Marketing Trends

ส่องสถานการณ์ล่าสุด ‘ไอโอที’ กับบทบาทขับเคลื่อนประเทศไทย สู่ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’

หัวเว่ย รายงานสถานการณ์ อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (ไอโอที)ของประเทศไทย ในงาน Thailand IoT Industry Summit ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) เควกเทล และหัวเว่ย โดยระบุกรอบการทำงานสำหรับเทคโนโลยี อีโคซิสเต็ม และการใช้งาน ไอโอที ทั้งทั่วโลกและในประเทศไทย เพื่อร่วมแนะนำแนวทางการพัฒนาธุรกิจแก่สตาร์ทอัพด้านไอโอทีและกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย

5G

เริ่มจากสถานการณ์ในตลาดโลก โดยข้อมูลของ GSMA Intelligence ณ เดือนพฤษภาคม 2562 ระบุว่า มีเครือข่ายมือถือไอโอที ที่เปิดใช้งานเชิงพาณิชย์แล้วทั้งสิ้น 114 เครือข่ายทั่วโลก โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีนี้ และยังเป็นตลาดไอโอทีระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาและยุโรป โดยจะมีจำนวนการเชื่อมต่อไอโอทีมากที่สุดประมาณปี 2568 จากการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ยังประเมินว่า เอเชียแปซิฟิคจะเป็นภูมิภาคที่สร้างรายได้สูงที่สุดถึงราว 3.86 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่รายได้จากไอโอทีทั่วโลกจะสูงเป็นสี่เท่าหรืออยู่ที่ 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 จากการส่งเสริมของรัฐบาลและการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของการเชื่อมต่อไอโอทีในภาคอุตสาหกรรม

ส่วนการเชื่อมต่อไอโอทีทั่วโลกจะเพิ่มสูงถึง 2.5 หมื่นล้านในราวปี 2568 และมีตัวอย่างการใช้งาน (Use Case) ของเทคโนโลยี NB-IoT ถึง 50 รูปแบบใน 40 อุตสาหกรรมทั่วโลก โดยมีจีนเป็นประเทศที่มีการใช้งานมากที่สุดในโลก

NB IoT

เมื่อมองถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยี NB-IoT ในประเทศไทย ค่ายเอไอเอส ได้เปิดให้บริการ NB-IoT โดยใช้คลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ครอบคลุมทั่วทั้ง 77 จังหวัดในประเทศไทย และ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้เปิดให้บริการ NB-IoT ทั่วทั้งประเทศเช่นกัน พร้อมทั้งเริ่มทดสอบการใช้งานบางรูปแบบ อาทิ การติดตามเด็ก ผู้สูงอายุ มิเตอร์วัดน้ำอัจฉริยะ มิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ Cow-Connected (เซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิและสภาพร่างกายของวัว) รวมถึงการใช้งานที่เริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว อาทิ การติดตามรถ ที่จอดรถอัจฉริยะ ระบบแสงไฟถนนอัจฉริยะ เป็นต้น

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเตรียมพัฒนาสร้างเมืองอัจฉริยะให้ได้ตามเป้าหมาย 30 เมืองใน 24 จังหวัดในราวปี 2563 และพลิกโฉมเมืองอีก 100 แห่งทั่วประเทศให้เป็นเมืองอัจฉริยะในปี 2565 โดยในปี 2562 จะมีการเชื่อมต่อ C-IoT (2G, 3G, 4G) 8 ล้านจุด และจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 15 ล้านในราวปี 2565 โดยจะมี “Connected Energy” ซึ่งพัฒนามาจากการอ่านสมาร์ทมิเตอร์แบบเดิมเป็นหลัก และจะเป็นรูปแบบการเชื่อมต่อที่ใช้กันโดยส่วนใหญ่ ตามมาด้วยเชื่อมต่อยานพาหนะ (Connected Car) และเชื่อมต่ออุตสาหกรรม (Connected Industry)

ความสำคัญของไอโอทีนั้น จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญ ที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อน 5 อุตสาหกรรมอนาคต (S-Curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Bio chemicals) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) โดยตั้งใจให้เป็นการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานรูปแบบใหม่

HongMeng OS is an IoT system 1

ความต้องการเทคโนโลยีไอโอทีที่กำลังเพิ่มขึ้นในทุกประเภทอุตสาหกรรม การพัฒนาสาธารณูปโภคอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ ตลอดจนการผลักดันจากภาครัฐได้ขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีการใช้งานเทคโนโลยีไอโอที ในภาคอุตสาหกรรมให้ขยายตัวต่อไป

ตัวอย่างของอุตสาหกรรมอนาคต ที่ใช้ไอโอทีเข้ามาร่วมขับเคลื่อนพัฒนา เช่น สถาบันไอโอที กำลังมีส่วนช่วยพัฒนาแรงงานดิจิทัลด้านการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพเพื่อรองรับความต้องการของตลาด ขณะที่อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ที่ขับเคลื่อนด้วยไอโอทีในหลายๆ รูปแบบ ตั้งแต่การขนส่งทางเรือและทางอากาศ ไปจนถึงการเก็บและการส่งสินค้า การใช้งานบางอย่างต้องการการติดตามการส่งสินค้าแบบเรียลไทม์ การขยายประสิทธิภาพของคลังสินค้า การคาดการณ์การซ่อมบำรุงทรัพยากร การคำนวณเส้นทางให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น

ในส่วนของหุ่นยนต์ต่างๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอัตโนมัติก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และเทคโนโลยี ไอโอที การผสานบิ๊กดาต้าเข้ากับการวิเคราะห์ในระบบอัตโนมัติของโรงงาน เซ็นเซอร์อัจฉริยะ และอุปกรณ์กระตุ้นการทำงานจากอุปกรณ์ไอโอทีที่รับส่งข้อมูลโดยใช้ไอพี เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมการแพทย์ มีการผสานเทคโนโลยี ไอโอทีเข้ากับการแพทย์และการดูแลสุขภาพ เช่น การเฝ้าติดตามการแพทย์ทางไกล โดยหลักๆ จะใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ไอโอที เพื่อสร้างระบบการให้คำปรึกษาทางไกลโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และระบบการดูแลติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยวิกฤต ฯลฯ

videoblocks robot

สำหรับบทบาทการมีส่วนร่วมของหัวเว่ยในการพัฒนาไอโอที และสร้างระบบนิเวศในประเทศไทย จะดำเนินการในหลายด้าน ได้แก่ การสนับสนุนพันธมิตร Software Integrator (SI) ในประเทศไทย ที่ต้องการแพลตฟอร์มไอโอที ที่ทรงพลังเป็นที่ยอมรับ เพื่อผสานการใช้งานอุปกรณ์ดีไวซ์ แอปพลิเคชัน และโซลูชันไอโอทีเพื่อให้บริการตามความต้องการของลูกค้า โดยแพลตฟอร์ม Ocean Connect IoT ในพับลิคคลาวด์ของหัวเว่ย ได้ช่วยให้พันธมิตร SI สามารถพัฒนาไอโอที และนำแอปพลิเคชันออกสู่ตลาดได้เร็วมากขึ้น

นอกจากการสนับสนุนพันธมิตร SI แล้ว แพลตฟอร์ม Ocean Connect IoT ยังสามารถช่วยสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ และนักพัฒนาเพิ่มเติมในการผลักดันแอปพลิเคชันสู่ตลาดโลก อาทิ โลจิสติกส์ การผลิตพลังงาน โรงพยาบาลและการดูแลสุขภาพ องค์กรธุรกิจ โรงเรียน เมือง และอื่นๆ พร้อมทั้งผนวกรวมชุมชนพันธมิตรไอโอที ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนนักพัฒนาและ SI ในการขับเคลื่อนไอโอทีให้เข้าสู่ตลาดได้รวดเร็วขึ้น

จากความก้าวหน้าด้านไอโอทีทั่วโลก และมีตัวอย่างการใช้งาน (Use Case) แอปพลิเคชันไอโอทีมากมาย ที่สามารถนำมาปรับใช้ในประเทศไทยได้ อาทิ สมาร์ทมิเตอร์ ที่จอดรถอัจฉริยะ ระบบตรวจจับควันอัจฉริยะ ระบบติดตามอัจฉริยะ และการเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น
Huawei 1

หัวเว่ยยังมองว่า จากตัวอย่างการใช้งาน NB-IoT ทั้ง 50 รูปแบบใน 40 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยเป็นประเทศหลักในภูมิภาคนี้ที่จะได้ปรับใช้ตัวอย่างการใช้งาน NB-IoT ได้มากพอๆ กับที่ใช้กันทั่วโลก โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้แก่ กลุ่มสมาร์ทซิตี้ อาทิ ระบบแสงไฟถนนอัจฉริยะ มิเตอร์น้ำอัจฉริยะ มิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่จอดรถอัจฉริยะ ระบบดักจับควันอัจฉริยะ ระบบเฝ้าดูแลถังขยะ ระบบเฝ้าติดตามฝาท่อน้ำ เป็นต้น กลุ่มสมาร์ทอินดัสทรี เช่น การเกษตรอัจฉริยะ Connected Cow ระบบคลังสินค้าและขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ ระบบติดตามการขนส่งสินค้า และ สมาร์ทไลฟ์ อาทิ ระบบติดตามมอเตอร์ไซค์ ระบบติดตามคน สมาร์ทล็อค เป็นต้น

Avatar photo