Economics

‘คมนาคม’ กำชับโครงการรถไฟฟ้าต้องเหลือ ‘ฟุตบาท’ 1.5 เมตร ให้คนเดินสะดวก

“ปลัดคมนาคม” กำชับโครงการรถไฟฟ้า ต้องมีพื้นที่ “ฟุตบาท” อย่างน้อย 1.5 เมตร ให้คนเดินเท้าได้สะดวก ด้านรถไฟฟ้าเขียวใต้ “แบริ่ง-สมุทรปราการ” ยอดผู้โดยสารล่าสุด 7 หมื่นคนต่อวัน

2MOT 2562 08 05 ปกค.ประชุมคกก.MOU รฟฟ.สีเขียว by PP 45

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ โครงการรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (ส่วนต่อขยายทางทิศเหนือ) ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และ (ส่วนต่อขยายทางทิศใต้) ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ วันนี้ (5 ส.ค.) ว่า

ที่ประชุมฯ ได้ติดตามผลการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยายทางทิศใต้) ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการเดินรถต่อเนื่อง โดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีสำโรง ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่ามีสถิติผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 70,000 คนต่อวัน

S 85680146

นอกจากนี้ ติดตามความพร้อมการเปิดเดินรถ (ส่วนต่อขยายทางทิศเหนือ) ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต จะเปิดให้บริการจากสถานีหมอชิตถึงสถานีห้าแยกลาดพร้าว จำนวน 1 สถานี โดยไม่คิดค่าโดยสาร ในวันที่ 9 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนและบรรเทาปัญหาการจราจร

ที่ประชุมฯ ยังพิจารณาร่างบันทึกข้อตกลงว่าด้วย การจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้ กทม. (เพิ่มเติม ฉบับที่ 1) เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงฯ ว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ ที่ว่าเมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จ รฟม. และ กทม. จะจัดทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมอีกฉบับเพื่อปรับปรุงรายละเอียดของรายการทรัพย์สินโครงการฯ รายการที่ดิน รายการภาระทางการเงิน รายการบัญชีคดีความ และรายการภาระผูกพันกับหน่วยงานอื่น

S 30376360

กำชับ ‘ทางเท้า’ ต้องเดินสะดวก

นายชัยวัฒน์ยังมอบให้ที่ประชุมฯ ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้โดยสารเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการบริการต่อไป และได้สั่งการเน้นย้ำว่า โครงการรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วและกำลังจะเปิดให้บริการจะต้องมีพื้นที่ทางเท้ากว้างอย่างน้อย 1.5 เมตร ไม่มีสิ่งบุกรุก กีดขวาง เพื่อให้ผู้คนที่เดินเท้าสามารถสัญจรได้เต็มที่

พร้อมทั้งให้เข้มงวดมาตรการรักษาความปลอดภัยในการให้บริการระบบรถไฟฟ้าทั้งภายในสถานีรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า และบริเวณรอบพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า รวมถึงศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าอาคารและลานจอดรถทุกแห่ง

S 85680145

นอกจากนี้ติดตามการดำเนินงานตามข้อสั่งการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการกำหนดมาตรฐานในการให้บริการระบบขนส่งทางราง ทั้งในด้านความปลอดภัย การอำนวยความสะดวก และด้านอื่น ๆ และแนวทางการบูรณาการให้การบริการระบบขนส่งทางรางร่วมกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น รวมถึงการจัดทำโครงการพัฒนาที่ดินของ รฟม. ที่ได้จากการเวนคืนให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่บริเวณอาคารจอดแล้วจร (Park&Ride) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

Avatar photo