Digital Economy

‘ธีรนันท์ ศรีหงส์’ แม่ทัพใหม่ TMA ตั้งเป้าเป็นแพลตฟอร์มกลางสร้างความร่วมมือ

JA1 3185
นายธีรนันท์ ศรีหงส์

ปิดตัวอดีตแม่ทัพด้านเทคโนโลยีจากธนาคารกสิกรไทย “ธีรนันท์ ศรีหงส์” ในตำแหน่งใหม่ “ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย” หรือ TMA พร้อมประกาศภารกิจหลักสร้างประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล โดยวาง TMA เป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับดึงทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน

เป็นองค์กรที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วถึง 54 ปี โดยในยุคแรก ๆ ของ TMA ได้รับการจดจำในฐานะองค์กรที่เน้นการสร้างผู้นำที่มีความสามารถผ่านคอร์สอบรมต่าง ๆ แต่สำหรับยุคแห่ง Technology Disruption สิ่งที่เกิดขึ้นจากการประกาศวิสัยทัศน์ของผู้นำคนใหม่อย่าง “ธีรนันท์ ศรีหงส์” คือการผลักดันให้ TMA กลายเป็นองค์กรแห่งความร่วมมือ และเป็นองค์กรแห่งการดึงทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยเขาให้เหตุผลว่า ในยุคดิจิทัล ไม่สามารถสร้างแต่คนได้อีกต่อไป หากต้องสร้างประเทศให้เข้มแข็งในองค์รวมด้วยจึงจะสามารถอยู่รอดได้

“เราเจอจุดแข็งที่ว่า เราคือแพลตฟอร์มที่ทำให้สามกลุ่มหลักอย่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เข้ามาทำงานร่วมกัน โดยเรามีการผลักดันอย่างชัดเจนในเรื่องการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เช่นการจัดตั้ง Food Innopolis และดึงคนจากทุกภาคส่วนทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามา เพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านอาหาร เป็นต้น”

จากจุดแข็งด้านการเป็นแพลตฟอร์มกลางนี้ แม่ทัพคนใหม่ของ TMA เชื่อมั่นว่า จะสามารถเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจาก “ต่างคนต่างทำ” ไปสู่ “ต่างคนต่างมาร่วมกันทำงาน” ได้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพมากพอ และไม่ใช่เพื่อแข่งขันกับต่างชาติ หากแต่เป็นการ “ทำงานร่วมกับต่างชาติ” ได้

JA2 9104

“เราต้องไม่ใช่ประเทศที่รวยอยู่คนเดียว ในขณะที่ลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ จนหมด ผมเชื่อว่าสิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยมั่นคงได้ พม่าต้องรวย ลาวต้องรวย กัมพูชาต้องรวย เวียดนามด้วยเช่นกัน หรือถ้าเวียดนามจะรวยกว่าเราสักหน่อยก็ได้ ไม่ว่ากัน แต่เราต้องมีเพื่อนบ้านที่รวยพอ ๆ กัน และทำธุรกิจต่าง ๆ ร่วมกัน”

Technology Disruption ทำไมปั่นป่วนสูง?

สำหรับยุคแห่ง Technology Disruption ในมุมของนายธีรนันท์ ศรีหงส์ นั้น มองว่า เป็นอีกเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากธุรกิจไทยยังไม่พร้อมสำหรับรับการมาถึงของยุคดังกล่าวได้ โดยสิ่งที่ภาคธุรกิจไทยมีความโดดเด่นคือ ตระหนักดีถึงการเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่รู้ว่าตนเองจะปรับตัวอย่างไร

นอกจากนั้น ในระดับพนักงานไอทีกลับพบว่าขาดความสามารถในการสื่อสารเนื้อหาใจความของเทคโนโลยีให้เป็นเรื่องเข้าใจง่าย ส่วนในฟากผู้บริหารนั้นก็ขาดความรู้ความเข้าใจด้านไอทีเป็นจำนวนไม่น้อย เหล่านี้จึงทำให้สถานการณ์ในประเทศไทยเป็นเรื่องน่าห่วง

โดยในมุมของ TMA เผยว่า ได้แบ่งความปั่นป่วนแห่งยุค Disruption เอาไว้ 3 ส่วน ได้แก่ ด้านของดิจิทัล, ด้าน Physical Science และด้าน Biological เช่น การตัดแต่งพันธุกรรม ตัดยีนที่ทำให้เกิดโรคออกไปเพื่อให้มนุษย์หายจากโรคร้ายและมีชีวิตยืนยาวมากขึ้น

แต่เนื่องจากการ Disruption ในทั้ง 3 หัวข้อนี้บางครั้งก็ทำงานร่วมกัน เช่น ด้านดิจิทัลบวกกับด้าน Biological  หรือดิจิทัลบวกกับ Physical Science และนั่นคือเหตุผลที่การ Disruption ถึงได้เกิดอย่างรุนแรงเช่นทุกวันนี้ดังนั้น การจะรับมือบนแนวทางเดิม ๆ จึงไม่อาจทำได้อีกต่อไป

TMA จะทำอย่างไรในการผลักดันองค์กรไทยให้สามารถรับมือกับ Disruption นี้ได้

JA2 9126

นายธีรนันท์เผยว่า จะมีการดึงสถาบันวิชาการต่างประเทศที่มีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ เข้ามาช่วย เช่น การร่วมมือกับ International Institute for Management Development (IMD) รวมถึงการมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งและความพร้อมของการพัฒนาผู้บริหารในอนาคต ซึ่งจะมุ่งเป้าหมาย 3 เรื่องหลักๆ คือ

  • การสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดความร่วมมือในกลุ่มผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชน
  • การบริหารจัดการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ดิจิทัล
  • การพัฒนาความเป็นผู้นำ

อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงภาคส่วนที่น่ากังวลว่าจะปรับตัวต่อการ Disruption ไม่ทันนั้น นายธรรมศักดิ์ จิตติมาพร รองประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวให้สัมภาษณ์ว่าเป็นภาคการเกษตร เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับการดูแลน้อยเกินไป และเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ อีกทั้งขาดเงินทุนในการทำเกษตรด้วย แต่ในระยะหลัง เริ่มเห็นเทรนด์ของลูกหลานเกษตรกรละทิ้งหน้าที่การงานในเมืองใหญ่ กลับไปทำนาทำสวนที่บ้านเกิดกันมากขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าคนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตรของประเทศไทยได้ในอนาคต

“เป้าหมายปลายทางที่เราต้องการเห็น คือ ภาคธุรกิจของประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง หน้าที่ของ TMA จึงเน้นกิจกรรมพัฒนาความเป็นผู้นำ สร้างทักษะ ความรู้ความสามารถที่จะเอาไปใช้จริงในการทำงาน ซึ่งเรากำลังพัฒนาหลักสูตรสร้าง Leaders of the Future ร่วมกับสถาบันชั้นนำของโลกหลายแห่ง เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันด้วย” นายธีรนันท์กล่าวสรุปทิ้งท้าย

Avatar photo