General

รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ หมอผู้มีแรงบันดาลใจ

วันนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ ศัลยแพทย์หัวใจ และทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช แต่ไม่ได้ง่าย ที่จะฝ่าฟันมาจนถึงทุกวันนี้ หากไม่มีแรงจูงใจมากพอ

IMG 20190613 145656“Inspiration” อันแรงกล้าของหมอปรัญญา ไม่ใช่ใครอื่นไกล มาจากคุณพ่อ “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ปริญญา สากิยลักษณ์”  ศัลยแพทย์มือเอกของเมืองไทย และผู้ที่อุทิศตนเพื่อวงการแพทย์ ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

ขณะที่คุณแม่ที่เป็นพยาบาลในโรงพยาบาลเดียวกัน เล็กจนเติบใหญ่ หมอปรัญญาจึงวิ่งเล่นเข้าออกในโรงพยาบาลศิริราช เหมือนเป็นบ้านหลังที่ 2 ความฝันของเขา จึงไม่มีอาชีพอื่นใด นอกจาก “หมอศิริราช” และไม่เกินคาดหมาย เขาสอบเข้าเรียนแพทย์ ที่ศิริราชพยาบาลสำเร็จ และบรรจุเป็นอาจารย์ที่โรงพยาบาลศิริราช ในปี 2541 จากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และสอบได้ Diploma Am. Board of Surgery และ Diploma Am. Board of Thoracic Surgery ด้านศัลยศาสตร์ทั่วไป และศัลยศาสตร์ทรวงอก ของสหรัฐอเมริกา ในปี 2543 และ 2544 ตามลำดับ

11 ปี 8 เดือนที่ศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้ง่าย แต่ก็ไม่ยากสำหรับ หมอปรัญญา เพราะเขาเกิดที่นั้น ที่สุดหลังจบการศึกษาก็ได้รับข้อเสนอที่ดีในการเป็นแพทย์ที่สหรัฐ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลศิริราช

ด้วยเพราะเสียงที่ก้องอยู่ในใจ และภาพในอดีตที่เขาเคยวิ่งเล่นที่นี่ เมื่อเป็นนักศึกษาแพทย์ก็ได้เห็นศิริราช เป็นที่พักพิงของผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสจำนวนมาก

และแรงบันดาลใจที่ทรงพลังนั้น ทำให้เขาอยู่ในบันทึกประวัติสาขาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก โดยมีข้อความระบุว่า “นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ ได้กลับมาเพิ่มศักยภาพ และเทคนิคการผ่าตัด acquired heart disease (โรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลังไม่ได้มาแต่กำเนิด) ให้ก้าวหน้ามากขึ้น “

และเขายังเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จมากมายให้กับวงการแพทย์ รวมถึงเป็นผู้ผ่าตัดใส่หัวใจเทียมเป็นรายแรกของประเทศไทย

IMG 20190621 105726 1 2วันนี้ตารางผ่าตัดของหมอปรัญญา แน่นแทบทุกวัน แต่ยังมีความสุขเสมอ หมอ บอกว่า เขาเลือกที่จะอยู่ในสายศัลยศาสตร์หัวใจ และทรวงอกมาตลอดตั้งแต่ต้น เพราะสามารถ Action แก้ไขอาการให้คนไข้ได้อย่างฉับพลัน และทำให้เขาดีขึ้นได้ ความสุขของคนไข้และครอบครัว คือความสุขของเขา

แต่แน่นอนคนมีเกิดแก่เจ็บตาย เขา บอกว่า บางรายก็ช่วยชีวิตไม่ได้ และเสียชีวิตลงไป เพราะการผ่าตัดหัวใจมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้เสมอ แต่ทุกครั้ง คือ “ทำเต็มที่” และเขาจะเรียนรู้ทุกครั้ง ถึงวิธีป้องกัน และลดโอกาสเกิดข้อผิดพลาดทางเทคนิคให้ได้ในครั้งต่อไป เพื่อให้การตัดสินใจทุกครั้งถูกต้องเสมอ

เขาบอกว่าวิธีการคิด “ทางเทคนิค” ของเขาได้มาจากอาชีพนักบินที่มองเรื่อง safety คือหลักการสำคัญที่สุด

อีกหลักการที่หมอปรัญญา บอกว่าละเลยไม่ได้ ก็คือการพูดคุยกับคนไข้ และญาติให้มากที่สุด ให้เข้าใจในโรค กระบวนการรักษา และการผ่าตัด เพราะคนไข้บางรายมีความเสี่ยงสูง หลังผ่าตัดไปแล้ว มีโรคแทรกซ้อน ก็อาจเสียชีวิตได้ แต่หากผ่าแล้วมีโอกาสรอด เราก็ต้องทำ แต่ต้องอธิบายให้คนไข้และญาติเข้าใจทั้งหมด และให้เขาได้มีส่วนในการเลือกวิธีการรักษา เราไม่มีสิทธิไปบังคับ

“soft skill หรือ การพูดคุยกับผู้ป่วย รวมถึงวิธีการแจ้งข่าวร้ายต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญมากในปัจจุบัน ”

วันนี้หมอปรัญญา ผ่านคนไข้มาทุกระดับ ทั้งวีไอพี และดาราดัง เขา บอกว่า ไม่เคยเกร็ง เพราะรู้ว่าเราทำเต็มที่ รักษาคนไข้ทุกคนด้วยมาตรฐานเดียวกัน เพียงแต่หากเป็นคนสาธารณะ สังคมอยากรู้ นักข่าวอยากนำเสนอ เราก็ต้องอยู่ใต้ร่มศิริราช ที่จะมีกระบวนการแถลงต่อสื่อเป็นระยะๆ เพื่อเผยแพร่ให้สังคมรับทราบ เช่น กรณีดาราศิลปิน “น้องน้ำตาล” หรือ หากดูแล้ว มีโอกาสฟ้องร้องกันสูง การเขียนบันทึกอย่างละเอียดของหมอในประวัติคนไข้ก็จะช่วยได้ทางหนึ่ง

ทักษะที่เขาเรียนรู้มานั้น ถูกถ่ายทอดไปสู่ลูกศิษย์ลูกหา นักเรียนแพทย์ทั้งหมด และอีกด้านหนึ่ง ที่เขาจะคอยย้ำกับนักเรียน ก็คือ ไม่ให้คิดว่าชีวิต มีแต่การเรียน หรือทำงานเพียงอย่างเดียว ต้องมีการพักผ่อน ต้องมีงานอดิเรก เพื่อไม่ให้ “เด็กเครียด” จนเกินไป

“ ที่ต้องคอยบอกอย่างนั้น เพราะเห็นนักเรียนมีภาวะเครียดมากขึ้นกว่าเดิม ต้องเรียนให้ได้คะแนนสูง ผมก็จะคอยบอกว่า การเรียนให้ได้คะแนนสูงสุด ไม่ได้แปลว่าจะไม่ประสบความสำเร็จในอนาคต ให้ดูอย่างตนเอง ที่ไม่ได้เป็นคนเรียนเก่งเลย เรียนไปด้วย ทำกิจกรรมไปด้วย แต่ก็มาถึงวันนี้ได้ ”

หมอปรัญญา เล่ามาถึงการทำงานในโรงพยาบาลทุกวันนี้ว่า ก็ถือว่าหนัก ตั้งแต่ 7.30-17.00 น. บางวันต้องผ่าตัดด่วน 2 รายต่อวันก็มี ถ้าไม่มีแรงบันดาลใจมากพอ ก็จะหาความสุขในการทำงานไม่ได้เลย

ดังนั้นสิ่งที่เราทำต้องแน่ใจว่า ทำแล้วมีความสุข หลายอย่างเป็นความสุข ดูหนัง ไปเที่ยว แต่สำหรับเขา ความสุข คือการช่วยเหลือคนที่กำลังเสียชีวิต จากที่เขาทุกข์ มาทำให้เขาและครอบครับมีความสุข นี่คือ “สุขของเรา”

เขา คิดอย่างนี้ได้เพราะ “ จิตวิญญาณศิริราช ” ที่ปลูกฝังเขามา และมีคุณหมออาวุโสที่เสียสละ และทุ่มเท ทำงานดึกๆดื่นๆมากมายรอบตัว เป็นไอดอลให้เขาก้าวเดินตาม และจิตวิญญานนี้ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน

“ ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเปนที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษเปนกิจที่หนึ่ง
ลาภทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพย์ไว้ให้บริสุทธิ์ ” คำสอนพระบิดา สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่เขาจดจำขึ้นใจไม่เคยลืม

การเป็นหมอที่ต้องแบกรับความหวังของคนไข้ และญาติเป็นแรงกดดันของคนเป็นหมอทุกคน หมอปรัญญา ฝากแง่คิดไว้ให้กับคนป่วย และยังไม่ได้ป่วย ว่า ให้ทุกคนมองเห็นสัจธรรมของโลกเป็นที่ตั้ง คือ “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” ที่ทุกคนต้องประสบพบเจอ แม้จะเจอหมอเก่งเพียงใด แต่ก็หนีไม่พ้นสัจธรรมของโลกในที่สุด เพียงแต่ทำอย่างไรให้ “เจ็บน้อยที่สุด”

“จริงๆคนจำนวนมากไม่ได้กลัวความตาย แต่กลัวความทรมาน” ซึ่งการ “ยื้อ” คือ ความทรมานที่สุด ดังนั้นการตั้งเป้าหมายที่จะรักษาเต็มที่ เพื่อสู้กับโรค อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด เราสู้กับโรคได้ แต่ต้องดูว่าสู้แล้วเป็นอย่างไรด้วย

เขายกตัวอย่างคนไข้ระยะสุดท้าย ที่พบเจอ แบบหนึ่งยื้อสุดทาง เจาะคอ ให้อาหารทางสายยาง ปั๊มหัวใจให้ฟื้นขึ้นมา เป็นต้น เขาจะมีชีวิตที่ทรมานยาวนาน ขณะที่คนไข้บางราย แจ้งความประสงค์ไว้ จะไม่ให้ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือปั๊มหัวใจ โดยที่ลูกๆยอมรับการตัดสินใจของพ่อแม่ที่ป่วย ทำให้ในช่วงเวลาที่เขาทรมานสั้นลง

แต่ก็เข้าใจได้ว่า “ เป็นเรื่องที่ทำใจได้ยากที่จะปล่อยให้คนในครอบครัวจากไป ” แต่ก็ต้องขอให้เข้าใจในสัจธรรมของโลก ว่าเราทุกคนต้องเจอกับภาวะ “มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย” กันทุกคน

Avatar photo