World News

แบงก์ชาติโลกแห่เตือนขัดแย้งการค้าทำลายศก.โลก

แบงก์ชาติทั่วโลกประสานเสียง เตือนความขัดแย้งทางการค้าที่เพิ่มความรุนแรงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งยังอาจทำให้ยุคดอกเบี้ยต่ำมากยืดเยื้อออกไปอีก

banker

สื่อต่างประเทศรายงานว่า ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ สร้างความอึดอัดใจให้กับบรรดาธนาคารกลาง ของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่จำนวนหนึ่ง ที่กำลังเริ่มดำเนินการเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายการเงิน หลังจากที่ปล่อยให้อยู่ในสถานะผ่อนคลายอย่างมากมาตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลก

ระหว่างการหารือที่โปรตุเกส ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารกลางออสเตรเลีย (อาร์บีเอ) เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใจเย็น พร้อมเตือนว่า จะต้องจ่ายค่าตอบแทนราคาแพง ถ้าหากความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นโลกพากันเดินสู่ขาลงในสัปดาห์นี้ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ที่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่อนุมัติการเก็บภาษีนำเข้าไปแล้ว 50,000 ล้านดอลลาร์

“เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก และผมก็ไม่เห็นสิ่งดีๆ จากเรื่องนี้แต่อย่างใด” มาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี เจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ ระบุ

000 15B06L
มาริโอ ดรากี

เขาเตือนด้วยว่า ข้อขัดแย้งในเรื่องการค้าจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก สำหรับเศรษฐกิจของ 19 ชาติสมาชิกยูโรโซน ที่ชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรป (อียู) ระบุว่า จะเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าสหรัฐ มูลค่าประมาณ 3,200 ล้านดอลลาร์ เพื่อตอบโต้การที่สหรัฐประกาศจัดเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก และอลูมิเนียมจากอียู

แต่การเคลื่อนไหวของอียู ไม่มีแนวโน้มที่จะสกัดสหรัฐ ไม่ให้ประกาศจัดเก็บภาษีนำเข้ารอบ 2 ที่อาจมุ่งเป้าไปยังอุตสาหกรรมรถยนต์ยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ที่มีมูลค่าราว 0.3% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจโดยรวมของอียู

ทางด้านเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ก็ได้กล่าวเตือนในที่ประชุมเช่นกันว่า การเปลี่ยนแปลงในนโยบายการค้า อาจทำให้เหล่าธนาคารกลาง ต้องกลับมาพิจารณาเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจใหม่

000 15W9UX
เจอโรม พาวเวล

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เฟดเพิ่งปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น พร้อมส่งสัญญาณถึงการขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น เพื่อป้องกันเศรษฐกิจสหรัฐ ไม่ให้อยู่ในภาวะร้อนแรงจนเกินไป

แม้ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจะยังไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ แต่พาวเวลก็ระบุว่า ภาคธุรกิจได้แสดงความกังวลมากขึ้น ต่อเรื่องที่ความขัดแย้งทางการค้า อาจส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุน และการจ้างงานของบริษัท

ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจ ระบุเช่นเดียวกันว่า ความขัดแย้งทางการค้าจะเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลอย่างมาก

“ผลกระทบทางอ้อมที่มีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น อาจมีค่อนข้างมาก ถ้าความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีน กับสหรัฐ ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพราะเรื่องนี้ อาจส่งผลกระทบต่อศูนย์กลางซัพพลายเชนในหลายประเทศ อย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน และทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

000 TV3VA
ฮารุฮิโกะ คุโรดะ

ทางด้าน ฟิลิป โลว์ ผู้ว่าการแบงก์ชาติออสเตรเลีย แสดงความเห็นว่า แม้โดยตัวของภาษีนำเข้าอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่นักลงทุนอาจทำให้เรื่องนี้รุนแรงมากขึ้น ผ่านทางตลาดการเงิน

“ผมเชื่อว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับเรื่องการค้า เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมาก ไม่ต้องใช้เวลานานมากนักสำหรับตลาดการเงิน ที่จะทำให้เรื่องนี้ กลายเป็นสถานการณ์ขนาดใหญ่มากของโลก”

ทางด้านนักวิเคราะห์ชี้ว่า ปัญหาของเหล่าธนาคารกลางประเทศเหล่านี้ อยู่ตรงที่ว่า พวกเขายังไม่พร้อมที่จะรับมือกับขาลงทางเศรษฐกิจรอบใหม่ หลังจากที่ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างมากมานานหลายปี

มูลค่าสินทรัพย์ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นถือครองอยู่ มีแนวโน้มที่จะแซงหน้าผลผลิตทางเศรษฐกิจรายปีของประเทศแล้วในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ส่วนงบการเงินของอีซีบี ก็เติบโตอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งธนาคารกลางของทั้ง 2 ประเทศต่างคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำกว่า 0%

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight