General

นมแม่ดีที่สุด ! แนะบันได 10 ขั้น เลี้ยงลูกด้วยนมจากอกแม่

แนะบันได 10 ขั้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเด็กทารก-เด็กป่วย สถาบันสุขภาพเด็กฯ ย้ำน้ำนมแม่ คือวัคซีนหยดแรก ช่วยปกป้องลูกจากการติดเชื้อ และสารพัดโรคภัย 

happiness 987394 640

กี่ยุคกี่สมัย โลกจะเปลี่ยนไปเพียงใด หรือเทคโนโลยีจะล้ำหน้าทะลุโลก แต่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีความสำคัญเสมอไม่เคยเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ทั้งต่อร่างกาย และจิตใจลูกน้อย นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์  ย้ำว่า น้ำนมแม่เป็นยาที่คุ้มกันสารพัดโรค มีผลต่อพัฒนาการของสมอง ลดการติดเชื้อในเด็กป่วย ลดอัตราการเสียชีวิตจากอุจจาระร่วง ลดโอกาสการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง และลดความรุนแรงของอาการป่วยด้วยโรคหลอดลมฝอยอักเสบที่เกิดจากไวรัส RSV จึงควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และหลัง 6 เดือนให้กินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยจนอายุ ครบ 2 ปี

อย่างไรก็ตามเด็กทารก และเด็กแรกเกิด ที่จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล มีโอกาสถูกแยกแม่ลูก หรือถูกสั่งให้งดนมแม่ด้วยเหตุผลต่างๆ ทำให้ขาดโอกาสที่จะได้รับน้ำนมแม่ ซึ่งเป็นอาหารที่มีคุณค่า และมีความสำคัญที่สุดในชีวิต จึงควรสนับสนุน และหาวิธีที่จะช่วยให้แม่ได้มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดู และรักษาลูกร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ด้วยน้ำนม เมื่อเด็กทารก หรือเด็กป่วย แม่จะต้องปรับตัวและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูก ตั้งแต่เด็กเข้ารักษาที่โรงพยาบาลจนแข็งแรงกลับบ้านได้

และแม่ต้องมีความพร้อมเมื่อออกไปดูแลลูกด้วยตนเองที่บ้าน ช่วงเวลาที่แม่อยู่กับลูกที่โรงพยาบาลจึงเป็นเวลาที่มีคุณค่ามาก ควรเปิดโอกาสให้อยู่กับลูกได้อย่างสะดวก และจัดกิจกรรมให้ได้มีโอกาสสัมผัสตัวลูกอย่างใกล้ชิด

นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า สถาบันฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการให้นมแม่ทั้งเด็กป่วย และเด็กปกติ จึงได้จัดตั้งคลินิกนมแม่ เพื่อส่งเสริมให้ทารกแรกเกิดป่วยได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่อง ให้แม่อยู่กับลูกตลอด 24 ชั่วโมง ฝึกความพร้อมก่อนกลับบ้าน บริการให้คำปรึกษาเรื่องการให้นมบุตร

baby 21167 640

โดยสถาบันฯขอแนะบันได 10 ขั้น สำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเด็กป่วย ดังนี้

บันไดขั้นที่ 1 การให้ข้อมูลนมแม่ในเด็กป่วย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนมแม่กับบิดามารดา และครอบครัวของทารกตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ ว่านมแม่มีประโยชน์อย่างไร และมีความจำเป็นมากสำหรับทารกและเด็กป่วย เน้นถึงคุณค่าของนมแม่ ในแง่ของการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค ให้กับทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย และทารกป่วย

บันไดขั้นที่ 2 การกระตุ้นการหลั่งน้ำนมให้มาเร็ว และต่อเนื่อง แม่ต้องบีบน้ำนม ทุก 2-3 ชม. จำนวน 8 ครั้งต่อวัน เพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนมอย่างเต็มที่

บันไดขั้นที่ 3 การเก็บรักษาน้ำนม

บันไดขั้นที่ 4 การเคลือบช่องปากด้วยน้ำนมแม่ การนำนมแม่เคลือบช่องปากลูกทุกๆ 3 ชม.

บันไดขั้นที่ 5 ให้แม่โอบกอดลูกเนื้อแนบเนื้อ เสริมสร้างความรักความผูกพันของแม่ลูก กระตุ้นการสร้างน้ำนม กระตุ้นให้น้ำนมมาเร็ว ทำให้ลูกได้รับหัวน้ำนมแม่เร็วขึ้น ลูกดูดนมแม่ได้เร็วขึ้น สร้างความมั่นใจในการดูแลลูก เพิ่มภูมิคุ้มกันผ่านทางน้ำนมแม่

บันไดขั้นที่ 6 การดูดเต้าเปล่า เป็นการเตรียมพร้อมการดูดนมจากเต้าเปล่า โดยการบีบน้ำนมออก 15 นาที ก่อนให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าโดยตรง เริ่มฝึกให้ลูกดูดนมจากเต้า

บันไดขั้นที่ 7 การเปลี่ยนผ่านสู่การดูดนมจากเต้า ควรให้ทารกได้เรียนรู้การดูดนมแม่

บันไดขั้นที่ 8 การวัดปริมาณน้ำนมที่ทารกได้รับ จะช่วยยืนยันว่าทารกได้รับน้ำนมพอหรือไม่

บันไดขั้นที่ 9 การเตรียมความพร้อม และสร้างความมั่นใจก่อนกลับบ้าน ได้เรียนรู้กับเหตุการณ์จริงที่จะเกิดขึ้น ช่วยสร้างความมั่นใจให้แม่ที่จะกลับไปเลี้ยงลูกที่บ้าน

บันไดขั้นที่ 10 มีระบบติดตามดูแลแม่หลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ติดตามภายหลังนำลูกกลับบ้าน เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง

Avatar photo