Economics

รายได้ครึ่งแรกปี 62 ‘ไออาร์พีซี’ ต่ำฮวบ 11%

รายได้ครึ่งแรกปี 62 ” ไออาร์พีซี ” ต่ำฮวบ 11% เหตุราคาขายเฉลี่ยลด เหตุ 3 ปัจจัย สงครามการค้า-กำลังผลิตล้น-น้ำมันดิบสหรัฐไหลออกตลาด ปักเป้านวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ชู HDPE รับโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ กฟผ.

IRPC CEO นพดลนายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าสำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2562 เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2561 ไออาร์พีซี มีรายได้จากการขายสุทธิ จำนวน 111,976 ล้านบาท ลดลง 11%

สาเหตุหลักเกิดจากราคาขายเฉลี่ยลดลงตามราคาน้ำมันดิบ โดยอัตราการกลั่นน้ำมันอยู่ที่ 203,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 8,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากโรงงานอาร์ดีซีซีหยุดผลิตเป็นเวลา 28 วัน ในไตรมาส 1 และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) จำนวน 10,387 ล้านบาท หรือ 8.90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 39%

เนื่องจากส่วนต่างราคาปิโตรเลียม และปิโตรเคมีปรับตัวลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นผลกระทบจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนที่ยืดเยื้อ 2.การเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตใหม่ในภูมิภาค และ 3.อัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ส่วนกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิรวม 1,211 ล้านบาท ลดลง 1,208 ล้านบาท ส่งผลให้ กำไรขั้นต้นจากการผลิตตามบัญชี (Accounting GIM) มีจำนวน 11,598 ล้านบาท  หรือ 9.94 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) ลดลง 40%

นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายในรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ส่งผลให้มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA)  อยู่ที่ 4,659 ล้านบาท ลดลง 63%

อย่างไรก็ตามไออาร์พีซีมีต้นทุนทางการเงินลดลง และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีกำไรสุทธิจำนวน 660 ล้านบาท ลดลง 90 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

โรงงานไออาร์พีซีนายนพดล กล่าวต่อว่า บริษัทคำนึงถึงการสร้างเสถียรภาพทางการเงิน โดยได้ออกมาตรการ เพื่อรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก บริหารสภาพคล่องของธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้เหมาะสม โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2562 มีเงินสด คงเหลืออยู่ที่ 1,915 ล้านบาท และมีงบลงทุนที่มีแผนการดำเนินงานชัดเจน (committed) จำนวน 71,043 ล้านบาท

สำหรับผลประกอบการเฉพาะไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2562 ไออาร์พีซีมีรายได้จากการขาย 57,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาขาย 4 % และปริมาณขายเพิ่มขึ้น 2 % มี Market GIM 5,429 ล้านบาท หรือ 9.11 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 10 % จากปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น

ส่วนกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิรวม 491 ล้านบาท (ส่วนใหญ่จากการบริหารความเสี่ยงน้ำมัน Oil Hedging) ลดลง 229 ล้านบาท เนื่องจากบันทึกค่าเผื่อการลดลงของสินค้าคงเหลือ (LCM) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้Accounting GIM มีจำนวน 5,920 ล้านบาท หรือ 9.94 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) เพิ่มขึ้น 4 %

สำหรับกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2562 มีจำนวน 507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 231% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1

นายนพดล ระบุว่า บริษัทได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน โครงการ E4E หรือ EVEREST Forever เป็นการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการ EVEREST และดำเนินโครงการ IRPC 4.0 เป็นการบูรณาการระบบดิจิทัล และนำนวัตกรรมทันสมัยต่างๆ มาใช้ในทุกขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในอนาคต ไออาร์พีซีเน้นการเดินหน้าด้านการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty Grade) ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ด้วยการพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกชนิด โพลีเอทิลีนที่มีความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene : HDPE) เกรดพิเศษ P301GR  ซึ่งเหมาะสำหรับการผลิตทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ ที่ช่วยลดอุณหภูมิใต้แผงโซลาร์เซลล์ ส่งผลให้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้า มีประสิทธิภาพ โครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนของประเทศ

โดยล่าสุดได้ลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ขนาด 12.5 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้า เพื่อใช้ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จังหวัดระยอง คาดว่าจะสามารถติดตั้งและดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2563 ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และยังเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมเม็ดพลาสติกของไออาร์พีซี

ปัจจุบันพื้นที่ผิวน้ำในประเทศมีประมาณ 14,600 ตารางเมตร หรือประมาณ 9 ล้านไร่ คิดเป็น 3 % ของพื้นที่ประเทศ หากนำพื้นที่เหล่านี้มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพจะเกิดประโยชน์ โดยบริษัทได้มองถึงการต่อยอดในโครงการโซลาร์ลอยน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018) กำลังการผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ยังขยายโอกาสด้วยการเพิ่มทางเลือกในการใช้วัตถุดิบในการผลิตน้ำมัน โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับคู่ค้า โดยการใช้น้ำมันจากขยะพลาสติกแปรรูป 300,000 – 400,000 ลิตรต่อเดือน ที่ผ่านเทคโนโลยีทันสมัย “ไพโรไลซิส” ได้น้ำมันดิบ ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ลดปริมาณขยะได้ 560 ตันต่อเดือน ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจให้เป็นไปตามแผน รองรับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และนโยบายแก้ปัญหาการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

นายนพดล มองถึงแนวโน้มภาวะตลาดน้ำมันดิบในไตรมาส 3 ปีนี้ว่า ราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวในกรอบ 60 – 67 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความร่วมมือในการขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกออกไปอีก 9 เดือน สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2563 และสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ รวมถึงช่วงฤดูเฮอริเคนในสหรัฐที่อาจทำให้การผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตในอ่าวเม็กซิโกลดลง

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบจากกำลังการผลิตของสหรัฐ และการส่งออกน้ำมันดิบ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากโครงการท่อขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตเพอร์เมียนไปยังอ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นท่าส่งออกน้ำมันดิบหลักของประเทศ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

ส่วนแนวโน้มตลาดปิโตรเคมีในไตรมาส 3 ปี 2562 คาดว่าความต้องการเม็ดพลาสติกจะปรับตัวสูงขึ้นจากการยุติการเพิ่มมาตราการทางภาษีระหว่างสหรัฐ กับจีน หลังการประชุม G20 ในวันที่ 28-29 มิถุนายน 2562

ประกอบกับโรงกลั่น และปิโตรเคมีขนาดใหญ่ของสหรัฐในเท็กซัสเกิดไฟไหม้ซึ่งกระทบการผลิตผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์โดยตรง รวมถึงการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อลดผลกระทบของการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และภายในประเทศจีนเอง ก็มีการปรับตัว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า

อาทิเช่น การลดภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ผลิตจาก 16 % เหลือ 13 % และการเพิ่มงบประมาณรายจ่าย เป็นต้น ขณะที่ความต้องการผลิตภัณฑ์ลดลงในช่วงฤดูฝน รวมถึงกำลังการผลิต ที่จะเพิ่มขึ้นจากโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ในประเทศมาเลเซีย ที่จะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในช่วงปลายปี และประเด็นการเพิ่มมาตรการทางภาษีหลังจากสหรัฐกล่าวหาว่าจีน ยังไม่ได้ซื้อสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นตามที่สัญญาเป็นปัจจัยกดดันราคาผลิตภัณฑ์

Avatar photo