Politics

นายกฯเยือนอังกฤษ-ฝรั่งเศสเชื่อมโยงการค้าการลงทุน

Priminister Prayuth
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2561 เวลา 20.15 น. ระบุว่า รัฐบาลได้น้อมนำพระบรมราโชวาท ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานไว้ เกี่ยวกับ “การปิดทองหลังพระ” ในใจความตอนหนึ่งว่า “…การทำงานด้วยใจรัก ต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ แม้จะไม่มีใครรู้ ใครเห็น ก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสำเร็จนั้น จะเป็นประจักษ์พยาน ที่มั่นคง…”

ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมานั้น นายกรัฐมนตรีได้รับเชิญให้ไปเยือนประเทศญี่ปุ่น จีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกาและอินเดีย อย่างเป็นทางการ ภายหลังจากที่สหภาพยุโรป มีมติข้อผ่อนปรนให้กับประเทศไทย สามารถเดินหน้าสานต่อความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ได้

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าการเดินทางมาเยือนสหราชอาณาจัก รและสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 20 – 26 มิถุนายน 2561 อย่างเป็นทางการในครั้งนี้ คือ “เส้นทางสู่ความสำเร็จร่วมกัน” ของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ตลอดจนการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะมิติการค้า การลงทุน ที่จะช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงตลาดให้กับผลผลิตของพี่น้องเกษตรกร รวมทั้งผู้ประกอบการ SME เพื่อให้ขายสินค้าได้มากขึ้น

รัฐบาล และ คสช.ได้วางแผนปฏิรูปและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยดำเนินการได้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล พร้อมทั้งสร้างความโดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศ ควบคู่กับการส่งเสริมผลประโยชน์ของคนไทยต่อไป

ปัจจุบันความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน มีการเปิดจุดผ่านแดนเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2560 มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปี 2559 แม้ว่าบริบทการต่างประเทศจะมีการแข่งขันกันสูงมากในปัจจุบัน แต่ประเทศไทยยังคงสามารถดำเนินนโยบาย ได้อย่างสมดุล โดยมีปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศ และได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ริเริ่มและเป็นเจ้าภาพการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติ อีกทั้ง ได้เลื่อนสถานะของไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์(TIP Report) ประจำปี 2559 จากTier 3 ขึ้นเป็น Tier 2 Watch List และคงสถานะเดิม ในปี 2560

ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมสำคัญระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคที่สำคัญ ๆ คือ การประชุม ASEAN-EU Ministerial Meeting และการประชุม ACD Summit ครั้งที่ 2 ซึ่งล้วนแต่เป็นเวทีที่ไทยประสบความสำเร็จ ในการผลักดันประเด็นความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาของภูมิภาค และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น (15-16 มิ.ย. 61) ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี เจ้าพระยาและแม่โขง (ACMECS) ครั้งที่ 8 และการประชุม ACMECS CEO Forum ครั้งที่ 1 ณ กรุงเทพมหานคร ภายใต้หัวข้อ “การก้าวสู่ประชาคมแม่โขงที่เชื่อมโยงกัน” โดยมีผู้นำจากประเทศสมาชิก CLMVT ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย เข้าร่วมด้วย

งานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างประชาคม ให้เป็น “หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา” ที่มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน การค้าชายแดน และการข้ามพรมแดนของประชาชนอย่างไร้รอยต่อ “ภายใต้แผนแม่บท 5 ปี (2562 –2566)” เพื่อทำให้ประเทศสมาชิกเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจ และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดีย กับมหาสมุทรแปซิฟิกได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดเวลาและต้นทุน ในการเดินทาง อีกด้วย

การประชุมครั้งนี้ ยังได้มีการรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ เป็นการส่งเสริมความเชื่อมโยง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการจัดตั้งกองทุน ACMECS เพื่อเป็นกลไกการระดมทุน เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศ ตามนโยบาย “Thailand 4.0” ตลอดจนการพัฒนาระบบ e-Commerce และมีบทบาทในการแสวงหาแนวทางปฏิบัติ

พร้อมทั้งช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และชี้ช่องทางเศรษฐกิจแก่ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ผ่านการให้ข้อมูลเชิงลึกของตลาดที่มีศักยภาพ รวมถึงด้านการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นการวางรากฐานด้านการต่างประเทศให้มีความเข้มแข็ง สามารถช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า โดยในอนาคตนั้น ประเทศไทย จะเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด APEC ในปี 2565

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (21 มิ.ย. 61) ได้หารือกับ นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งผลของการหารือ มีสาระสำคัญดังนี้ ด้านของความมั่นคงและส่วนของภูมิภาค ทั้งในภูมิภาคอาเซียน และอื่นๆ ตลอดจนด้านเศรษฐกิจ มีการเพิ่มมูลค่าการลงทุนค้าขาย ระหว่างไทยกับอังกฤษ และยุโรป หลังจากที่ได้มีการปฏิบัติตามมติของสหภาพยุโรป เป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดี

อีกทั้งด้านการส่งเสริมและพัฒนา ด้านทรัพยากรบุคคลด้านอุตสาหกรรมดิจิตอล ของบริษัทเพียสัน ซึ่งเป็นหลักสูตรด้านอาชีวะศึกษา ในขณะนี้ประเทศไทย ให้ความสำคัญด้านการศึกษาทวิภาคีมากขึ้น เป็นลำดับ การผลิตตามความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะใน EEC และในประเทศไทย เพื่อช่วยกันในการศึกษาวิเคราะห์หาแนวปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยอีกด้วย

ทั้งนี้ เพื่อสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในอนาคต นับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการเดินทางมาเยี่ยมเยือน สหราชอาณาจักรในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight