Opinions

‘แก้เหลื่อมล้ำ’ ค้ำโครงสร้างประเทศ

Avatar photo
1576

เนื้อหาในนโยบายของรัฐบาล ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถือได้ว่า ครอบคลุมทุกเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคม แม้ในนโยบายจะยังไม่กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนก็ตาม เมื่อพิจารณาดูแล้ว ผมก็รู้สึกสบายใจ

โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจ ที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า “รัฐบาลมุ่งมั่นจะพัฒนาประเทศ ให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง มีการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง แก้ปัญหาปากท้อง และสร้างรายได้ประชาชนให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลก็เห็นความสำคัญ และให้น้ำหนักกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งตรงกับที่ฝ่ายค้านอภิปรายในสภา แสดงความเป็นห่วงถึงความเหลื่อมล้ำของประเทศที่อยู่ในระดับสูง พร้อมทั้งเน้นย้ำว่ารัฐบาลต้องเร่งจัดการแก้ไข

ความเหลื่อมล้ำสำคัญอย่างไร ทำไมรัฐบาลจำเป็นต้องหยิบยกขึ้นมา เป็นนโยบายเร่งด่วนลำดับแรก

เพราะขณะนี้เป็นที่รับรู้และยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า ความเหลื่อมล้ำต้องเป็นปัญหาระดับชาติ โดยเฉพาะการกระจุกตัวของรายได้ส่วนใหญ่ไปอยู่ที่คนรวย ขณะที่คนมีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนมากของประเทศ กลับมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย เกิดเป็นหนี้สินครัวเรือนในระดับที่สูงมาก

หากรัฐบาลนิ่งเฉย สิ่งที่จะตามมาคือ ปัญหาสังคมจะรุนแรงขึ้น คุณภาพชีวิตจะแย่ลง ประชาชนจะประสบความทุกข์ยากมากขึ้น

เมื่อถามว่า ความเหลื่อมล้ำเกิดกับประเทศไทยประเทศเดียวใช่หรือไม่ คำตอบก็คือ เกิดขึ้นในหลายประเทศ และเกิดมานาน อีกทั้งยังมีอัตราเร่งเพิ่มขึ้นภายหลัง ปี 2523 ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา แต่ระดับของความเหลื่อมล้ำจะต่างกันไป ขึ้นอยู่กับโครงสร้างประเทศ โครงสร้างเศรษฐกิจ นโยบายรัฐบาลของแต่ละประเทศ

สำหรับผมมีความเห็นสอดคล้องกับนายกรัฐมนตรี และ รองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ว่า “การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในบ้านเมือง ไม่ใช่เรื่องง่าย” โดยเฉพาะปัญหาเรื้อรัง อย่างความเหลื่อมล้ำ ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ

ทั้งนี้ โครงสร้างการปกครองที่การบริหารของภาครัฐ กระจุกรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง ในเมืองหลวง รวมทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจ การศึกษา ระบบการเงิน การคลัง ไม่อาจทำให้ความเหลื่อมล้ำหมดไปได้ แต่ที่รัฐบาลสามารถทำได้ โดยผ่านนโยบายคือ ไม่ไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำ และในเวลาเดียวกัน ก็ต้องปรับโครงสร้างให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Growth) ไปพร้อมกับการกระจายอำนาจ กระจายรายได้ (Income Distribution) มากขึ้น

วันนี้ ประเทศไทยมีทรัพยากรจำกัด จำเป็นต้องกู้เงินจำนวนมากมาพัฒนาประเทศ ดังนั้นการใช้ทรัพยากร หรือการทุ่มจำนวนเงิน ไปพัฒนาพื้นที่ใด ต้องให้มั่นใจว่ามีความคุ้มค่า อย่างกรณี โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นโครงการที่ดีต่อผู้ลงทุน และเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ทรัพยากรของชาติก็ไม่ได้กระจายไปยังพื้นที่ในจังหวัดอื่นๆ เท่าที่ควร

การใช้ทฤษฎีขั้วการเติบโต (Growth Pole Theory) ที่เป็นเสาหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ แล้วเชื่อกันว่าจะทำให้ส่วนอื่นๆ ของประเทศดีตามไปด้วย อย่างที่ทำกันมาในอดีต ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเติบโตอยู่เพียงจุดเดียวเท่านั้น

ดังนั้น ในสภาวะที่โลกมีความไม่แน่นอน เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวลดลง และภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัดของไทย การดำเนินนโยบายของรัฐบาล ต้องศึกษาถึงผลดีและผลเสียอย่างรอบด้าน

การดันเศรษฐกิจให้ขยายตัว ยังคงต้องทำต่อไป แต่ต้องคำนึงถึงการกระจายอำนาจ การกระจายรายได้ให้มากขึ้น เพื่อให้ความเหลื่อมล้ำของประเทศที่มีสูง ลดลง ไม่ไปสร้างปัญหาสังคมและความมั่นคงของชาติ

หากรัฐบาลมุ่งมั่น ตั้งใจแก้ความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าจะประสบผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน