COLUMNISTS

วาระด่วน ‘ครม.เศรษฐกิจ’

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
1836

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล  รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ประจำ ดร.สมคิด จาตุรศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ออกมายืนยันทำนองว่า คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือ ครม.เศรษฐกิจ มีความจำเป็น  กับสถานะรัฐบาลผสม  ที่ไม่มีพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่งคุมงานด้านเศรษฐกิจจึงยากต่อการประสานงาน   และยังย้ำด้วยว่า ครม.เศรษฐกิจ มีความสำคัญมากกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับสงครามการค้าและเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว

กอบศักดิ์

คณะรัฐมนตรี เห็นชอบตั้ง ครม.เศรษฐกิจ ในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ มีรองนายกฯจาก 3 พรรค รัฐมนตรี  11 กระทรวง จาก 5 พรรค  ดร. กอบศักดิ์ นั่งเก้าอี้เลขาฯ ครม.เศรษฐกิจ และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)  ทำหน้าที่ผู้ช่วยเลขาฯ  มีวาระประชุมทุกวันจันทร์เพื่อกลั่นกรองนโยบายทางเศรษฐกิจ ก่อนเข้าสู่ ครม.ใหญ่ในวันอังคาร

โมเดล ครม.เศรษฐกิจ ที่พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ และดร.สมคิด รองนายกฯ นำมาใช้ เพื่อสร้างกลไกสื่อสารระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันนั้นถอดแบบมาจาก ครม.เศรษฐกิจ ยุครัฐบาลเปรม (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี) ที่เคยนำมาใช้และได้ผลดี ทั้งในแง่ผลักดันนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเวลานั้น  การตรวจสอบความความเป็นไปได้  รวมถึงความโปร่งใสของโครงการ

ส่วนครม.เศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 จะประสบความสำเร็จมากหรือ น้อยแค่ไหนนั้น  ปัจจัยสำคัญลำดับแรกคือ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ในฐานะ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ต้องทำให้ ครม.เศรษฐกิจ เป็นกลไกสื่อสาร ระหว่าง พรรคร่วมในประเด็นทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างจุดร่วม ทางนโยบายระหว่าง พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล  และเป็นช่องทางพิจารณานโยบายหรือโครงการที่เหมาะสมที่สุด ต่อการจัดการปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างแท้จริง ไม่ใช่กลายเป็นเวทีแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการเมือง ผ่านการสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนโครงการที่เสนอเข้ามาให้พิจารณา

ส่วนวาระด่วนที่สุด ของครม.เศรษฐกิจ คือ ปัญหาปากท้อง ดังผลโพลจากหลายสำนักที่สำรวจความคาดหวังของประชาชนต่อรัฐบาลใหม่พบว่า  ความต้องการลำดับแรก อยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และดูแลความเป็นอยู่ แต่วาระที่จำเป็นต้องทำคือ  การผลักดันให้เกิด การปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่สามารถกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึง      

qww 1

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาแม้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโยบาย และมาตรการต่างๆ ทั้งการลงทุนเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศและดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนจนสามารถสร้างสถิติจีดีพีขยายตัวดีกว่าช่วงรัฐบาลก่อน   แต่ปัญหาหนึ่งที่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ยังหาคำอธิบายที่เหมาะสมไม่ได้คือ ทำไมจีดีพีโตแต่เงินไม่สะพัด หรือนัยหนึ่งคือการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านไปกระจุกตัวอยู่ในมือคนกลุ่มน้อย

อาการนี้หากปล่อยไว้ไม่เร่งเยียวยา  จะยิ่งถูกซ้ำเติมจากการเติบโตของยุคดิจิทัลที่จะยิ่งถ่างช่องว่างรายได้ระหว่างคนเมืองกับคนชนบท  จากความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยี  และการสร้างรายได้โดยอาศัยเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน

ดร.สมคิด รองนายกฯจาก พลังประชารัฐ พูดเรื่องเศรษฐกิจฐานราก และพยายามผลักดันให้ธุรกิจเอสเอ็มอีแจ้งเกิดเพื่อเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมานานมากแล้ว เช่นเดียวกับ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกฯจาก ประชาธิปัตย์ ที่หวังจะสร้างชื่อจากการแก้ปัญหาปากท้องของกลุ่มคนฐานราก คงจะมีแนวทางร่วมมือกัน เปลี่ยนทิศทางเศรษฐกิจเพิ่มโอกาสให้คนตัวเล็กมากขึ้น