Economics

‘สามารถ’ โพสต์ชวน ‘ไล่ล่า ไอ้โม่ง ค่าโง่ทางด่วน’

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว”ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์” ระบุว่า ไล่ล่า “ไอ้โม่ง” ค่าโง่ทางด่วน

ค่าชดเชยที่หน่วยงานของรัฐต้องชดใช้ให้แก่เอกชนผู้รับสัมปทานโครงการของรัฐ จากการที่หน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานให้ครบถ้วนจนศาลตัดสินให้แพ้คดีมักเรียกกันว่า “ค่าโง่” ดังเช่น “ค่าโง่ทางด่วน” ที่อยู่ในกระแสความสนใจขณะนี้

ค่าโง่ที่เกิดขึ้นจากหลายโครงการไม่สามารถหาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ทำให้ยังคงมีค่าโง่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ค่าโง่ทางด่วนก็เช่นกันไม่มีการพูดถึงผู้กระทำให้เกิดค่าโง่ขึ้นมาเลย มีแต่เพียงพูดกันว่าจะขยายเวลาสัมปทานให้ผู้รับสัมปทานหรือไม่เท่านั้น เป็นการปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล ด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากเชิญชวนท่านผู้อ่านมาช่วยกันหาตัวผู้กระทำให้เกิดค่าโง่ทางด่วนขึ้นมา

ค่าโง่ทางด่วนเกิดจากข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกับบริษัท ทางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ข้อพิพาทสำคัญก็คือข้อพิพาทจากการแข่งขัน กล่าวคือกรมทางหลวงได้ขยายดอนเมืองโทลล์เวย์จากอนุสรณ์สถานไปถึงรังสิตทำให้เกิดเป็นคู่แข่งขันกับทางด่วนสายปากเกร็ด-บางปะอิน ซึ่งบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบีอีเอ็ม) เป็นผู้รับสัมปทานจากการทางพิเศษฯ โดยศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้การทางพิเศษฯ แพ้คดี และให้ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้รับสัมปทานเป็นเงิน 4,318 ล้านบาท ตามที่ผู้รับสัมปทานฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2542-2543 เท่านั้น

67685541 1704862659658630 5373962745471303680 o

ส่วนความเสียหายในช่วงปี พ.ศ.2544-2561 มีมูลค่า 74,590 ล้านบาท ยังไม่เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหากเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการจนถึงศาลปกครองสูงสุด แล้วการทางพิเศษฯ แพ้ จะทำให้การทางพิเศษฯ ต้องชำระเงินชดเชยให้ผู้รับสัมปทานจำนวน 74,590 ล้านบาท รวมเป็นเงินชดเชยที่เกิดจากข้อพิพาทจากการแข่งขันจำนวน 78,908 ล้านบาท (4,318+74,590) ซึ่งคิดเป็น 57.4% ของมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากข้อพิพาททั้งหมดจำนวน 137,517 ล้านบาท

ดังนั้น ข้อพิพาทจากการแข่งขันจึงเป็นข้อพิพาทที่น่าสนใจอย่างยิ่งเนื่องจากมีมูลค่าสูง น่าสนใจว่าเหตุใดการทางพิเศษฯ จึงยอมลงนามในสัญญาสัมปทานทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2539 โดยมีข้อความสรุปได้ว่า “การทางพิเศษฯ จะชดเชยรายได้ให้ผู้รับสัมปทานกรณีมีการแข่งขัน” การทางพิเศษฯ ไม่รู้เลยหรือว่าจะมีการขยายดอนเมืองโทลล์เวย์จากอนุสรณ์สถานไปจนถึงรังสิตเพื่อรองรับการจราจรในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อปี พ.ศ.2541 หลังจากรัฐบาลในปี พ.ศ.2539 ได้มีมติให้ขยายดอนเมืองโทลล์เวย์จากดอนเมืองถึงอนุสรณ์สถาน

สามารถ44

ก่อนลงนามในสัญญา การทางพิเศษฯ น่าจะฉุกคิดสักนิดว่าจะเป็นไปได้อย่างไรที่ดอนเมืองโทลล์เวย์จะถูกปล่อยให้ด้วนอยู่แค่อนุสรณ์สถานเพราะมีการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์รออยู่ที่รังสิต อีกทั้ง รัฐบาลในปี พ.ศ.2539 ได้มีมติให้ขยายดอนเมืองโทลล์เวย์จากดอนเมืองถึงอนุสรณ์สถาน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคงจะให้ขยายต่อไปจนถึงรังสิตเพื่อรองรับการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ถ้าฉุกคิดสักนิดก็จะรู้ว่าเป็นการเสี่ยงมากที่จะยอมให้มีข้อความดังกล่าวข้างต้นอยู่ในสัญญา

แต่จะตำหนิการทางพิเศษฯ เพียงหน่วยงานเดียวก็ไม่ได้ เพราะต่อมาในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2540 ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กรมทางหลวงขยายดอนเมืองโทลล์เวย์จากอนุสรณ์สถานไปจนถึงรังสิต ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะมีผลกระทบต่อรายได้ของผู้รับสัมปทานทางด่วนสายปากเกร็ด-บางปะอิน ตามหนังสือทักท้วงของผู้รับสัมปทานลงวันที่ 11 มีนาคม 2540 และที่สำคัญ ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2540 รับทราบผลกระทบของการขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ไปจนถึงรังสิตที่จะมีต่อทางด่วนสายปากเกร็ด-บางปะอิน พูดได้ว่าเป็นการอนุมัติให้ขยายทั้งๆ ที่รู้ว่าจะผิดสัญญา

เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ ท่านพอจะหา “ไอ้โม่ง” ค่าโง่ทางด่วนได้มั้ยครับ

ค่าโง่33

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight