Economics

มาแล้ว! ‘มังคุดทั่วไทย’ ประเดิม ‘ตึกเอนเนอร์ยี่ฯ’ ก่อนลงปั๊ม 4 จังหวัด

รถบรรทุกมังคุด 13 ตัน หรือ 13,000 กก.จากหลังสวน จังหวัดชุมพร กำลังมาถึงตึกเอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ถนนวิภาวดีรังสิต ในเวลา 05.00 น.ของวันพรุ่งนี้ (8 ส.ค.) พรีออเดอร์ล่าสุดก่อนรถจะมาถึงทะยานขึ้นไป 800-900 กก.แล้ว คาดว่าคงจะมีการตีรถเปล่ากลับหลังสวน หลังได้รับเสียงเรียกร้องจากผู้บริโภคเมืองกรุง

906976วิทูรวิทย์ ปิยะณัตติ์พูล เจ้าของปั๊มหลายแห่งในอำเภอหลังสวน แกนนำสมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย โตโผใหญ่ บอกว่า หลังสวนแหล่งปลูกมังคุดใหญ่ของประเทศ ประสบปัญหามังคุดล้นตลาด และราคาตกต่ำไม่แพ้ที่อื่น รวมแล้วผลผลิตในปีนี้ทั้งของอำเภอหลังสวน และพะโต๊ะ ไม่เบา 48,000 ตัน

เราเลยคิดว่า เมื่อมีเครือข่ายปั๊มน้ำมันทั่วประเทศในสมาคมฯ 800 ราย รวม 1,000 กว่าปั๊ม 60% ของปั๊มน้ำมันปตท.ที่มีอยู่ 1,800 แห่ง เลยจับมือกันร่วมกับเครือข่ายเพื่อนๆ หาตลาดในกรุงเทพ แหล่งบริโภคมังคุดที่สำคัญ

โดยนำมังคุดจากหลังสวนตรงมาถึงมือผู้บริโภคให้ได้ แล้วเราก็ประสานจนได้พื้นที่อาคารเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ถนนวิภาวดีรังสิต ประเดิมรถบรรทุก 6 ล้อจากหลังสวนกับมังคุดเต็มคันรถมาเปิดตลาดวันที่ 8 สิงหาคมนี้วันเดียว หลังจากข่าวถูกกระจายออกไปได้ไม่นาน ก็ได้รับการเรียกร้องจากสมาชิกเจ้าของปั๊มต้องการช่วยชาวสวนเช่นเดียวกัน นำมังคุดไปลงที่ปั๊มที่สระบุรี กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา และน่าจะมีออเดอร์อีกหลังจากนี้

แต่การช่วยชาวสวนครั้งนี้ วิทูรวิทย์ ไม่ได้ช่วยแค่ไปรับซื้อราคาถูกแล้วมากระจายให้คนกินเหมือนที่รัฐบาลที่ผ่านๆมาทำแบบรูปหน้าปะจมูก พอให้ได้แค่ดูดซับเอาผลผลิตออกไป ส่วนพืชผลไม้ที่รับซื้อจะไปเน่าอยู่ข้างทางตรงไหนสุดแล้วแต่

สำหรับเขาต้องการทำสิ่งใหม่ที่ได้ผลกว่าเดิม โดยเปิดช่องทางการสื่อสารไปให้ถึงชาวสวน สวนไหนต้องการขายมังคุดมาติดต่อที่เขา หรือปั๊มน้ำมันในชุมพร เขารับซื้อราคา 15 บาท และลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันที่จะส่งผลผลิตให้ตามตกลง

906975โดยเขาทำกล่องอย่างดีขนาด 10 กก. ให้ค่าบรรจุกล่องอีก 1 บาทต่อกก. ค่ากล่องจนถึงค่าขนส่งปลายทางเขารับภาระไป  แล้วกระจายไปยังคนซื้อตามปั๊มต่างๆ แต่แน่นอนต้องไปในพื้นที่อยู่นอกชุมพร หรือนอกแหล่งปลูก อย่าง 5 จังหวัดที่เราจะนำมังคุดไปถึงผู้บริโภคที่มีความต้องการสูง

“ไม่ใช่เปิดปั๊มในชุมพรให้ชาวสวนมาขาย คนซื้อน้อย ก็ไม่ได้ผลอะไร  เพราะเขาชินกับมังคุดราคาถูกมากๆ สู้ไปขายในพื้นที่ที่เขาอยากจะกินจะดีกว่า” 

วิทูรวิทย์ เลยขอเชิญชวนชาวสวน จับมือกันนำผลผลิตเข้ามาคนละ 3-4 ตัน รวม 12-13 ตัน ขนส่งได้ 1 คันรถพอดี แล้วมาเอ็มโอยูกับเรา เพื่อให้มีผลผลิตแน่นอน แล้วจะรับไปขายให้ถึงผู้บริโภค แจ้งล่วงหน้าไม่ถึงอาทิตย์ก็พอ และจะรับถึงหน้าสวนเลยทีเดียว

และแน่นอนว่า หากวันดีคืนดีเกิด ชาวสวนขายมังคุดได้มากกว่า 15 บาทต่อกก. วิทูรวิทย์ ถือว่าภารกิจนี้ก็ถือว่า ” mission Complete “ อาจไม่จำเป็นต้องทำต่อ แต่เขามองว่า โครงสร้างการทำงาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรยามผลผลิตล้นตลาด ต้องทำให้ถูกทาง ทำอย่างไรให้ผลผลิตที่ล้นนั้น ไปถึงมือผู้บริโภคด้วย ไม่ใช่คิดแต่รับซื้อให้ผลผลิตออกจากตลาดไปเท่านั้น

ส่วนข้อกังวลว่า จะไปตีตลาดพ่อค้าแม่ขายมังคุดอยู่แล้วนั้นเขา ย้ำว่าไม่ต้องเป็นห่วง เพราะราคาที่เขารับไปขายก็จะเท่าๆกับที่ขายกันในท้องตลาด 30-35 บาทต่อกก.หรือ 3 กก. 100 บาท กล่องขนาด 10 กก.ก็ 300 บาท และเป็นมังคุดตกเกรดที่ไม่สามารถส่งออกได้

สำหรับคุณภาพไม่ต้องเป็นห่วง จะมีการคัดลูกเขียวอมแดง ขนส่งจากชุมพรไปถึงจังหวัดต่างๆต้องไม่เกิน 2-3 วันถึงผู้บริโภค เป็นมังคุดสีแดงอมดำ พอดีรับประทาน

การันตรีถึงขั้นหากกล่องไหนไม่ดี ให้วางทิ้งไว้ได้เลย เขาจะนำของใหม่ไปเปลี่ยนให้ “เราก็ต้องการให้ของมีคุณภาพไปถึงมือผู้บริโภค และการันตรีชาวสวนไม่เกิน 2 วันเมื่อถึงปลายทาง ชาวสวนก็ได้เงินแล้ว ”

18556525 1858654727688472 3875773109483243499 o ใหม่ถ้ารถขายมังคุดจากหลังสวนคันแรก มาถึงตึกเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ เกิดขายดิบขายดีหมดเกลี้ยง เขาจะเดินหน้าทำต่อ นอกจากปั๊มใน 4 จังหวัดที่มีออเดอร์แล้ว ก็จะส่งไปยังปั๊มทั่วประเทศผ่านเครือข่ายสมาชิกตาม ”โครงการมังคุดทั่วไทย” ที่วางไว้ และหากเราทำได้ ปั๊มทุกปั๊มปตท.ก็ทำได้เช่นเดียวกัน

“ที่เราทำ ต้องการเพียงให้ชาวสวนมังคุด ขายมังคุดในราคาที่อยู่ได้ คือต้องไม่ต่ำกว่า 15 บาทต่อกก.จากวันนี้ขายได้ต่ำกว่า 10 บาทต่อกก. เราซื้อมากๆเข้า เชื่อว่าจะดึงราคาให้ขึ้นไปได้เอง ไม่ใช่ไปรับซื้อราคาถูกๆ เพราะอย่างนั้นไม่ได้ช่วยชาวสวนจริงๆ แค่ไปดูดซับผลผลิตออกจากตลาดเท่านั้น ”

Avatar photo