Finance

เปิดโผโบรกเกอร์ต่างชาติทิ้งหุ้นไทย!!

ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ตอนนี้ดัชนีปรับลดลงต่อเนื่องและยังไม่สามารถรู้ว่า ดัชนีที่ระดับแค่ไหนคือจุดต่ำสุดของรอบนี้ ปัจจัยนอกประเทศกดดันแม้ปัจจัยในประเทศ ทั้งเรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และปัญหาของสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐกับจีน ซึ่งจะค่อยๆ เห็นว่า ผลกระทบลุกลามต่อเนื่องไปอีก

แม้ว่าปัจจัยทางการเมืองในประเทศเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถต้านแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญทำให้หุ้นยังคงอยู่ในทิศทางขาลงไปอีกระยะหนึ่ง และยังไม่สามารถประเมินได้ว่า แรงขายของต่างชาติจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญได้ตอนไหน

จากการรวบรวมข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ยอดขายสุทธิของต่างชาติ ตั้งแต่ต้นปีปัจจุบันอยู่ที่ 1.68 แสนล้านบาท  ถ้าย้อนข้อมูลไปเมื่อ 10 ปีก่อน หรือ ตั้งแต่ปี 2551 พบว่า ต่างชาติขายสุทธิ

หุ้นไทยทั้งปีอยู่ที่ 1.62 แสนล้านบาท ขณะที่ในปี 2556 ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอยู่ที่ 1.93 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นปีที่ขายมากสุดในรอบ 10 ปี  และหากข้อมูลสถิติสามารถใช้เป็นสัญญาณได้ในอนาคต แสดงว่า ต่างชาติอาจจะยังมีโอกาสเทขายหุ้นไทยออกได้อีก

หากสำรวจการขายหุ้นของต่างชาติในรอบครึ่งแรกของปี 2561 พบว่ามีการขายหุ้นผ่านบริษัทหลักทรัพย์(บล.)ต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบล.ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) CLSA มียอดขายสุทธิสูงสุดอยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท รองลงมา บล.ยูบีเอส (ประเทศไทย) UBS มียอดขายสุทธิ 2.89 หมื่นล้านบาท บล.เจพีมอร์แกน(ประเทศไทย) JPM มียอดขายสุทธิอยู่ที่ 2.62 หมื่นล้านบาท บล.โนมูระพัฒนสิน(CNS) มียอดขายสุทธิอยู่ที่1.03 หมื่นล้านบาท และบล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) RHBS มียอดขายสุทธิ 8.9 พันล้านบาท เป็นต้น

นอกจากนี้หากนำมาเปรียบเทียบกับมูลค่าการซื้อขายเฉพาะในไตรมาส2 ปี2561 พบว่า บล.ซี แอล เอส เอ  มียอดขายสุทธิอยู่ที่ 3.27 หมื่นล้านบาท บล.ยูบีเอส (ประเทศไทย) ขายสุทธิ 5.82 พันล้านบาท บล.เจพีมอร์แกน ขายสุทธิ 1.24 หมื่นล้านบาท บล.โนมูระพัฒนสิน ขายสุทธิ 1.03 หมื่นล้านบาท และบล.อาร์เอชบี มียอดซื้อสุทธิ 36.03 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลดังกล่าวจะพบว่า บล.ต่างชาติส่วนใหญ่จะเทขายหุ้นจำนวนมากในช่วงไตรมาส 2 ปี 2561

การซื้อขายของต่างชาติตลาดหุ้นไทยรอบ 10 ปี

ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว ผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ ว่า ขณะนี้ยอมรับว่า บล.ซี แอล เอส เอ ได้เทขายหุ้นไทยออกมาจำนวนมาก โดยเฉพาะการขายหุ้นในวันที่ 19 มิถุนายน 2561 รายงานขายกว่า 2 พันกว่าล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการทำรายการขายที่สูงมากภายในวันเดียว และไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก ขณะที่เงินต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทยในรอบนี้ถือว่าสูงหากเทียบกับช่วง 8 – 9 ปีที่ผ่านมามีเงินไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียมาโดยตลอด และตอนนี้ถึงเวลาที่จะต้องดึงเงินกลับไปหาผลตอบแทนในตลาดที่น่าสนใจมากกว่า โดยเฉพาะตลาดหุ้นเทคโนโลยีที่น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต เพราะเป็นเทรนด์ของโลกยุคดิจิทัล

ส่วนสาเหตุการขายของต่างชาติรอบนี้ เกิดจากแนวโน้มดอกเบี้ยของสหรัฐ จะปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ความกังวลต่อปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ทำให้มีการดึงเงินกลับออกไป เพื่อรอดูความเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งโดยส่วนตัวประเมินว่า สงครามการค้าอาจจะมีการตอบโต้กันต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าจะไม่รุนแรงมากเกินไป

แนวโน้มแรงขายของต่างชาติ น่าจะยังคงมีอีก เพราะปัจจุบันต่างชาติ ยังคงมีสัดส่วนการถือหุ้นในกลุ่มปตท.อยู่พอสมควร และสามารถขายทำกำไรได้อีก ซึ่งดัชนีอาจจะปรับลดลงไปที่ 1,600 จุดได้ และมีโอกาสจะปรับตัวขึ้นได้เช่นกัน เนื่องจากปัจจัยทางการเมืองของไทยมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีความเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในปี 2562 ตลาดหุ้นก็น่าจะกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง”

นอกจากนี้ประเมินว่า นับจากนีไปดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับขึ้นไป 100 จุดได้มากกว่า ปรับลดลงมาอีก 100 จุด ซึ่งสภาพตลาดหุ้นไทยในตอนนี้เหมาะกับนักลงทุนระยะกลางถึงระยะยาวมากกว่านักลงทุนระยะสั้น

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้  ระบุว่า กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ ฝ่ายวิจัยแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นในช่วง 1-2 เดือนนี้ แม้ยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างประเทศ หลัก ๆ จากสงครามการค้า, แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในทางที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางต่างประเทศในระยะข้างหน้า และกระแสเงินทุนต่างประเทศไหลออก แต่ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศแข็งแกร่งและโอกาสเกิดการเลือกตั้งภายในไตรมาส 2  ปีหน้า น่าจะเริ่มทำให้หุ้นไทยฉีกตัวออกจากอิทธิพลหุ้นต่างประเทศได้มากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ฝ่ายวิจัยยังคงมุมมองพอร์ตลงทุนหาจังหวะทยอยสะสมในช่วงตลาดอ่อนตัว 1-2  เดือนนี้ ประเด็นหุ้นน่าลงทุนในครึ่งปีหลัง เน้นหุ้นอิงเศรษฐกิจในประเทศที่ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งและวงจรการลงทุนรอบใหม่ ฝ่ายวิจัยแนะนำในกลุ่มรับเหมาได้แก่ หุ้น CK, SEAFCO กลุ่มนิคมฯเลือก หุ้น ROJNA กลุ่มแบงก์ ประกอบด้วย หุ้น BAY, BBL, KBANK กลุ่มค้าปลีก เลือกหุ้นCPALL, BJC, COM7, HMPRO และกลุ่มอื่นๆ เช่น หุ้นAEONTS, BTS, PLANB

ส่วนหุ้นน่าสนใจในช่วงครึ่งหลังเดือน มิถุนายน มีดังนี้หุ้นที่คาดว่างบไตรมาส 2 ออกมาดีจากการคาดการณ์เบื้องต้นจประกอบด้วย หุ้นBANPU, BCH, BEM, CMAN, JWD, LPN, PLANB, PSL, QH, SEAFCO, SC, TPIPP, UTP และหุ้นที่ได้รับเข้าคำนวณในดัชนี SET50 และ SET 100  เช่น หุ้น BGRIM, RATCH, TOA และ ERW, PRM, RS, THANI ขณะที่ หุ้นเข้าข่าย มีโอกาสทำWindow Dressing ประกอบด้วย หุ้นCPN, ERW, GLOBAL, GLOW, MBK, QH, VGI รวมถึงหุ้นที่รับอานิสงส์จากเทศกาลฟุตบอลโลก เช่น หุ้นBJC, HMPRO, TRUE

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight