบบรางและตรงตามความต้องการของประเทศ ซึ่งในปีนี้ได้มีการนำเสนองานวิจัยเรื่อง “การพัฒนารถยนต์รางขนาดเบาวิ่งบนรางรถไฟมิเตอร์เกจหรือถนน” ซึ่งเป็นรถตรวจสภาพทางที่สามารถวิ่งได้ทั้งถนนและรางรถไฟขนาด 1 เมตร ซึ่งปัจจุบันต้องซื้อจากต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ราคา 30-50 ล้านบาท ตามแต่อุปกรณ์และขอบเขตของการใช้งาน ซึ่งรถตัวอย่างนี้หากมีการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมราคาจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 ล้านบาท

สำหรับรถตรวจสภาพทางตัวอย่างพัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรฏฐ์ จะนำรถปิกอัพมาติดระบบล้อขับเคลื่อนบนราง เบื้องต้นจะใช้เป็นรถขนอุปกรณ์ซ่อมทางรถไฟ สามารถวิ่งได้บนถนนและรางรถไฟ ต้นทุนเริ่มต้น 1.6 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าตัวรถ 1 ล้านบาท ค่าอุปกรณ์ 6 แสนบาท วิ่งบนรางที่ความเร็ว 60 กม./ชม. ในอนาคตสามารถต่อยอดอุปกรณ์ที่จะใช้งานเพิ่มเติมเพื่อเป็นรถอเนกประสงค์ได้

 

Avatar photo