COLUMNISTS

ตามดู ‘สนธิรัตน์’ ‘#พลังงานของทุกคน’ จริงหรือ

Avatar photo
1087

หลายวันก่อน “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” (ERS) นำโดยขาใหญ่คนสำคัญในวงการพลังงานอย่าง “ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” และผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงานหลายท่าน อาทิ คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต มาพบ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอแนะนโยบายพลังงาน 6 ประเด็น

123827

  • การปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น
  • สำรวจ พัฒนา และจัดหาแหล่งพลังงานในประเทศ ลดการนำเข้า  สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
  • ลดการแทรกแซง และแสวงหาผลประโยชน์ในกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้นเพื่อสร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาล
  • ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด
  • เพิ่มการแข่งขัน และประสิทธิภาพในธุรกิจพลังงาน
  • กระบวนการกำหนดนโยบายให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปด้านพลังงาน และเพิ่มบทบาทภาคประชาสังคม

งานนี้นายสนธิรัตน์ ได้แต่รับฟังข้อเสนอ ไม่ say yes! ประการใด มีเพียงเรื่องการตั้งคณะกรรมการภาคประชาสังคม เพื่อปฏิรูปเท่านั้นที่เขาเห็นด้วย

ส่วนเรื่องอื่นยัง ” ไม่ตกปากรับคำ” เสียทีเดียว เพราะบางเรื่องอาจขัดกับทิศทางที่เขาจะก้าวเดินไป

IMG 9221

เพราะนโยบายที่เขาย้ำหนักย้ำหนา มีเรื่องหลักในตอนนี้ เรื่องอันดับหนึ่งของเขา คือ Energy for All  หรือ “พลังงานของทุกคน” ที่ถึงขั้นต้องขอติด “แฮชแท็ก” คำนี้ “เขาจอง” 

และตอนนี้กำลังปรับจูนผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ให้มองต่ำลง เพื่อให้พลังงานเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีก้าวหน้าไปเร็ว ผู้ใช้ และผู้ผลิตกลายเป็นคนเดียวกันไปเสียแล้ว ที่เรียกว่า “prosumer”

สิ่งที่เขาย้ำ น่าสนใจว่า “อยากเห็นพลังงานไปกระตุ้นเศรษฐกิจไปถึงระดับชุมชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่มองแค่หุ้นพลังงาน ” ขอให้เป็นอย่างนั้นจริง สาธุ!!

3 เดือนแรกนี้ สิ่งที่เขาจะเร่งทำ จึงมุ่งไปที่การปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018 ) ให้เสร็จสม มุ่งเน้นให้พลังงานทดแทนไปสู่ชาวบ้าน และชุมชน ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของพลังงาน หรือที่เรียกว่า “ไฟฟ้าชุมชน” ไม่ว่าจะเป็นในรูป โซลาร์รูฟท็อป โซลาร์ฟาร์ม หรือ ไบโอแก๊ส

S 10657949

โมเดลที่เขาวางไว้ คือ การทำให้ชุมชนร่วมลงทุนด้วยกัน ผลิตไฟฟ้าชุมชนใช้กันเอง ส่วนเกินขายเข้าระบบ รายได้กลับชุมชน เป็นลักษณะเอสเอ็มอี  ไม่ใช่ให้รายใหญ่เป็นเจ้าของพลังงานเท่านั้น โดยมีกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่มีเงินไม่ใช่น้อย 10,000 กว่าล้านบาทเป็นกลไกในการขับเคลื่อน และจะไม่ใช่แค่ไฟฟ้าชุมชน แต่ต้องหมายร่วมถึงเชื้อเพลิงชุมชนด้วย เขาบอกอย่างนั้น

อีกการบ้านของเขาที่มอบให้การไฟฟ้าไปทำ ก็คือ ให้ mapping สายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศ ให้รู้ว่าตรงไหนเต็ม ตรงไหนมีกำลังเหลือ ที่จะรับพลังงานจากชุมชนได้บ้าง 

เรื่องที่สอง ที่เขาจะส่งเสริมไปพร้อมกันให้เป็นรูปธรรม ก็คือ การค้นคว้าวิจัย เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เข้ามา โดยเฉพาะ Modernization Grid ,Small Grid , Energy Storage รองรับไฟฟ้าชุมชนให้เกิดขึ้นได้จริง และรองรับการเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าอาเซียนในอนาคต

เรื่องที่สาม ปาล์มน้ำมัน นายสนธิรัตน์ สนใจมากมาย พูดถึงตั้งแต่วันแรกที่มารับตำแหน่ง  ในฐานะที่สัมผัสเมื่อครั้งอยู่กระทรวงพาณิชย์มาก่อน และเรื่องนี้ก็เห็นๆอยู่ว่าเรื้อรังมาหลายสิบปี ปัญหาวนเวียน ราคาขึ้น ราคาลง แล้วก็ล้นตลาด แล้วก็ผลักมาให้พลังงาน ให้ดูดซับเป็นเชื้อเพลิง เผาได้เผา เร็วดี!!

สนธิรัตน์ มองภาพใหญ่ว่า ไทยเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายเล็กมากไม่ถึง 10% ของกำลังผลิตของโลก ขณะที่อินโดนิเซีย และมาเลเซีย ผลิต 90% ดังนั้นการแก้ปัญหาปาล์มของต้องโฟกัสมาที่การใช้ภายในประเทศ

โดยการนำมาใช้เป็นพลังงาน  “พลังงานบนดิน” อีกแฮชแท็ก ของเขา เพื่อส่งเสริมการใช้ดีเซล บี 10 ให้เป็นน้ำมันพื้นฐานโดยเร็ว และส่งเสริมการใช้ดีเซล บี 20 ในรถใหญ่ และยุคเขา ปฏิเสธที่จะนำซีพีโอไปเผา อย่างที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนก่อนมีนโยบายออกมา เพราะต้นทุนสูง และสนธิรัตน์ มองว่า เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ยั่งยืน

และเรื่องที่สี่ ก็คือ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าอาเซียน ให้ไทยเป็นเทรดเดอร์ใหญ่ของอาเซียน เพราะทำเลที่ตั้งอันได้เปรียบของไทย และเขามองว่ากำลังผลิตของเรามีมากพอ ยกเว้นในบางพื้นที่เช่นภาคใต้  เสริมกับสปป.ลาวที่เป็นแบตเตอรี่ของอาเซียนอยู่แล้ว ผนวกด้วยการส่งเสริมธุรกิจพลังงานของไทย ให้ไปดำเนินการในประเทศเพื่อนบ้าน นโยบายนี้ “วิน วิน “

ก็ต้องตามดูกันต่อไปว่ายุคนี้พลังงาน จะเป็นของคนทุกคนจริงหรือ ถ้าจริงก็ “อยู่ยาว”