Business

ทีวีดิจิทัลหลังคดีไทยทีวี ‘เส้นทางข้างหน้ายังลำบาก’

หลังจากศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา กรณี ไทยทีวี ฟ้องคดี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ดำเนินการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ระบบดิจิทัลล่าช้า ไม่เป็นไปตามประกาศฯ เชิญชวนผู้ประกอบการเข้าร่วมประมูล  โดย ไทยทีวี เป็นผู้ชนะ ในประเด็นนี้  และศาลมีคำสั่งให้ กสทช. คืนหลักทรัพย์ค้ำประกัน (แบงก์การันตี) เงินค่าประมูลใบอนุญาต งวดที่ 3-6 มูลค่าประมาณ 1,500  ล้านบาท ให้ไทยทีวี

ไทยทีวีชนะคดี กสทช.
พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย

อีกทั้งในปี 2559 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่ง มาตรา 44  เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ด้วยการขยายเวลาจ่ายเงินค่าใบอนุญาตออกไปอีก 3 ปี และสนับสนุนเงินค่าส่งสัญญาณระบบดาวเทียม 3 ปี วงเงิน 2,500 ล้านบาท

จากการหารือของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ร่วมกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 รวมกับ กสทช. สรุปมาตรการช่วยเหลือ ทีวีดิจิทัล เพิ่มเติม  โดยจะพิจารณาออกคำสั่ง ม.44 ราวเดือน เม.ย. โดยมีมาตรการช่วยเหลือ ด้วยการพักหนี้จ่ายค่าใบอนุญาตงวดที่เหลือออกไป 3 ปี  และสนับสนุนค่าเช้าโครงข่ายส่งสัญญาณระดับดิจิทัล (Mux)  50%  เป็นเวลา 2 ปี

สถานการณ์ทีวีดิจิทัลวันนี้  นายสุทธิชัย หยุ่น  ผู้ก่อตั้ง บริษัท กาแฟดำ จำกัด  ให้มุมมองว่าคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีไทยทีวี เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่คดีที่ยังไม่สิ้นสุด เพราะทั้ง 2 ฝ่าย ยังใช้สิทธิอุทธรณ์คดีต่อ  คำพิพากษาศาลปกครองกลางถือเป็นแนวทางแก้ปัญหาระดับหนึ่ง  แต่ปัญหาทีวีดิจิทัล เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากยุคทีวีอนาล็อกสู่ทีวีดิจิทัล ต้องมีทั้งแรงสนับสนุนและแรงเสริม จากหน่วยงานกำกับดูแล ไม่ใช่การควบคุมเพียงอย่างเดียว

มุมมอง สุทธิชัย หยุ่น คดีไทยทีวี
สุทธิชัย หยุ่น-เขมทัตต์ พลเดช

“ที่ผ่านมาการเปลี่ยนผ่านจากทีวีดิจิทัล มุ่งไปที่การควบคุมเป็นหลัก มากกว่ามาตรการส่งเสริม จึงทำให้เกิดวิกฤติ แม้จะมีมาตรการเยียวยาทีวีดิจิทัลวันนี้ แต่อาจจะสายเกินไป เพราะความเสียหายได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมากแล้ว”

ในแง่เนื้อหาและคุณภาพของคอนเทนท์ทีวี ช่วงเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาลดลง  และยังไม่รู้ว่าจะกลับมาฟื้นได้อย่างไร  ปัจจุบันโครงสร้างเจ้าของสื่อทีวีดิจิทัล อยู่ในมือของนายทุนรูปแบบต่าง ๆ  ที่ไม่ใช่กลุ่มที่เข้าประมูลในปี 2556

เมื่อมีกลุ่มทุนเข้ามาถือหุ้น ก็ต้องการกำไร  ดังนั้นความสนใจที่จะได้สื่อคุณภาพและรักษาคุณภาพคอนเทนท์ อาจไม่ใช่เป้าหมายหลัก

“สิ่งที่ผมเป็นห่วง ในฐานะคนทำสื่อ คือ คนข่าวจะรู้สึกอึดอัด  เพราะไม่สามารถทำหน้าที่ในฐานะคนทำสื่อตามมาตรฐานวิชาชีพ และยังไม่เห็นแนวทางแก้ไขที่ชัดเจนจาก กสทช. องค์กรวิชาชีพสื่อเอง พยายามประคับประครอง แต่ก็ไม่สามารถก้าวก่ายการทำงานของเจ้าของสื่อได้เช่นกัน”

สังคมไทยหากจะเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง สื่อต้องเป็นกระบอกเสียงให้สังคม สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันสื่อเองยังเอาตัวรอดยังลำบาก    

สะท้อนได้จาก ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเตรียมการเลือกตั้ง หากเป็นภาวะปกติ การรายงานข่าวเลือกตั้ง จะคึกคักมากกว่านี้  สื่อจะทำหน้าที่เจาะข่าว เป็นตัวแทนของประชาชน จะมีการตั้งคำถาม  คนที่ อาสามาทำหน้าที่ สส. สว. ที่ต้องแสดงตนและแสดงจุดยืนต่าง ๆ มากกว่าที่ผ่านมา แต่วันนี้ ไม่เห็นสื่อทีวีทำหน้าที่ดังกล่าว เพราะอาจไม่มีเรี่ยวแรงที่จะทำหน้าที่อย่างครบถ้วน

ขณะที่ นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าทิศทาง ทีวีดิจิทัล หลังศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา คดีไทยทีวีและ กสทช. มองว่ายังต้องใช้เวลาในการหารือและวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ  อีกไม่ต่ำกว่า 1-2 เดือน  เพราะมีการใช้สิทธิอุทธรณ์คดี  รวมทั้งการพิจารณาใช้คำสั่ง มาตรา 44 ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล

“มองว่าหลังจากนี้รัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแล  อย่าง กสทช.ต้องพิจารณาว่า จะทำหน้าที่ควบคุมและส่งเสริมผู้ประกอบการให้ธุรกิจทีวีดิจิทัลให้แข็งแรงอย่างไร”

ปัจจัยที่จะทำให้สถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ตัดสินใจได้เร็วขึ้นว่า จะทำธุรกิจต่อหรือไม่ หลังจากรัฐบาลขับเคลื่อนแนวทางการแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น  และหน่วยงานกำกับดูแล  กสทช. กลับมาทบทวนว่าสิ่งที่ดำเนินการไป เป็นผลประโยชน์สาธารณะหรือไม่

 

เปิดคำพิพากษาคดีไทยทีวีชนะ กสทช.

 

Avatar photo