Digital Economy

เปิดสมุดปกขาว ‘อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์’ ประเทศไทย ‘หัวเว่ย’ หนุน ใช้ ‘NB-IoT’

รายงานล่าสุดจาก GSMA Intelligence ระบุว่าตลาดไอโอที จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 ขณะที่มูลค่าตลาดจะแตกต่างกันไปตามการเชื่อมต่อ แพลตฟอร์ม การใช้งานและบริการ เมื่อถึงตอนนั้น จะมีการเชื่อมต่อไอโอทีเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 หมื่นล้าน (ทั้งที่เป็นเครือข่ายมือถือและไม่ใช่เครือข่ายมือถือ) โดยแรงสนับสนุนหลักจะมาจากการเติบโตของตลาดไอโอทีในอุตสาหกรรม

พร้อมกันนี้ ได้คาดการณ์ไว้ว่า ประเทศที่จะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเทคโนโลยีไอโอที ทั้งในด้านการเชื่อมต่อและรายได้ว่าจะอยู่ในเอเชียแปซิฟิกเป็นส่วนใหญ่
บริการมืออาชีพด้านไอโอที ซึ่งรวมถึงการบูรณาการระบบ (System Integration หรือ SI) บริการด้านการจัดการและให้คำปรึกษา จะครองส่วนแบ่งรายได้ถึง 27% จากรายได้ไอโอทีสุทธิภายในปี 2568

5G 1

หัวเว่ย ได้จัดทำสมุดปกขาวฉบับล่าสุดขึ้น เรื่อง อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ของประเทศไทย เพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ Mobile IoT สมัยใหม่ พร้อมคำแนะนำสำหรับการพัฒนา Mobile IoT สำหรับประเทศไทย โดยในส่วนของรัฐบาลเพื่อพัฒนาไอโอที ควรมีการกำหนดแผนระยะยาวในด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้), การเกษตรอัจฉริยะ และอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมทั้งกำหนดให้การพัฒนาไอโอทีเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ ยังควรให้การสนับสนุนด้านงบประมาณสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีไอโอทีในระยะต้น โดยเฉพาะการสนับสนุนทางด้านภาษี และนโยบายให้เงินอุดหนุน ที่สำคัญคือ เมื่อพิจารณาด้านความปลอดภัยและการพัฒนาอย่างยั่งยืน Mobile IoT (NB-IoT) ถือได้ว่าเป็นตัวเลือกหลักสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้ดีขึ้น

สำหรับคำแนะนำด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยนั้น หัวเว่ยชี้ชัดว่า การใช้งานด้านความปลอดภัยของประเทศ เช่น ความปลอดภัยสาธารณะ การขนส่ง และระบบไฟฟ้า บริการของไอโอที ต้องใช้คลื่นความถี่เฉพาะ Mobile IoT (NB-IoT) ขณะที่ด้านเศรษฐกิจของประเทศและมาตรฐานการครองชีพของประชาชน รวมไปถึงการสื่อสารระยะไกล เช่น มาตรวัด การเกษตร ระบบเฝ้าติดตาม และโลจิสติกส์ ต้องมีการจัดสรรคลื่นที่ได้รับอนุญาตสำหรับบริการไอโอที และต้องใช้โซลูชันความปลอดภัยระดับผู้ประกอบการโทรคมนาคมเพื่อป้องกันดาต้าและเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จะเห็นได้ว่า หัวเว่ยแนะนำว่า ไอโอทีของไทย ควรใช้ระบบ NB-IoT โดยมองว่า การให้บริการ Mobile IoT ต้องเป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมระดับสากลและคลื่นความถี่ที่มีใบอนุญาต ซึ่ง NB-IoT และ LTE-Mต่างก็มีมาตรฐานที่เป็นไปตามความคาดหวังของลูกค้าในด้านการทำงาน ความเสถียร ความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัย ความคุ้มค่าคุ้มราคา และความสามารถในการให้บริการได้อย่างครอบคลุม ซึ่งตารางด้านล่างแสดงถึงตัวบ่งชี้ทางเทคนิคของเทคโนโลยี IoT โดยลูกค้าสามารถเลือกโซลูชันที่เหมาะกับตนได้โดยอิงข้อมูลจากตารางนี้

ระบบคลื่น

ดังที่เห็นในตาราง NB-IoT มีข้อดีอยู่หลายประการ ซึ่งรวมถึงความครอบคลุมของเครือข่าย ประสิทธิภาพของคลื่นความถี่ อัตราการรับส่งข้อมูล การใช้พลังงาน และค่าใช้จ่ายสำหรับโมดูล ดังนั้น เมื่อใช้ LPWA จะเห็นว่า NB-IoT เป็นตัวเลือกที่เหนือกว่า

มาทำความเข้าใจถึงชุดเทคโนโลยีเครือข่ายมือถือสำหรับไอโอทีกัน

3rd Generation Partnership Project (3GPP) หน่วยงานมาตรฐานระดับโลก ได้กำหนดชุดเทคโนโลยีเครือข่ายมือถือใหม่สำหรับไอโอทีไว้ในปี 2559 โดยตั้งชื่อว่า Mobile IoT ซึ่งประกอบด้วย

• Narrowband IoT (NB-IoT/LTE Cat-NB) เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีนี้ และเป็นเครือข่ายที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักพัฒนาและผู้ให้บริการโซลูชันไอโอที ในการพัฒนาโอกาสด้านเทคโนโลยีให้กลายเป็นตัวอย่างการใช้งานเชิงพาณิชย์

• LTE-M (eMTC/LTE Cat-M) เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีไอโอทีเครือข่ายมือถือใหม่ ที่รองรับตัวอย่างการใช้งานด้วยอัตราการส่งข้อมูลที่เร็วขึ้นและความหน่วงเวลาต่ำ

• NB-IoT และ LTE-M ส่งเสริมกันและกัน และเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาไอโอที

• NB-IoT จะมาพร้อมกับการครอบคลุมพื้นที่ในอาคาร การรองรับอุปกรณ์ความหน่วงต่ำจำนวนมาก การรับรู้ที่หน่วงเวลาต่ำ ค่าต้นทุนอุปกรณ์ที่ต่ำมาก การใช้พลังงานอุปกรณ์ต่ำ และโครงสร้างเครือข่ายที่ได้รับการปรับให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

5G1

 

 

ปัจจุบัน ผู้ให้บริการเครือข่ายทั่วโลกกำลังเริ่มเปิดตัวบริการเครือข่าย NB-IoT และ LTE-M และนำมาใช้เป็นส่วนสำคัญในกลยุทธ์ 5G ไอโอทีในระยะยาว โดย Mobile IoT นั้นมีความเกี่ยวข้องกับ Low Power Wide Area หรือ LPWA (ระบบที่ใช้พลังงานต่ำและมีความสามารถในการขยายสัญญาณให้ครอบคลุมได้ไกล) ซึ่งเป็นเครือข่ายไอโอที ที่ปลอดภัย ดำเนินการโดยผู้ให้บริการเครือข่าย และได้มาตรฐาน 3GPP

ด้วยเหตุนี้ ผู้คนจึงคาดหวังว่า 5G จะมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและช่วยขับเคลื่อนตัวอย่างการใช้งานที่มีแมชชีนเข้ามาช่วย การใช้ 5G จะช่วยให้เส้นทางของเทคโนโลยี 3GPP อย่างเช่น NB-IoT และ LTE-M ใกล้ความจริงมากขึ้นและกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว 5G

GSMA รายงานว่า นับจนถึงเดือนมิถุนายน 2562 มีการเปิดตัวเครือข่าย Mobile IoT เชิงพาณิชย์ (ทั้ง NB-IoT และ LTE-M) ไปแล้วกว่า 118 เครือข่าย คาดว่าการครอบคลุมของเครือข่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 93% ในตลาดไอโอทีที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 โดยปัจจุบัน ประเทศจีนมีผู้ใช้ NB-IoT แล้วเกิน 50 ล้านคน และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ จำนวนผู้ใช้จะเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านคน โดยราวๆ 10 ล้านคนจะเป็นผู้ใช้ระบบน้ำอัจฉริยะ ระบบก๊าซอัจฉริยะ เครื่องตรวจจับควัน และอุปกรณ์อื่นๆ

นอกจากประเทศจีนแล้ว ตลาดไอโอทีในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกก็มีความคึกคักไม่แพ้กัน ในยุโรป โครงการมากมายต่างมีผู้ใช้งานไม่น้อยกว่า 100,000 ราย เช่น โครงการ Connected Sheep (ระบบติดตามตำแหน่งของแกะในฟาร์ม) ในนอร์เวย์ มิเตอร์วัดพลังงานอัจฉริยะในสวีเดน ระบบตู้จัดไฟล์เอกสารอัจฉริยะในเยอรมนี ระบบจอดรถอัจฉริยะในเยอรมนีและเบลเยียม ตู้คอนเทนเนอร์อัจฉริยะในออสเตรีย และระบบควบคุมเครื่องทำน้ำอุ่นอัจฉริยะในเนเธอร์แลนด์

ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยนับว่าเป็นตลาดที่มีความตื่นตัวมากทีเดียว เพราะเริ่มมีโครงการที่สามารถนำไปต่อยอดได้ อาทิเช่น ระบบจักรยานยนต์สำหรับตำรวจ ระบบจอดรถอัจฉริยะ และโปรแกรมติดตามตำแหน่งของนักเรียนเพื่อป้องกันภัยอันตราย ในภูมิภาคอื่นๆ ก็ประสบความสำเร็จจากการพัฒนา NB-IoT ด้วยเช่นกัน ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกาล้วนใช้งานและพัฒนาเทคโนโลยีไอโอทีในวงกว้างกันแล้วทั้งสิ้น

พื้นฐานสำคัญสำหรับตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีไอโอที คือ การเชื่อมต่อ (Connectivity) ที่ช่วยทำให้เกิดการรับรู้และการวัดผลเทคโนโลยีอย่างคลาวด์ ไอโอที บิ๊กดาต้า บรอดแบนด์ และดาต้าเซ็นเตอร์ โดยเทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เกิดการทรานสฟอร์มในการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล และตัวขับเคลื่อนทั้งหมดนี้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาเพื่อทำการประเมินวัดผลกระทบของการเชื่อมต่อที่มีต่อเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศหนึ่ง ๆ

ด้านนโยบายของประเทศไทยนั้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) กำลังเร่งดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่จำเป็นเพื่อเปิดให้บริการ 5G ในราวปี 2563 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจะรวมถึงโรดแมปการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้ครอบคลุมคลื่นที่หลากหลาย

ขณะที่ กสทช. วางแผนจัดสรรคลื่นดาวน์ลิงก์และอัพลิงก์รวมจำนวน 380 เมกะเฮิร์ตซ์ ครอบคลุม 4 คลื่นความถี่ในราวปี 2563 ประกอบด้วย คลื่นความถี่ 2600 MHz จำนวน 180 เมกะเฮิร์ตซ์ และคลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 90 เมกะเฮิร์ตซ์ ในเดือนสิงหาคม 2561 และคลื่นความถี่ 700 MHz อีก 90 เมกะเฮิร์ตซ์ ในราวปี 2563 การเพิ่มประสิทธิภาพของโมบายบรอดแบนด์ให้ดีขึ้นจะเป็นตัวอย่างการใช้งาน (Use Case) ของเทคโนโลยี 5G ครั้งแรกในประเทศ ตามมาด้วยตัวอย่างการใช้งานไอโอทีที่พัฒนาตามมา

Avatar photo